HBG ฉบับนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณปวิณ ชํานิประศาสน์ พ่อเมืองเชียงใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่แบบสดๆ ร้อนๆ พร้อมกับงบประมาณปี 2559 มาติดตามกันว่าจังหวัดเชียงใหม่จะมีการปรับเปลี่ยนแผนและนโยบายด้านการพัฒนาเมืองไปในทิศทางใดบ้าง
พัฒนาเมืองเชียงใหม่ตามแผนยุทธศาสตร์
งานพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดภายใต้กรอบนโยบายจากคณะรัฐบาล หลายโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จก็จะดำเนินการต่อให้เสร็จสิ้น พร้อมสานต่อนโยบายเดิมของอดีตผู้ว่าฯ
สุริยะ ประสาทบัณฑิต อีกทั้งโครงการสำคัญที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2558 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจังหวัดได้เสนอโครงการผ่านกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณางบประมาณประจำปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการติดตามผลการดำเนินงานต่อไป
ตั้งเป้าปี 2559 เน้นการพัฒนาสู่ความเป็นสากล
สำหรับแผนการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในปีงบประมาณ 2559 ที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ได้แก่ การเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการระดับสากล, เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนและการคมนาคมขนส่ง, เป็นเมืองแห่งเกษตรปลอดภัย, เป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษานานาชาติสู่สากลและ เป็นเมืองน่าอยู่
นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาด้านสังคมในการยกระดับคุณภาพชีวิตเน้นการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวและเตรียมความพร้อมด้านสังคมเพื่อปรับสู่อาเซียน การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาหมอกควัน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่และลดความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลอง
ด้านความมั่นคงเน้นการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นธรรมและด้านการบริหารจัดการ เน้นการเตรียมความพร้อมของระบบสนับสนุนการบริหารจัดการแบบบูรณาการเพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง
การพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่มีความสำคัญในทุกด้าน แต่ปัจจุบันมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยฟื้นฟูบูรณะแหล่งน้ำเดิมและเตรียมขุดบ่อบาดาลจำนวน 30 บ่อ ในพื้นที่ 5 อำเภอ คืออำเภอแม่วาง, อำเภอสันป่าตอง, อำเภอดอยหล่อ, อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอพร้าว โดยโครงการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าโดยใช้ระบบ Single Command มีผู้ว่าราชการฯ เป็นผู้สั่งการให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดและอำเภอทำงานร่วมกันแบบบูรณาการและกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาและพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการเผา ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบเผา อีกทั้งรณรงค์สร้างการมีส่วนร่วมของทุกส่วน
เชื่อมั่นอสังหาฯ เชียงใหม่ เติบโตก้าวกระโดด
มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลมีนโยบายนำที่ราชพัสดุมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย นอกจากเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลแล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ไปพร้อมๆกัน เนื่องจากในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่เองพบว่ามีการบุกรุกที่ดินของรัฐในหลายจุด โดยการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่พบว่ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามาจากกำลังซื้อและความต้องการของตลาด อีกทั้งจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาทำให้คนต่างถิ่นให้ความสนใจซื้อบ้านหลังที่ 2 และซื้อที่อยู่อาศัยเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมากขึ้น เพราะเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางการศึกษา, เศรษฐกิจ, การค้าการลงทุน นอกจากนั้นอาจเล็งเห็นอนาคตของเชียงใหม่หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและอีกส่วนหนึ่งมาจากนโยบายภาครัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการจากรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
ปรับผังมุ่งอนุรักษ์เมืองเก่าพร้อมพัฒนาเมืองใหม่
โดยพื้นฐานจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งศิลปะ เห็นได้ว่าศิลปินที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นจากเมืองนี้เป็นจำนวนมากทั้งด้านการออกแบบดีไซน์, สถาปนิกหรือครีเอทีฟ เนื่องจากเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่ อากาศดี มีศิลปวัฒนธรรมงดงาม วิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนกรุงเทพฯ ทำให้คนกลุ่มนี้เมื่อได้มาอยู่ที่เชียงใหม่สามารถต่อยอดความคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง
ด้านกายภาพของเมือง คิดว่าการออกแบบผังเมืองมีการควบคุมรักษาสภาพเมืองไว้อยู่แล้ว แต่อาจจะไม่เหมาะกับในบางพื้นที่ อาจจะต้องเลือกว่าพื้นที่ใดที่ควรมีการปรับผังเมืองเพื่อเกิดการพัฒนาอย่างเหมาะสม โดยแบ่งเป็นเขตเมืองเก่าและพัฒนาเมืองใหม่เหมือนกับต่างประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่าจังหวัดเชียงใหม่ไม่สามารถพัฒนาเมืองใหม่ได้ เนื่องจากพื้นที่ถูกกำหนดด้วยกฎหมายผังเมือง หากมีการจัดโซนนิ่งให้เป็นเขตเมืองเก่าเมืองใหม่การพัฒนาจะง่ายและเป็นระเบียบขึ้น
กระตุ้นประชาชนใช้โอกาสจาก “AEC”
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะมีการเคลื่อนตัวของกลุ่มประชาชน, กลุ่มแรงงาน, กลุ่มนักทุนที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่อย่างแน่นอน การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัด รวมถึงการเตรียมพร้อมของภาคเอกชนมีความพร้อม จึงไม่น่าห่วงเท่าใดนัก เชื่อว่ามีความเข้มแข็งพอที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ แต่สิ่งที่ยังจะต้องเตรียมเพิ่มเติมคือทำอย่างไรให้ประชาชนรับทราบถึงประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างไร จะปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มคนที่เข้ามาท่องเที่ยวหรือเข้ามาทำงานว่าเขาต้องการอะไร ใช้ภาษาอะไร และเตรียมตัวเป็นเจ้าบ้านที่ดี ดูแลและให้บริการที่ดีอย่างไร ซึ่งทางจังหวัดเองก็กระตุ้นเตือนประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ที่ส่วนราชการถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ภาคเอกชนและประชาชนก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองพัฒนาอย่างเข้มแข็ง รองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนที่จะเข้ามาในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงการรักษาอัตลักษณ์ของเมืองควบคู่ไปด้วยกัน เชียงใหม่ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความพร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่ยั่งยืน...