Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

รีดภาษีอสังหาแนวรถไฟฟ้ารอบ "สนามบิน-ทางด่วน" โดนหมด!

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ
อสังหาฯ-แลนด์ลอร์ดช็อก คลังเอาแน่ ! ชง ครม.เก็บภาษีลาภลอยร้อยละ 5 เจ้าของที่ดิน-ห้องชุดเกิน 50 ล้านบาทในรัศมี 2.5-5 กม. จากแนวรถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่-ไฮสปีด-ทางด่วน-ท่าเรือ-สนามบิน แจ็กพอตยกแผง เจ้าของโครงการ-นักเก็งกำไรต้องจ่ายภาษีจากส่วนต่างมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ดีเวลอปเปอร์อ่วม คอนโดฯค้างสต๊อกรอขายโดนเต็มเหนี่ยว หวั่นคนซื้อบ้านรับเคราะห์ต้องจ่ายเพิ่ม

อสังหาฯช็อก ภาษีลาภลอย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ยกร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีจากผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือที่เรียกกันว่า ภาษีลาภลอย เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ เพราะจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อนซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในเร็วๆ นี้

"เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะทำอยู่แล้ว แนวคิดคือจะจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า เป็นต้น หลักง่ายๆ คือจะเก็บเมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง"

สนช.หนุนคลังเก็บภาษีลาภลอย

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ในคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นประธาน ได้เสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือภาษีลาภลอย เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันรัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากที่เจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นได้

ยกร่างเสร็จประชาพิจารณ์

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า แนวคิดการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax) นั้น สศค.ศึกษามาหลายปีแล้ว โดยมีตัวอย่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐทียกร่างขึ้น ขั้นตอนนี้จะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2560 นี้

"คลังเห็นว่าจำเป็นต้องเก็บภาษีลาภลอยนี้ เพื่อลดภาระงบประมาณการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก โดยจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมูลค่าที่ดินและห้องชุดที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการของรัฐ เนื่องจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือห้องชุดจะได้รับประโยชน์จากส่วนต่างมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้นจึงควรเสียภาษีให้รัฐดังนั้นการเก็บภาษีลาภลอยยังช่วยสร้างความเป็นธรรมอีกทางหนึ่ง"

ที่ดิน/ห้องชุดเกิน 50 ล.แจ็กพอต

สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดจัดเก็บภาษีจาก 2 ส่วน คือ 1.ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุด ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท 2.ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาของรัฐ

การจัดเก็บภาษีมี 2 กรณี คือ

1.เก็บระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง ส่วนนี้ให้กรมที่ดินเป็นผู้จัดเก็บ

2.เก็บเมื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จแล้ว ซึ่งจะเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท โดยจัดเก็บจากห้องชุดของดีเวลอปเปอร์ที่รอการจำหน่าย จะจัดเก็บในปีถัดจากปีที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ และจะจัดเก็บเพียงครั้งเดียว กรณีนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าของพื้นที่จัดเก็บ

แนวรถไฟฟ้า-สนามบินอ่วม

ประเภทโครงการพัฒนาของรัฐที่อยู่ในข่ายต้องเก็บภาษีคือ

1.โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งกำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี

2.โครงการท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ

3.ทางด่วนพิเศษ รัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้นและทางลง และ

4.สนามบิน รัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดิน ห้องชุด ที่ได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐเข้าไปพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคสาธารณูปการประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับจะกำหนดในกฎกระทรวงภายหลัง

เพดาน 5% เว้นบ้าน-ที่เกษตร

แหล่งข่าวกล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมาก แม้อาจได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ บทบัญญัติในร่างกฎหมายภาษีลาภลอยจึงกำหนดจะยกเว้นจัดเก็บภาษี กรณีที่ดินที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และที่ดินทำเกษตรกรรม

สำหรับอัตราจัดเก็บภาษีจะมีการกำหนดอัตราที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยเสนอให้ ครม.เห็นชอบแล้วออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แต่ในร่าง พ.ร.บ.จะกำหนดเพดานอัตราภาษีสูงสุดเอาไว้ที่ ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี ซึ่งฐานภาษี คือส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้น ระหว่างมูลค่าก่อสร้างวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนา กับมูลค่าในวันที่โครงการพัฒนาแล้วเสร็จ แล้วแต่กรณี

อย่างไรก็ดีในส่วนของห้องชุดนั้น จะยกเว้นห้องชุดที่ดีเวลอปเปอร์เป็นผู้จำหน่าย หรือห้องชุดที่ยังไม่ได้จำหน่ายหลังโครงการพัฒนาของรัฐแล้วเสร็จ โดยให้คำนวณส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าห้องชุด และจัดเก็บภาษีเพียง 20% ของส่วนต่างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจริงหลังการพัฒนาโครงการของรัฐแล้วเสร็จ ซึ่งมูลค่าที่ดินและห้องชุดจะใช้ราคาประเมินแบบเดียวกับที่กรมที่ดินใช้อยู่

ส่งเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

เงินภาษีที่จัดเก็บได้จากภาษีลาภลอยนี้จะนำส่งเข้า"กองทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ" ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และเงินกองทุนจะนำไปใช้ในโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐอื่น ๆ ต่อไป

โดยการอนุมัติให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่จัดเก็บภาษี และวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ตลอดจนให้คำปรึกษาหรือแนะนำการจัดเก็บภาษีเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จะมีคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เป็นผู้พิจารณา

รื้อภาษีที่ดินบ้าน 20 ล้านขึ้นระทึก

ด้านนายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. มีแนวโน้มว่าจะปรับลดมูลค่าบ้านหลังแรกที่ได้รับยกเว้นภาษี จากเดิมกำหนดไว้ที่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ลดเหลือ 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาทขึ้นไป

"ตอนนี้ในกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายมีการถกกันอยู่ว่า ถ้าเก็บบ้านที่ 50 ล้านบาทขึ้นไปจะสูงเกินไป ไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์" นายประภาศกล่าว

อสังหาฯติงซ้ำซ้อนภาษีที่ดินฯ

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า มีการพูดถึงภาษีใหม่หลายเดือนแล้ว แต่ขอให้รัฐพิจารณารายละเอียดให้ลึกซึ้ง เพราะซ้ำซ้อนกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บในปี 2562 และภาษีอื่นที่จัดเก็บอยู่แล้ว ทั้งภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมแล้วเป็นค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 7-8% ของราคาบ้าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมืออยู่แล้ว

"อยากให้รัฐไปดูเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเริ่มใช้ปี 62 ก่อน เพราะกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง หรือปรับโครงสร้างการเสียภาษีต่างๆ ใหม่ ให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปเก็บภาษีแลนด์ ดีเวลอปเมนต์ เพราะยิ่งซ้ำเติมผู้มีทรัพย์สินเกินไป อีกทั้งการประเมินราคาทรัพย์สินในปัจจุบันก็สะท้อนจากการก่อสร้างโครงการอินฟราสตรักเจอร์ของรัฐอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า ทางด่วน"

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ (2002) กล่าวว่า โดยรวมภาพใหญ่ถือว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องดูว่าซ้ำซ้อนกับภาษีที่ดินฯ ภาษีอื่นๆ รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บอยู่แล้วหรือไม่

ชี้ผู้บริโภคซื้อบ้านแพงขึ้น

"เห็นด้วยที่รัฐจะเก็บกรณีที่เป็นบุคคลซื้อกับบุคคลเพราะอาจไม่โชว์ราคาที่ซื้อขายจริงทำให้รัฐไม่ได้รายได้เพิ่มขึ้น แต่กรณีเป็นบริษัทในตลาดเสียภาษีตามฐานราคาซื้อขายจริงอยู่แล้ว หากจะเก็บภาษีเพิ่มจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้น สุดท้ายเป็นผู้บริโภคที่ต้องซื้อบ้านในราคาแพงขึ้น"

ขณะที่นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ นายสุริยน พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกัน และแสดงความกังวลว่าอาจเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน จะส่งผลกระทบต่อคนซื้อบ้านโดยตรงเพราะจะถูกผลักภาระไปให้ นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงต้องชัดเจน

 

ที่มา ประชาติธุรกิจออนไลน์

 

บทความแนะนำ:

 

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร