โคราชศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งโคราชเพื่อสรุปรายละเอียดการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบรางภายในเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร
ประเทศไทยตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504) เป็นต้นมา พื้นที่เมืองต่าง ๆ ได้ถูกสนับสนุนเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เมืองที่ได้รับการสนับสนุนมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นและมีปัญหาเมืองที่มีขนาดใหญ่ตามมา จนได้มีนโยบายการพัฒนาระบบรางเพื่อการขนส่งสาธารณะทั้งระหว่างเมืองและภายในเมืองเกิดขึ้น โดยมีการศึกษาและกำหนดโครงการพัฒนาระบบรางระหว่างเมืองในรูปแบบของระบบรถไฟรางคู่หรือระบบรถไฟความเร็วสูง ในขณะที่การพัฒนาระบบรางภายในเมืองอยู่ในรูปแบบของ LRT (Light Rail Transit) หรือ MRT (Metropolitan Rapid Transit) ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นการเดินทางภายในเมืองและความคุ้มค่าของการลงทุนระบบราง ซึ่งเมืองที่ได้รับการศึกษาเตรียมการลงทุนระบบรางภายในเมือง อาทิ เมืองโคราช เมืองขอนแก่น เมืองเชียงใหม่ เมืองสงขลา-หาดใหญ่ และเมืองภูเก็ต ฯลฯ
สำหรับเมืองโคราชก็เช่นกันเป็นเมืองที่ได้รับบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เมืองโคราชมีการเติบโตและมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีปัญหาของเมืองเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน* ของวันทำงานจะเกิดความคับคั่งของการจราจรบนถนนสายหลักต่าง ๆ ของเมืองโคราชอย่าง 10 ปีที่แล้วไม่เคยเกิดมาก่อน
ภาพการเติบโตและการขยายตัวเชิงพื้นที่ของเมืองโคราช ช่วง พ.ศ.2459-2553
ที่มา: การแปรภาพแผนที่เก่าและภาพถ่ายทางอากาศ
เมื่อปี พ.ศ.2555 ได้มีการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา (โคราช) โดย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ดำเนินการจนมาถึงปี พ.ศ.2559 ศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา** โดยเนื้อหาโครงการเพื่อสรุปรายละเอียดการก่อสร้างและบริหารจัดการระบบรางภายในเมือง ตลอดจนมีเนื้อหาบางส่วนศึกษานำร่องเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีของระบบราง (TOD) ดังนั้นสิ่งที่ตามมาจากการพยายามขับเคลื่อนพัฒนาระบบราง คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะระบบรางที่ตั้งอยู่ภายในเมือง ทั้งรูปแบบกฎหมาย ข้อกำหนดการออกแบบ และมาตรการจูงใจทางด้านภาษีดังที่กล่าวมาข้างต้น
ภาพการจราจรบนถนนมิตรภาพในชั่วโมงเร่งด่วน
ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมานับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวโคราชจำเป็นต้องมีความตระหนักพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมองเห็นถึงความสำคัญของขนส่งโคราชมากขึ้น
หมายเหตุ:
* ก่อนเข้าทำงาน 1 ชั่วโมง (7:30-8:30) และหลังเวลาเลิกงาน 1 ชั่วโมง (17:00-18:00)
** ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.korat-publictransport.sut.ac.th/index.php
บทความที่เกี่ยวข้อง
ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ
ที่ปรึกษาศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง, อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการผังเมือง คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม, อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธาและการขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา
บรรณาธิการวารสารสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างวินิจฉัย (Built Environment Inquiry - BEI)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความวิชาการ,วิทยากรรับเชิญบรรยายด้านการพัฒนา การวางแผนและผังเมืองกับระเบียบวิธีวิจัยเพื่อการพัฒนาในหลายสถาบัน
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ในวิชาชีพด้วยการวิจัยในโครงการต่าง ๆ ร่วมกับสถาบันชั้นนำ อาทิ โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (www.kts2016.com) ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเมือง ทุนโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และโครงการส่งเสริมสมรรถนะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้โครงการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย และแผนป้องกัน/แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก : ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในตำแหน่งหัวหน้าโครงการ ทุนโดยการเคหะแห่งชาติ (http://urp.kku.ac.th/nha_plge/index.html)
Contact Info:
Email: [email protected]
Website: www.sarit.be-searched.net