นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับนายพิชิต อัตราทิตย์ รมช.คมนาคม เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสารของรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซีมิเตอร์) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาซึ่งนายพิชิตก็รับปากที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวกลับไปศึกษาความเหมาะสมต่อไป
สำหรับข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย เสนอให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) ทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ในเขตกทม. ใหม่ โดยให้มีการจัดทำอัตราค่าโดยสารเป็น 2 ราคา จากเดิมที่ใช้ราคาเดียวทั่วกรุงเทพ โดยแบ่งเป็น
1.อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการในเขตกรุงเทพชั้นใน
2.อัตราค่าโดยสารแท็กซี่วิ่งให้บริการในเขตกรุงเทพชั้นนอก
เนื่องจากพื้นที่ทั้ง2 ส่วนมีปัญหาการจราจรติดขัดแตกต่างกัน โดยรถที่วิ่งให้บริการในเส้นทางกรุงเทพชั้นในจะมีปัญหารถติดมาก และนานกว่ามีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งมากกว่ารถในเขตกรุงเทพชั้นนอกที่รถติดน้อยกว่า
ขณะที่อัตราค่าโดยสารมิเตอร์ กรณีรถไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (รถติด) ในปัจจุบัน มีการกำหนดไว้เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด คือนาทีละ 2 บาท ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนค่าขนส่งที่แท้จริง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในเขตเมือง ซึ่งเป็นย่านการค้าและห้างสรรพสินค้า
นายวิฑูรย์ชี้แจงว่า ในโซนที่รถติดจะต้องมีการคิดค่าโดยสาร ในช่วงเวลาที่รถติดหรือจอดนิ่งในอัตราที่สูงกว่าโซนที่รถไม่ติด คือมากกว่านาทีละ 2 บาทที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอัตรา ค่าโดยสารเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ 35 บาทเท่าเดิม จะปรับเฉพาะค่าโดยสารช่วงที่รถติดเท่านั้น
ทั้งนี้จะปรับเพิ่มเป็นนาทีละเท่าไหร่ ขณะยังตอบไม่ได้ต้องไปศึกษารายละเอียดก่อน ทั้งนี้เชื่อว่าหากดำเนินการตามนี้ ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในพื้นที่กรุงเทพชั้นในและเขตเมืองจะหมดไปอย่างแน่นอน ขณะที่คนขับก็จะอยู่ได้ไม่ขาดทุนเหมือนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าในการปรับราคาค่าโดยสารแท็กซี่รอบที่ 2 ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะปรับขึ้นให้อีก 5% นั้น ยังอยู่ในระหว่างรอผลสรุป โดยหากไม่ได้รับการอนุมัติ นายวิฑูรย์กล่าวว่า ทางเครือข่ายก็จะยอมรับกับมติที่ออกมา โดยผู้ขับขี่แท็กซี่ก็ต้องยอมรับสภาพตามเดิมต่อไป
ด้านนายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดี ขบ.กล่าว่า นายพิชิต ได้สั่งการให้กรมกลับไปศึกษาความเป็นไปได้ของเสนอดังกล่าวแล้วว่ามีผลดี ผลเสียอย่างไร และมีความเหมาะสมหรือไม่ คาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะ เพราะขณะนี้กรมก็อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาการจัดทำโครงสร้างต้นทุนรถแท็กซี่โดยรวมจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เช่นกัน ซึ่งทีดีอาร์ไอจะนำผลการศึกษากลับมาเสนอให้กรมภายใน 3 เดือนต่อจากนี้
โดยจากการสำรวจของ Longdo.com ได้จัดอันดับถนนที่รถติดที่สุดใน กทม. ดังนี้
ขอบคุณข่าวจาก Spring Radio FM98.5
บทความแนะนำ