Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

‘สีลม-สามย่าน’ กำลังจะเปลี่ยนไป

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ว่ากันว่ารถไฟไปถึงที่ไหน ความเจริญและเศรษฐกิจคึกคักย่อมตามไปที่นั้น

Transit-Oriented Development: TOD คือการพัฒนาพื้นที่รอบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการพัฒนาเมื่องที่จะมีให้เห็นมากขึ้นในไทย

หากจะมีถนนสักเส้นนำร่องใช้ทฤษฎีนี้ พระรามสี่คือถนนเส้นที่เหมาะมากเส้นหนึ่งได้แก่ หัวลำโพง สามย่าน สีลม ลุมพินี และคลองเตย อีกทั้งยังมีบีทีเอส ศาลาแดงตั้งอยู่ ปัจจุบันเฉพาะบริเวณสีลมมีคนใช้ถึงสี่แสนคน เมื่อระบบรางที่กำลังก่อสร้างเชื่อมต่อคนทั้งฝั่งธนฯ และฝั่งพระนครเข้าด้วยกันโดยจะแล้วเสร็จในปี 2572 ทางสำนักงานจราจรและการขนส่ง กทม. (สนข.) คาดการณ์ว่าจะมีคนใช้พื้นที่นี้ถึง 1.2 ล้านคนต่อวัน

ระบบราง-พัฒนาเมือง

การลงทุนก่อสร้างระบบรางมีต้นทุนสูงลิบ ลำพังค่าโดยสารของผู้สัญจรไม่สามารถคืนทุนได้ในเร็ววัน แนวคิดของ TOD ที่ว่าด้วยการเพิ่มมูลค่าของพื้นที่โดยรอบเพื่อดึงดูดให้มาลงทุนจึงนิยมนำมาใช้ เพราะเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมจะดึงผู้คนจำนวนมากเข้ามาบริการ ส่งผลให้ย่านคึกคัก ถือว่าเป็น Win-win Situation ของทั้งระบบขนส่งและผู้ลงทุนโดยรอบ

เอกชนหลายรายเล็งเห็นศักยภาพสำคัญบนถนนแห่งนี้และเริ่มเข้าพัฒนาในพื้นที่กันบ้างแล้ว อย่างเช่น The One Bangkok บนทำเลโดดเด่นที่ดินสวนลุมไนท์พลาซ่า

จากการลงศึกษาพื้นที่เพื่อดูว่าหากจะพัฒนาย่านนี้ให้สอดคล้องกับ TOD มีอะไรที่ต้องทำอีกบ้าง

ปัญหาที่พบ ได้แก่ สภาพที่ไม่เอื้อต่อการเดิน ทั้งสภาพของทางเท้าและทางเดินที่ไร้ร่มเงา

การที่บริเวณพระรามสี่เต็มไปด้วยอาคารหน่วยงานของรัฐ มีรั้วรอบขอบชิดที่ไม่เชิญชวนให้คนมาปฏิสัมพันธ์ด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ต่างเสริมสร้างให้พระรามสี่เป็นเพียงทางผ่าน ไม่ดึงดูดให้คนจอดแวะ และเป็นพื้นที่ที่มีการใช้รถอย่างหนาแน่น เหล่านี้คือสิ่งที่ปิงเห็นว่าควรต้องคลี่คลายให้สำเร็จ

NEW CULTURE

เมื่อนำปัญหาของพื้นที่ในปัจจุบันมาวิเคราะห์ พบว่า หากต้องการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ในพื้นที่ หัวใจของงานอยู่ที่การผสานกิจกรรมเก่าและใหม่เข้าด้วยกันเพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้งาน

สรุปออกมาเป็นพื้นที่ 4 แบบ กับอีก 2 ภาพลักษณ์

Hangout Space พื้นที่สังสรรค์และพื้นที่พบปะ

Creative Space พื้นที่นั่งทำงาน

Exercise Space และ Greenspace ที่มาคู่กัน เพราะพื้นที่ออกกำลังกายมีทั้งรูปแบบสวนและในพื้นที่เมือง

ส่วน 2 ภาพลักษณ์ที่ต้องพัฒนาแบบควบคู่ ทั้งพื้นที่เดินทางได้อย่างสะดวกสบาย (Convenience Place) และมีเอกลักษณ์น่าจดจำ (Identity Place)

ตาม Conceptual Plan การปรับปรุงที่เกิดขึ้นนอกจากบนถนนพระรามสี่แล้วยังเปิดโอกาสเชื่อมต่อไปยังถนนภายในเส้นที่ติดกันด้วย โดยจากการศึกษาได้กำหนดแผนปรับปรุงพื้นที่ผ่านเครื่องมือ 5 องค์ประกอบซึ่งจะใช้แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ 

Street and Platform Area: เชื่อมต่อพื้นที่ให้เดินทางได้สะดวกและมองเห็นภาพรวมของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

Façade and Footpath: ปรับปรุงให้รองรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่

1st Floor and Podium: สร้างการรับรู้ถึงกิจกรรมในพื้นที่และเชื่อมต่อสู่พื้นที่ด้านนอก

5th Floor and Above: สร้างการรับรู้ถึงกิจกรรมให้กับคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม

Inside Rama 4 Road: กระจายการเชื่อมโยงของกิจกรรมออกไปสู่พื้นที่ต่อเนื่อง

พื้นที่การพัฒนาเริ่มตั้งแต่สะพานเหลืองไปจนถึงวิทยุ แบ่งได้เป็น 5 พื้นที่ ครอบคลุมย่านสะพานเหลือง สามย่าน ราชดำริ สีลม และวิทยุ

 

สะพานเหลือง: วัฒนธรรมอาหารข้างถนน

เมื่อบ่ายแก่มาเยือน รถเข็นขายอาหารนานาชนิดตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยว ไปจนขนมหวาน เริ่มตั้งร้านเรียงรายหน้าตึกแถวบริเวณสะพานเหลือง เหล่ารถเข็นเป็นทั้งแหล่งอาหารราคาจับต้องได้ของคนในพื้นที่ และเป็นร้านอาหารโปรดของทั้งคนใกล้ไกล แต่ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้หากบางคนก็ยังหยุดหงุดหงิดใจไม่ได้สักทีว่าจะกีดขวางทางเท้ากันไปถึงไหนกัน

เมื่อมองอนาคตที่ไม่ไกลนัก โครงการจุฬาสมาร์ตซิตี้ที่เปลี่ยนโฉมพื้นที่เป็นเป็นตึกสูง*อาจส่งผลให้สตรีทฟู้ดแถวนี้ต้องหายไป

หากเป็นเช่นนั้นจริง ข้อเสนอที่น่าจะเหมาะสมคือไอเดีย Hawker Corner รวบรวมร้านค้าสตรีทฟู้ดไว้ด้วยกัน จัดเป็นระบบระเบียบมากขึ้นเพื่อสะดวกต่อผู้กิน ผู้ขายและการจัดการ

แม้จะเป็นตึกสูง แต่การคงไว้ซึ่งรูปแบบห้องแถวที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ได้โดยการร่นอาคารสูงไว้ด้านหลังเพื่อให้เป็นมิตรต่อผู้เดิน ขณะเดียวกันก็เสนอให้ใช้วัสดุด้านหน้าอาคารที่โปร่งเพื่อมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตึก

 

 

สามย่าน: วัฒนธรรมการพักผ่อนและเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

ตำแหน่งที่ตั้งของสามย่านนั้นโดดเด่นจากการรวมตัวของสำนักงานหลายบริษัทตั้งอยู่ อีกทั้งยังอยู่ติดกับสถาบันการศึกษา ทำให้บริเวณสามย่านที่ติดกับถนนพระรามสี่คึกคัก มีผู้คนมากมายเข้ามาใช้พื้นที่ ทั้งติวหนังสือ อ่านหนังสือ นัดเจรจาธุรกิจ และนั่งทำงาน

ตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ด้านหน้าตึกจามจุรีสแควร์ที่ปล่อยโล่งในปัจจุบันให้ร่มรื่นยิ่งขึ้นด้วยร่มไม้เพื่อให้คนใช้พักผ่อนหย่อนใจได้จริง ส่วนบริเวณใต้ดินของลานนั้น

อีกไอเดียดีๆ กับการบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดด้วยการเปิดพื้นที่ให้การเชื่อมต่อได้จากอาคารสามย่านมิตรทาวน์ โดยไม่ได้ทำเป็นแค่ทางสัญจร แต่เป็นพื้นที่ที่คนสามารถนั่งทำงานได้ ส่วนพื้นที่บนดินกับใต้ดินสามารถมองเห็นกันได้ด้วยการใช้หลังคาแบบโปร่ง  โดยไอเดียในการปรับเปลี่ยนพื้นที่นี้จะเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ นั่นคือการสร้างพื้นที่ Creative Space

 

ราชดำริ : วัฒนธรรมสุขภาวะ

สีลม : แหล่งรื่นรมย์ยามค่ำคืน

 

 

การศึกษาพื้นที่ย่านในครั้งนี้ นำเสนอให้จุดเด่นทั้งสองนี้ผสานกันโดยเชื่อมกันผ่านอาคารดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่จะมาแทนที่โรงแรมดุสิตธานีแลนด์มาร์กสำคัญของย่านนี้

จากลักษณะพื้นที่ บริเวณชั้นล่างทำเป็นสนามที่ต่ำกว่าพื้นดิน (Sunken Court) มีลักษณะเป็นสแตนด์ที่มองเห็นสวนลุมพินีได้ โดยสแตนด์นี้จะเชื่อมต่อสามระดับทั้ง MRT ระดับพื้นดิน และ BTS นอกจากใช้เพื่อเปลี่ยน-เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนแล้ว สแตนด์นี้อาจเป็นจุดนัดพบ (Urban Hangout Space)  หรือเป็นพื้นที่นั่งเล่นรับชมกิจกรรมก็ดี

เพื่อให้พื้นที่ออกกำลังกายเชื่อมต่อออกไปไม่จบลงแค่ในสวน พื้นที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลจุฬาจะปรับเป็น Active Yard ลานออกกำลังเล็กๆ สร้างความเป็นมิตรกับพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้บริเวณดาดฟ้าของตึกแถวในถนนสีลม ถ้าจะให้ดีควรปรับให้มีการเชื่อมต่อกันเพื่อทำเป็นสวนและบาร์บนดาดฟ้าเพิ่มสีสันยามค่ำคืน

 

วิทยุ: วัฒนธรรมเมืองสีเขียว

 

 

วิทยุ ย่านหรูหรากลางเมือง เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญอย่างสถานทูตหลายแห่งแต่กลับไม่ได้เชื่อมต่อกับ BTS โดยตรง ในมุมมองจากการศึกษาโครงการนี้เห็นควรให้ทำสกายวอล์กเชื่อมต่อมาจากบีทีเอสศาลาแดง นำเสนอคอนเซ็ปต์การพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว (Green Space) ตลอดแนวในย่านนี้

ต่อเนื่องมาจากบริเวณสวนลุมพินี บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอีกหนึ่งตึกพาณิชยกรรมใหม่อย่าง The One Bangkok และตึกรอบๆ ที่สามารถใช้ต้นไม้สร้างหน้ากากอาคาร (Façade) ให้เป็นแบบอาคารอนุรักษ์พลังงานเพื่อลดอุณหภูมิของตึก และเพื่อให้สอดรับกับบรรยากาศโดยรอบได้

 

มากกว่าพระรามสี่

เมื่อมองไปยังพื้นที่โดยรอบ สถานเสาวภาที่อยู่ถัดจากจามจุรีสแควร์แต่ความคึกคักกับต่างกันไกล โดยไอเดียที่นำเสนอไว้ในการศึกษาพื้นที่ในครั้งนี้คือ การทลายรั้วระหว่างสองพื้นที่ และเปิดเป็น Outdoor Learning Space โดยคิดต่อยอดจากองค์ประกอบเดิมที่มีพิพิธภัณฑ์สภากาชาดอยู่แล้ว

อีกพื้นที่หนึ่งคือโรงอาหารซีพี ที่ซ่อนตัวอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาฯ สถานที่ใจกลางเมืองที่คนอาจไม่ได้นึกถึงนอกเสียจากยามเจ็บไข้ได้ป่วย เพื่อให้พื้นที่นี้เปิดกว้างควรปรับเป็นพื้นที่โรงอาหารแบบกึ่งกลางแจ้งเชื้อชวนให้ผู้คนแวะเวียนไปได้สะดวกขึ้น

 

ข้อมูล   : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)

ผู้เขียน : อัฑฒกร เกตุประภากร นิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร