"Foresight" หรือการมองภาพอนาคต เป็นกระบวนการคาดการณ์ภาพอนาคตร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่ม ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ถึงสิ่งที่จะเกิด และไม่เกิดขึ้นในอนาคต จึงทำให้อคติจากความคิดเห็น และผลประโยชน์ส่วนตัวลดลง การได้มาซึ่งภาพอนาคตจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง ทั้งในความรับผิดชอบของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และยังเป็นข้อมูลสำคัญของการปรับรูปแบบการอยู่อาศัย การดำเนินธุรกิจ และบริการสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันมหานครชั้นนำของโลก และองค์กรธุรกิจต่างๆ ต่างให้ความสนใจกับการมองภาพอนาคต และใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแผน
ในปี 2558 UddC ร่วมกับสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ได้ทดลองใช้เทคนิคการมองภาพอนาคตนี้ ในการหาทิศทางการฟื้นฟูเขตพื้นที่ชึ้นในของกรุงเทพฯ พบว่า จะเกิดเทรนด์หลักของการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ของคนกรุงเทพฯ รวม 10 ประการได้แก่
1. ชีวิตเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous life)
2. รางเชื่อมเมือง (Connected track)
3. อิสระแห่งการทำงาน (Freedom of work)
4. การบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient public service)
5. บูรณะการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Integrated Cultural Tourism)
6. การผลิตใหม่กลางเมือง (New urban industries)
7. แหล่งพลังงานหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Diversified environmental-friendly energy sources)
8. โครงสร้างประชากรใหม่ (New Bangkokian)
9. ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง (Urbanite’s new normal)
10. การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive development)
ซึ่งในครั้งนี้ ผมจะขอกล่าวถึงเทรนด์หลัก 5 เทรนด์แรก ได้แก่
1) ชีวิตเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous Life)
สังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาและไม่หยุดนิ่ง ระบบเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ICT) จึงมีบทบาทอย่างมากในการอำนวยความสะดวกและรองรับการใช้ชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท โดยอุปกรณ์สื่อสารพกพารูปแบบต่างๆ มีฐานะเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำรงชีวิตที่จะช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ไม่ว่าจะเป็น วิถีการอุปโภค บริโภค ทำธุรกรรม และการติดต่อสื่อสาร ให้สามารถเป็นไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง
2) รางเชื่อมเมือง (Connected Track)
ระบบรางจะมีบทบาทในการเดินทางมากขึ้น การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพจะดึงดูดให้ผู้คนมาใช้งาน โดยจำเป็นต้องมีการคำนึงถึงการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการเดินทางสู่ระบบขนส่งประเภทอื่นๆ อย่างสะดวก ผู้คนจะหันกลับมานิยมการเดินเท้าและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อจับจ่ายใช้สอยบนพื้นที่พาณิชยกรรมและใช้งานพื้นที่สาธารณะโดยรอบสถานี ธุรกิจการส่งสินค้าถึงบ้าน (Delivery service) จะได้รับความนิยมมากขึ้น มีการส่งสินค้าจากมือผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะออกเดินทางเพื่อการจับจ่ายใช้สอย เปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การค้าส่วนหนึ่ง เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมของคนเมือง
3) อิสระแห่งการทำงาน (Freedom of Work)
ระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทำให้คนเมืองในยุคใหม่มีวิถีการทำงานที่ยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับกรอบเวลาหรือสถานที่ ทำให้ทำเลของสำนักงาน และที่อยู่อาศัยไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการทำงานอีกต่อไป เนื่องจากทุกคนจะสามารถทำงานที่ใด เมื่อไรก็ได้ ผ่านระบบออนไลน์ (Online working) คนเหล่านี้จะเลือกงานอดิเรกเป็นอาชีพ และมีวิถีการทำงานในพื้นที่รูปแบบใหม่ๆ เช่น Co-working space หรือ Sharing office ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่เมือง โดยคุณลักษณะสำคัญของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในยุคของอิสระแห่งการทำงานนี้คือ “ยืดหยุ่น ขนาดเล็ก คุณภาพสูง และมีประสิทธิภาพ”
4) การบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public Service)
ทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาระบบบริการสาธารณะของเมืองใหญ่หลายแห่งคือการพัฒนาจุดบริการแบบครบวงจร (One Stop Service) เพื่อการบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient Public Service) โดยจัดให้มีจุดบริการสาธารณะด้วยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดการให้บริการแบบครบวงจรและมีประสิทธิภาพผ่านระบบการสื่อสารแบบออนไลน์ โดยวางแผนให้จุดบริการกระจายในทุกพื้นที่ และมีรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ การบริการสาธารณะยังรวมไปถึงระบบโครงข่ายข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ และเอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมตรวจสอบการบริหารงานของภาครัฐอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย
5) บูรณาการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Integrated Cultural Tourism)
การฟื้นฟูพื้นที่ย่านต่างๆ ในเขตเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ จะเอื้อให้เกิดระบบกิจกรรมใหม่ๆ ส่งผลทำให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เทรนด์การท่องเที่ยวแนวใหม่คือการท่องเที่ยวที่เน้นการเข้าไปสัมผัสเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงในพื้นที่แห่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง มีการใช้เวลาในแต่ละสถานที่มากขึ้น เพื่อให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมที่แท้จริงของท้องถิ่น การท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย หรือแบบหมู่คณะขนาดใหญ่จะถูกลดทอนบทบาทลงในอนาคต
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการกรุงเทพฯ250 โดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ดำเนินการศึกษาโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก: kapook.com, flickr.com, dsignsomething.com, chavanut.com, airportthai.co.th
บทความที่เกี่ยวข้อง: