เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยมี รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้การต้อนรับ ภายหลังจากในช่วงเช้าที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเปิดศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านปลอดขยะ Zero Wast ที่ อ.ป่าแดด มาแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้สักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินบรมราชชนนี จากนั้นเป็นประธานการประชุมหารือกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ส่วนกลางและคณะกรรมการ กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้แก่ จ. เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ และ จ.น่าน ณ ห้องเชียงแสน อาคารสำนักงานอธิการบดี มฟล.โดยเป็นการประชุมลับและไม่อนุญาตให้บุคคลนอกเข้ารับฟัง
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยนายเกรียงไกร วีระฤทธิ์พันธ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ได้นำเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจัดทำแผนแม่บทพัฒนาอุตสหากรรมอาหาร “ฟู้ดวัลเลย์” จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในภาคเหนือตอนบน 2 ที่มีผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมากการดำเนินโครงการนี้จึงเป็นการเพิ่มมูลค่า ด้าน จ.พะเยา เสนอให้มีการพัฒนาตลาดบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ให้เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้า ประตูการค้า การท่องเที่ยว ฯลฯ
ภายหลังประชุมร่วมคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าในครั้งนี้รัฐบาลได้มารับฟังความคิดเห็นจากพื้นที่โดยตรงเพื่อขยายผลไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจากการประชุมภาคเอกชนได้เสนอขอสนับสนุนงบประมาณหลายโครงการซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติโดยหลักการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมถนนอาร์สามเอ โครงการขยายเส้นทางถนนสี่เลนส์ โครงการขยายด่านชายแดน 3 ด่าน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอีก 20 กว่าโครงการและที่สำคัญคือโครงการเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย จาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ มายัง อ.เมือง และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นั้นได้อนุมัติในหลักการแล้วคาดว่าจะสามารถปักหมุดโครงการได้ภายในปี 2560-2561 นี้ต่อไป
พล.อ.ประยุทธ กล่าวว่าในครั้งนี้ถือเป็นการหารือภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือตั้งแต่ปี 2557-2559ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยืดเยื้อยาวนานโดยเฉพาะความขัดแย้ง และระยะต่อไปตั้งแต่ปี 2560-2564คือการพัฒนาตามแผนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่มุ่งให้เศรษฐกิจฐานแรกมีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจฐานราก ระดับกลางและระดับให้ได้ โดยสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 เพราะเศรษฐกิจไม่ใช่การมุ่งให้คนฐานรากมีรายได้เป็นครั้งคราวหรือกระจุกอยู่เฉพาะระดับบน แต่ต้องเชื่อมโยงไปด้วยกันอย่างสมดุลโดยแต่ละส่วนไม่กระทบถึงกันมากนัก
นายกรัฐมนตรี กล่าวสำหรับหลังปี 2561 เป็นต้นไปก็จะมุ่งการพัฒนาไปสู่กลุ่มจังหวัดต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงทั้งประเทศให้สอดคล้องกัน ทั้งระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ในส่วนของภาคเหนือพบว่าได้รับทราบข้อมูลศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูงมากและมูลค่าการค้าชายแดนก็สูงแต่พบว่ารายได้ของประชากรกลับต่ำ ซึ่งแสดงว่าต้องมีช่องว่างเกิดขึ้นกับประชาชนตนจึงฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนให้ช่วยดูเรื่องนี้ด้วย เช่น อาจต้องแก้ไขด้วยการเกษตรแปรรูปโดยกำหนดจุดแปรรูปแล้วกลุ่มจังหวัดดำเนินการร่วมกันเพื่อส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงไปยังต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อให้ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวที่มีทั้งระดับบน กลางและล่าง
รายงานข่าวแจ้งว่าในการประชุมครั้งนี้ กรอ.ภาคเหนือตอนบน 2 ได้เสนอหนังสือปกข่าวให้ พล.อ.ประยุทธ มีเนื้อหาสนับสนุนโครงการพัฒนาที่เชื่อมกับการท่องเที่ยวบนถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ พัฒนาด่านชายแดนสากลห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน โดยอนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง เนื้อที่ 819 ไร่ 75 ตารางวา ยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมกับบ้านปางมอบ เมืองคอบ แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ขอรับการสนับสนุนแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 เร่งรัดโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 103 อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ไปยัง อ.งาว จ.ลำปาง ให้แล้วเสร็จในปี 2562 และขอสนับสนุนโครงการและปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จ.แพร่
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าเมื่อเร็วๆ นี้การรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่าเส้นทางไฟสายเด่นชัย-เชียงราย เป็น 1 ใน 2 เส้นทางที่อยู่ในแผนก่อสร้างมานานแต่ยังไม่มีการก่อสร้างโดยมีมานานตั้งแต่ปี 2503 ล่าสุด รฟท.จะใช้ผลการศึกษารูปแบบรถไฟรางคู่ปี 2544 เป็นต้นแบบ ทำการก่อสร้างระยะทางจาก อ.เด่นชัย-อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวม 323 กิโลเมตร โดยจะเรียกประชุมคณะกรรมการ รฟท.ในเดือน ธ.ค.นี้ และนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิและสังคมแห่งชาติเพื่อขออนุมัติไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการซึ่งเชื่อว่าจะสามารถก่อสร้างได้ในปี 2560 ด้วยงบประมาณ 76,980 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างนาน 48 เดือน โดยก่อนหน้านั้นก็จะหารือกับที่ปรึกษาและทีมวิศวกร รฟท.ให้แบ่งเส้นทางก่อสร้างเป็นช่วงๆ อาจจะเป็น 3 ช่วงเพื่อสร้างไปพร้อมๆ กันแทนการสร้างเป็นทางยาวทางเดียวด้วยต่อไป
ที่มา : prachachat