2 บริษัทที่ปรึกษาอสังหาฯต่างชาติมองเออีซีช่วยดันตลาดอสังหาฯในภูมิภาครุ่ง คอลลิเออร์ส เผยธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยได้รับอานิสงส์สูงสุด ชี้เชียงรายน่าจับตามองกลุ่มทุนจีนเร่งกว้านซื้อที่ดิน หวังผุดโลจิสติกส์ ส่งผลราคาในเมืองทะยาน 6 ล้าน/ไร่ ด้าน ซีบีอาร์อี แย้มธุรกิจอาคารสำนักงานมีอนาคต พร้อมแนะทลายอุปสรรคด้านบริหารจัดการบุคลากร และขยายเวลาถือครองที่ดินให้นานขึ้นหวังดูดเงินต่างชาติเข้ามาลงทุน
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 ว่า หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้รับอานิสงส์จากการมีทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างกลางของหลายๆ ประเทศ อีกทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพทั้งทางถนน และรางรถไฟที่กำลังจะมีการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ ทั้งรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง จึงทำให้มีนักลงทุน นักธุรกิจต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า หรือโลจิสติกส์ สนใจเข้ามาเปิดธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนต่างๆ ที่สามารถข้ามพรมแดนประเทศโดยผ่านสะพานมิตรภาพ หรือว่าถนนที่เชื่อมต่อโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้าน จังหวัดที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของธุรกิจโลจิสติกส์คือ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง และเป็นอีกจังหวัดที่อยู่ในแผนของรัฐบาลเตรียมพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะที่ 2
ขณะนี้มีนักลงทุนจากจีนคือบริษัท เจ๋ฟง โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เจ๋ฟง ยูนนาน บริษัทโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลยูนนาน ประเทศจีนที่เข้ามาซื้อที่ดินกว่า 300 ไร่ ในบริเวณที่ไม่ไกลจากสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ที่เชียงของเพื่อลงทุนพัฒนาโกดังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ห้องเย็นรองรับสินค้าจากประเทศจีน และยังมีแผนจะพัฒนาศูนย์ธุรกิจขนาดใหญ่ โรงแรมระดับ 4 – 5 ดาว และอพาร์ตเมนต์ เพื่อรองรับเศรษฐกิจที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ทางกลุ่มเจ๋ฟง ยังต้องการที่ดินเพิ่มอีก 200 ไร่เพื่อรวมเป็น 500 ไร่ ถึงจะตรงตามแผนการพัฒนาที่ตั้งใจไว้ ทั้งจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายแสดงให้เห็นว่าจังหวัดเชียงรายมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นไปอีกในอนาคต และทำให้ราคาที่ดินในเขตตัวเมืองขึ้นไปถึง 5 – 6 ล้านบาทต่อไร่
สำหรับจังหวัดชายแดนอื่นๆ อาจจะมีความเคลื่อนไหวบ้างแต่ยังไม่ชัดเจนเท่ากับเชียงรายที่ใช้เวลาในการเดินทางไม่นานก็ถึงประเทศจีน ส่วนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร ก็เป็นอีกทำเลที่มีนักธุรกิจชาวจีนรายเล็กๆ ตั้งบริษัทร่วมกับคนไทยเพื่อเข้ามาซื้ออาคารพาณิชย์ หรือซื้อที่ดินสร้างโกดังขนาดเล็กเพื่อเก็บสินค้าแต่อาจจะไม่ชัดเจนเท่ากับกลุ่มเจ๋ฟง
นอกจากนี้ทำเลที่เป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทางหรือว่าขนส่งสินค้า เช่น บางนา – ตราด พหลโยธิน สุขุมวิท พระราม 2 ล้วนมีนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งชาวจีน และญี่ปุ่นมองหาที่ดินที่สามารถพัฒนาเป็นโกดังสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้า เพื่อรองรับธุรกิจโลจิสติกส์ในอนาคต
ด้าน นายเดสมอนด์ ซิม หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การเปิดเออีซีจะก่อให้เกิดประโยชน์ทันทีต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิก และอาจส่งผลดีต่อเนื่องมายังตลาดอาคารสำนักงานและค้าปลีกด้วย โดยการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมย่อมสนับสนุนให้เกิดความต้องการพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากจะมีบริษัทข้ามชาติเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และธุรกิจเอสเอ็มอีในภูมิภาคก็จะขยายตัวมากขึ้น
“แม้การเปิดเออีซีจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็พบว่ายังมีอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ การบริหารจัดการที่ยังขาดประสิทธิภาพ ทั้งในกลุ่มของธุรกิจค้าปลีก อาคารสำนักงาน ซึ่งอาจทำให้ค่าเช่ามีความผันผวน ส่งผลให้ผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกชะลอหรือยกเลิกการขยายสาขาออกไป รวมทั้งแรงงานที่ความเชี่ยวชาญยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการ ตลอดจนการขาดนโยบายด้านการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมาช่วยส่งเสริมนโยบายการลงทุนเสรีและการเคลื่อนย้ายทุน บ่อยครั้งที่นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ พบข้อจำกัดในเรื่องการถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติและเรื่องระยะเวลาการเช่าที่ดินสั้น ดังนั้นการทบทวนนโยบายการถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติของแต่ละประเทศอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้ชาวต่างชาติมีโอกาสเข้าร่วมในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3090 วันที่ 24-26 กันยายน พ.ศ. 2558
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ