Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ร่วมออกแบบเมือง (ไม่ป่วย) กันเถอะ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

“เมืองป่วย” คืออะไร แบบไหนถึงเรียกว่า “ป่วย”  เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมต้องทำความเข้าใจเพื่อร่วมกันปลดล็อคปัญหา

กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่รถติดมากเป็นอันดับ 12 ของโลก และ เป็นเมืองที่เผชิญกับปัญหารถติดมากที่สุดในเอเชีย
ติดอันดับ 9 ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ของโลก
ข้อจำกัดการอยู่อาศัยในเมืองเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ตารางเมตรต่อคน
แหล่งงานกับที่พักอาศัยเริ่มห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ
พื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ชีวิตลดน้อยลง

ทำอย่างไรให้ “คนไม่ป่วย เมืองไม่ป่วย” ทางแก้เริ่มต้นได้ที่ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกแบบเมืองให้น่าอยู่มากขึ้น

  • "ที่อยู่อาศัยป่วย" ความแออัดในเมืองใหญ่ทำให้คนล้นในพื้นที่จำกัด ขณะที่ข้อมูลองค์การอนามัยโลกแนะว่าเมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวจัดสรรต่อคนให้ได้ขนาด 9 ตารางเมตร แต่ความเป็นจริง พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.43 ตารางเมตร (ข้อมูลตุลาคม 2560) เท่านั้น
  •  "อากาศป่วย"  ปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เล็กจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า สร้างการตระหนักรู้ให้คนในสังคมแล้วว่า ต้องเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเอง สิ่งแวดล้อมชุมชนรอบข้างไปจนถึงระดับใหญ่กว่านั้นนั่นก็คือ เมือง ที่หลายๆ คนใช้ชีวิต ทำงาน และพักอาศัย
    จากปัญหาที่เกิดขึ้นและวันนี้ก็ยังไม่จางหายเรื่องฝุ่น หลายคนก็เริ่มเข้าใจดีแล้วว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้เกิดจากเรื่องใดได้บ้าง ทั้งควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ที่มาจากการจราจรและการคมนาคม ควันและฝุ่นจากการเผาไหม้หญ้าไปจนถึงป่า รวมถึงฝุ่นละอองจากภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง การสูดเอา ฝุ่น PM2.5 เข้าไปในร่างกายจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจเพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดในสมอง โดยที่ในปี 2556 องค์การอนามัยโลกยังได้จัดให้ PM2.5 อยู่ในกลุ่ม สารก่อมะเร็ง ทำให้มีโอกาสเป็นโรงมะเร็งปอด  สถานการณ์ที่ทุกคนต้องเจออยู่ในขณะนี้จึงไม่ใช่แค่ “คนป่วย” แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าเข้าขั้น “เมืองป่วย” กันแล้ว
  • "อาหารป่วย" การใช้ชีวิตที่เร่งรีบทำให้การซื้ออาหารรับประทานในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่คุ้นชินสำหรับคนที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ซึ่งก็ทำให้ต้องเจอกับปัญหาสารปนเปื้อนในอาหารเข้าไปสะสมในร่างกาย
  • "วิถีป่วย" การใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการจราจรที่ติดขัด และด้วยระยะทางระหว่างแหล่งงานกับบ้าน เช่น พักอยู่ รังสิต หรือ ปทุมธานี ต้องเดินทางมาทำงานสีลม เพราะไม่สามารถหาซื้อบ้านตามกำลังรายได้ที่มีในโซนใกล้เมืองได้ ทำให้ต้องซื้อบ้านที่อยู่นอกเมืองออกไปซึ่งถูกกว่า เมื่อเป็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เวลาหมดไปกับการเดินทาง และที่น่าเป็นห่วงจากพฤติกรรมเร่งรีบ การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขภาวะ และขาดการออกกำลังกาย อาจส่งผลต่อการก่อโรคที่เกิดจากพฤติกรรม NCDs  (Non-Communicable diseases)  โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 3.2 แสนคน หรือเฉลี่ยเสียชีวิตชั่วโมงละ 37 ราย

“ออกแบบเมือง” แก้ “เมืองป่วย”
“เมืองเดินได้” อีกหนึ่งโครงการที่  ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สภาพทางเดินและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการเดิน คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะใช้รถยนต์ในการเดินทางนำมาซึ่งการฝุ่นควันและมลพิษให้เมือง

ข้อดีจากแนวคิด “เมืองเดินได้” ส่งผลดีแล้วกับหลายเมืองสำคัญๆ ยกตัวอย่างเมืองปารีส ฝรั่งเศส เป็นอีกเมืองที่ต้องเจอกับปัญหามลภาวะ ฝุ่นละออง โดยที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเมืองมากขึ้นจนนำมาสู่การพัฒนาเมืองที่ให้เอื้อต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเมือง  เช่น ปรับทางเดินบริเวณทางด่วนริมแม่น้ำ การพัฒนาทางเท้าบนย่านชอปปิ้งถนนฌ็องเซลิเซ่ การเพิ่มไฟส่องสว่างเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนที่ใช้การเดินเท้าสัญจรในเมือง รวมถึงในอีกหลายๆ มิติที่เมืองปารีสได้ทำล้วนเป็นแรงจูงใจให้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น   

นอกจากออกแบบทางเดินเท้าที่กว้างขึ้น เพิ่มแสงสว่างให้กับเมือง การออกแบบเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินกับแหล่งวัฒนธรรม ถนนสายสำคัญและพื้นที่สาธารณะก็สำคัญด้วย เพราะสุดท้ายแล้วการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ตั้งแต่ระบบการบริหารจัดการที่ให้อำนาจท้องถิ่น ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆ

“บ้าน-แหล่งงาน” ยิ่งใกล้ ชีวิตยิ่งดี  
ราคาที่ดินในเมืองราคาพุ่งทำให้การสร้างที่อยู่อาศัยของดีเวลลอปเปอร์เต็มไปด้วยข้อจำกัด อยากสร้างบ้านราคาไม่สูงทุกคนเอื้อมถึงก็เป็นเรื่องยากขึ้นทุกวัน ทางออกคือการเบนเข็มไปหาที่ดินทำเลไกลออกไปจากกลางเมือง อาทิ ปทุมธานี อยุธยา

เมื่อราคาบ้านห่างเมืองพอซื้อไหวสำหรับกลุ่มคนทำงานก็ต้องแบกภาระเรื่องการเดินทางที่พุ่งสูงในแต่ละเดือน

“บ้าน-แหล่งงาน” ที่ไม่สมดุลก่อให้เกิดปัญหาตามมา คุณภาพชีวิตของคนเมืองหมดเวลาไปกับการเดินทาง ค่าใช้จ่ายพุ่ง รวมถึงปัญหาสุขภาพ

ประเด็นปัญหาดังกล่าวแก้ได้ที่การบริหารจัดการ พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดโซนนิ่ง “บ้าน-แหล่งงาน” ไว้ด้วยกัน เช่น กำหนดรัศมีการเดินทางไว้ที่กี่กิโลเมตร

จากนั้นแหล่งงานพิจารณาจากบัตรประชาชนหรือบ้านว่าอยู่ที่ไหนซึ่งเป็นข้อมูลที่ชัดเจนอยู่แล้ว แนวทางนี้จะช่วยการลดปัญหาได้หลายเรื่อง ทั้งคุณภาพชีวิตคนทำงานดีขึ้น ปัญหามลภาวะและฝุ่นจะลดลงจากที่ไม่ต้องเดินทางข้ามเขต เป็นต้น

“นครสวรรค์” โมเดลเมืองสุขภาวะดี
การขยายตัวของเมืองนครสวรรค์นำมาซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด ปริมาณขยะ น้ำท่วม ความแออัดของที่อยู่อาศัย ฯลฯ เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้บริหารเทศบาลหันมาโฟกัสการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

จิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ ย้อนมองอุปสรรคของการพัฒนาเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถึงวันนี้ เรื่องใหญ่คือ ท้องถิ่นยังไม่เป็นอิสระเต็มร้อย ทิศทางการบริหารมาจากส่วนกลาง งบประมาณขาดความสอดคล้องกับการดำเนินการตามบริบทพื้นที่ ซึ่งหากจะให้ดีต้องกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ เช่น การฝังกลบขยะเพื่อลดมลพิษ การจัดการน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ การพัฒนาระบบน้ำสะอาด จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ด้านน้ำ) ในปี 2557 

อย่างที่บอก การที่จะรักษาให้เมืองหายป่วย คงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย และที่สำคัญต้องอาศัยเวลา และความอดทน เพราะเมืองนี้ป่วยมานาน และคงต้องใช้เวลารักษาเยียวยากันอีกหลายปี 

 

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร