Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

การเดินกับสาธารณูปการของเมือง เราไม่ชอบหรือเราไม่มี

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

อะไรคือ... สาธารณูปโภค/อะไรคือ... สาธารณูปการของเมือง?

เกี่ยวกับการเดินเท้าอย่างไร? เรามีคำตอบ

เราอาจได้ยินบ่อยในแวดวงข่าวสารการบ้านการเมือง แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่า 2 คำนี้ แท้จริงแล้วมีความหมายที่แตกต่างกัน ระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ ในความหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง หมายถึง บริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับในชุมชน รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและรับภาระในการให้บริการ (อาจจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม) บริการดังกล่าวจะปรากฏในในเขตเมือง (Urban Area) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น Public Utilities (สาธารณูปโภค) และ Public Facilities (สาธารณูปการ) 
 

มีหลักการแยกง่ายๆ สำหรับการแยก สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ให้สามัญชนคนธรรมดาเข้าใจ คือให้พิจารณาจากรูปแบบและลักษณะของการให้บริการ ดังนี้


“สาธารณูปโภค” [สาธารณะ+อุปโภค] 
มีรูปแบบการให้บริการเป็นรูปแบบเส้น/สาย และลักษณะของการให้บริการเป็นแบบ บริการเป็นฝ่ายเข้าหาผู้รับบริการ หรือพูดกันง่ายๆ ว่า บริการเหล่านั้นจะวิ่งเข้ามาหาเรา สาธารณูปโภคของเมือง จึงได้แก่ ถนน, โทรศัพท์, แก๊ส, ไฟฟ้า, ประปา, การระบายน้ำ, การกำจัดขยะ ฯลฯ ซึ่งสามารถจะจัดกลุ่มประเภทของสาธารณูปโภคได้ดังนี้ คือ ถนน, โทรศัพท์, การขนส่ง, แก๊ส, ไฟฟ้า, เชื้อเพลิง, ประปา, ระบายน้ำ, กำจัดขยะ, การสื่อสาร เป็นต้น


ส่วนคำว่า “สาธารณูปการ” [สาธารณะ+อุปการ] 
มีรูปแบบการให้บริการเป็นรูปแบบจุดหรือตำแหน่ง โดยมีลักษณะของการให้บริการเป็นแบบที่ ผู้รับบริการต้องเข้าหาผู้ให้บริการ หรือเรียกได้ว่าถ้าเราต้องการรับบริหารเหล่านั้นเราต้องเข้าหามัน ซึ่งบริการเหล่านั้นล้วนเป็นบริการเพื่อสาธารณะซึ่งดำเนินการผ่านองค์กรของรัฐหรือเอกชนโดยการควบคุมของรัฐบาล ซึ่งได้แก่ บริการในเรื่อง เคหะการ, การศึกษา, ศาสนา, วัฒนธรรม, การอนามัยความปลอดภัย, สันทนาการ, และบริการอื่นๆ ตามความต้องการของประชาชน และเป็นกิจการที่ไม่หวังผลกำไร



สำหรับในบทความนี้เราจะมาขยี้และทำความรู้จัก สาธารณูปการของเมือง ที่ตอบโจทย์คนกรุงเทพ และสาธารณูปการที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเดินเท้า เพื่อสะท้อนให้เห็นอีกมิติหนึ่งขององค์ประกอบการเดินเท้าที่สำคัญ นั่นคือ สาธารณูปการซึ่งเป็นบริการสาธารณะเหล่านี้ เปรียบเสมือนจุดหมายปลายทางของการเดินเท้า หรืออีกนัยนะหนึ่งก็คือ เราจำเป็นต้องเดินเข้าหาสาธารณูปการเหล่านี้หรือเราต้องการรับบริการ

 

แล้วคนกรุงเทพฯ ชอบใช้บริการสาธารณูปการอะไรบ้าง...

โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการเดินเท้าและการเข้าถึงบริการสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากสาธารณูปการของเมืองกว่า 38 ประเภท เราพบว่า 3 อันดับแรก ที่คนกรุงเทพฯ เข้าถึงบริการบ่อยที่สุด (คือใช้บริการมากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์) คือ  ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 72, ร้านอาหารจานด่วน (รวมอาหารตามสั่ง) ร้อยละ 55, และร้านขายของชำ ร้อยละ 51

ก็คงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ เพราะสาธารณูปการยอดฮิตเหล่านี้นั้น มันเป็นเรื่องจำเป็นของชีวิต (Life Necessary) นั่นคือเรื่องอาหารการกินนั่งเอง ที่จะต้องกินต้องใช้ทุกวัน สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น คือ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสาธารณูปการที่ดูเหมือนเป็นคู่ตรงข้ามแล้ว จะพบลักษณะบางอย่างของ "รสนิยมคนกรุงเทพ" ว่า เราชอบและเข้าถึงอะไรมากกว่ากันในชีวิตประจำวัน เป็นต้นว่า เรามักจะเข้าร้านสะดวกซื้อมากกว่าที่จะไปตลาด/ตลาดสด เรามีวิถีแดกด่วนที่แทบจะเป็นวัฒนธรรมการกินในเมืองเราก็ว่าได้ เราใช้เวลาเพื่อเดินเตร็ดเตร่ในห้างสรรพสินค้ามากกว่าการไปเสพศิลป์ในพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ และเราชอบไปสถานบันเทิงเริงใจพอๆ กับที่เราชอบไปทำบุญที่วัด

แต่ถึงอย่างนั้น หลายคนคงอาจจะมีข้อโต้แย้งว่าที่ "เราไม่ชอบ หรือ เราไม่มีให้เข้าถึง" ดูอย่างร้านสะดวกซื้อกับตลาดนั่นสิ เราเดินไปสัก 5 นาทีก็น่าจะเจอร้านสะดวกซื้อสักร้านหนึ่ง แต่ต้องเดินไกลแค่ไหนกว่าจะเจอตลาด? หรืออย่างพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ มีพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์มากเพียงพอหรือเปล่า ที่จะไม่ให้คนชอบเข้าห้างสรรพสินค้า ก็ลองดูแถวย่านบ้านท่าน ห้างสรรพสินค้า แทบจะมีทุกหัวมุม แยกถนน (เรื่องนี้เดี๋ยวเอามาเล่าต่อในบทความหน้า) 



นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดของสาธารณูปการ พบว่า หมวดที่ได้รับความนิยมในการเข้าถึงสูงสุดก็หนีไม่พ้นเรื่องปากท้อง อันดับ 1 คือเรื่องอุปโภค-บริโภค 43% (ร้านสะดวกซื้อ, ร้านค้า/ร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต, และห้างสรรพสินค้า) รองลงมาเป็นหมวดการเดินทาง/บริการขนส่งสาธารณะ 26% (ป้ายรถเมล์, สถานีรถไฟฟ้า, ท่าเรือ, วินรถตู้, วินมอเตอร์ไซค์) รองลงมาเป็นหมวดสันทนาการและการพักผ่อน 17% (ฟิตเนต, สวนสาธารณะ, โรงภาพยนตร์, สนามกีฬา, สถานบันเทิง) หมวดบริการสาธารณะอื่นๆ 16% (คลินิก, ไปรษณีย์, ธนาคาร, บริการทางการเงิน) และท้ายสุดของสุดท้าย คือ บริการและหน่วยงานรัฐ 10% (สำนักงานเขต, สถานีตำรวจ, สำนักงานไฟฟ้า, ประปา, โทรศัพท์)

สาธารณูปการของเมืองเกี่ยวอะไรกับ “การเดินเท้า”

โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี กำหนดให้ “สาธารณูปการของเมือง” ถือเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินเท้าเพราะเราเชื่อว่า การที่คนๆ หนึ่งจะก้าวเท้าออกเดินไปที่ไหนสักแห่ง ต้องมีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเดินเท้าอยู่ 2 ประการ คือ

ประการแรก การเดิน นั้นต้องมีจุดหมายปลายทาง และจุดหมายปลายทางนั้นต้องอยู่ในระยะของการเดินเท้า (ผลการสำรวจระยะเดินเท้าที่ไกลที่สุดที่คนกรุงเทพฯจะยอมเดินอยู่ที่ 800 เมตร หรือประมาณ 10 นาที โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) และประการต่อมา คือ การเดินนั้นจะต้องมีสภาพแวดล้อมของการเดินเท้าที่เหมาะสม กล่าวคือ มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดการเดินเท้านั่นเอง



ประเด็นจุดหมายปลายทางนี้เอง ที่จะเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่าง สาธารณูปการของเมือง และ การเดินเท้า เข้าด้วยกัน ซึ่งจุดหมายปลายทางของการเดินเท้านั้น มีที่มาจากหลายแนวคิดที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเดินทางในเมือง ซึ่งการเดินเท้าถือเป็นรูปแบบการเดินทางแบบหนึ่งในเมือง แม้ว่าจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมในบ้านเมืองของเรา แต่สำหรับในมหานครใหญ่และมหานครชั้นนำของโลกแล้ว การเดินเท้าในเมือง ถือเป็นรูปแบบการเดินทางที่สำคัญเลยทีเดียว

ซึ่งจากการทบทวนและศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่ผ่านมาของโครงการฯ พบว่ามีสำนักคิดหลากหลายแห่งที่ได้อธิบายเกี่ยวกับการกำหนดจุดหมายปลายทางของการเดินทาง (การเดินเท้า) ในรูปแบบของการตีความจาก “วัตถุประสงค์ของการเดินทาง”



แนวคิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเดินทาง (Commuter Behavior) เป็นกลุ่มแนวความคิดที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มของนักวิชาการด้านการคมนาคมขนส่งของเมือง ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Wheeler (1972) ซึ่งเขาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การเดินทางว่ามีอยู่ 2 แบบ คือ การเดินทางแบบวัตถุประสงค์เดี่ยว ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางแบบจุดประสงค์เดี่ยวมักเกิดจากจากรูปแบบที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจัดกระจายแยกส่วน และการเดินทางแบบหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งจะพบในย่านที่รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น ศูนย์การค้าใจกลางเมือง หรือศูนย์การค้าย่อยในเขตชานเมือง

หรือแนวคิดของ Martin T. Cadwallador (1985) ซึ่งแบ่งการเดินทางในชีวิตประจำวันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ประเภท คือ การเดินทางไปทำงานสู่ใจกลางเมือง การเดินทางของคนในเมืองออกไปทำงานในเขตชานเมือง และการเดินทางภายในพื้นที่ ทั้งในพื้นที่เมืองและชานเมือง



อีกกลุ่มหนึ่งเป็นแนวความคิด ที่มองว่าการเดินทางเป็นรูปแบบการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น (Origin) ไปยังอีกจุดหนึ่งซึ่งเป็นจุดปลายทาง (Destination) ด้วยวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง ซึ่งการเดินทางของคนส่วนใหญ่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดหมายปลายทางอยู่ที่บ้าน/ที่อยู่อาศัย โดยสามารถแบ่งประเภทการเดินทางออกเป็น 4 กลุ่ม คือ


(1) การเดินทางจากบ้านไปทำงาน
(2) การเดินทางของนักเรียนนักศึกษาจากบ้านไปโรงเรียน/มหาวิทยาลัย
(3) การเดินทางจากบ้านเพื่อไปที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้าน 
(4) การเดินทางจากที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้าน ไปยังที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้าน

จากแนวคิดที่หลากหลายข้างต้น โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ได้สรุปและนำมาปรับใช้เพื่อกำหนดจุดหมายปลายทางของการเดินเท้าในชีวิตประจำวันของคนเมือง โดยถือเอาสาธารณูปการประเภทของเมืองต่างๆ เข้ามาเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินเท้าออกเป็น 6 ประเภท คือ


(1) การเดินเท้าเพื่อไปทำงาน
(2) การเดินเท้าเพื่อไปเรียน
(3) การเดินเท้าเพื่อไปจับจ่ายใช้สอย
(4) การเดินเท้าเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการสันทนาการ
(5) การเดินเท้าเพื่อการติดต่อธุรกรรมและบริการสาธารณะต่างๆ
(6) การเดินเท้าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในระยะยาว เพื่อเข้าถึงสถานีบริการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งสาธารณูปการเหล่านี้ถือเป็นสาธารณูปการที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันของคนเมือง อันอ้างอิงมาจากผลการสำรวจพฤติกรรมและการเข้าถึงบริการสาธารณะของคนกรุงเทพฯ ข้างต้น


และนี่เองเป็นที่มาของสาธารณูปการของเมืองซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินเท้า ซึ่งสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดระดับของการให้บริการสาธารณูปการของเมืองได้อีกด้วย และนอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าสาธารณูปการประเภทไหนที่ควรอยู่ในระยะเดินเท้า และต้องกระจายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสเท่าเทียมกันที่เข้าถึงสาธารณูปการเหล่านั้น และมากไปกว่านั้นยังเป็นการเปิดโอกาสและทางเลือกให้กับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเลือกวิธีการเดินทางที่หลากหลายและวิธีการที่พวกเขาต้องการ โดยเฉพาะโอกาสที่คนเหล่านั้นจะเลือก “การเดินเท้า” เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในเมือง แต่ทว่า คำถามที่ตามมาคือ โอกาสเหล่านั้นมันเท่าเทียมและทั่วถึงจริงหรือเปล่า และถ้าถามให้แรงกวานั้น คือ เรามีโอกาสได้เลือกการเดินเท้าเพื่อเข้าถึงสาธารณูปการเหล่านั้นของเมืองหรือเปล่า?



 

 

 


เขียนโดย: อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้

นักผังเมืองรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้าน Urban Planning and  Analytics โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนและวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“Urban Knowledge by UddC”ส่วนหนึ่งของ โครงการ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี (Good Walk) ที่ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สามารถดูบทความต้นฉบับได้ที่ >> http://uddc.net/th/knowledge/การเดินกับสาธารณูปการของเมือง-เราไม่ชอบหรือเราไม่มี#.WZPF7VVJZqM

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร