Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ขั้นตอนการทำบล็อกปูพื้น บล็อกปูหญ้า ง่ายๆ ในหน้าบ้านคุณ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

สำหรับท่านที่อยากมีพื้นที่รอบบ้านสวยๆ การเลือกใช้บล็อกปูพื้นบริเวณหน้าบ้าน คงจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนให้ความสนใจ เพราะปัจจุบันได้มีสินค้าบล็อกที่มีรูปแบบหน้าตาและสีสันที่หลากหลายให้เลือกใช้กัน หรือถ้าไม่ต้องการให้หน้าบ้านดูแข็งกระด้างจากลานอิฐบล็อก ก็ยังมีบล็อกปลูกหญ้าที่มีช่องให้เราได้ปลูกหญ้าสีเขียว ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับบ้านของเรา

แต่ปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักจะเจอ คือเมื่อใช้งานไปสักพัก บล็อกปูพื้นไว้ก็เริ่มจะทรุดเป็นคลื่น ปลูกหญ้าไม่นานหญ้าก็เหลืองและตาย แล้วมันเกิดจากอะไรหรือช่างทำงานไม่เรียบร้อย งั้นลองมาดูขั้นตอนการปูบล็อกและการตรวจงานปล็อกปูพื้นที่ Baania อยากเล่าให้ฟัง เผื่อว่าถ้ามีโอกาสปูบล็อกครั้งหน้าหรือกำลังจะซ่อมแซมบล็อกปูพื้นเดิมที่พัง จะได้ไม่พลาดขั้นตอนไหนไปนะครับ

ขั้นตอนการทำบล็อกปูพื้น บล็อกปูหญ้า

1. ขั้นตอนแรกให้เราตรวจสอบแบบจากผู้ออกแบบว่าสอดคล้องกับพื้นที่จริง แล้วให้ช่างทำการเคลียร์พื้นที่ด้วยการเก็บขยะและกำจัดวัชพืชก่อน ก่อนจะลงมืออัดดินเดิมให้แน่น ทั้งนี้ควรทำให้พื้นที่จะปูบล็อกมีความลาดเอียงเพื่อให้น้ำมีการไหลผ่านด้านใต้บล็อกได้ โดยเฉพาะบล็อกปลูกหญ้าต้องมีการทำลาดเอียงเพื่อไม่ให้น้ำขัง ทั้งนี้หากต้องการใช้บล็อกปลูกหญ้า ต้องมั่นใจว่าพื้นที่นั้นมีแสงแดดส่องถึงเพื่อไม่ให้หญ้าตาย และต้องมีการรดน้ำบ่อยๆวันละ 2 ครั้งด้วยนะครับ

ส่วนถ้าเป็นเป็นพื้นที่สำหรับที่จอดรถ อาจจะต้องปรึกษาผู้ออกแบบหรือผู้รับเหมาเกี่ยวกับการลงฐานรากหรือการเทคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักได้มากขึ้น ไม่งั้นอาจจะเกิดพื้นทรุดได้ในภายหลัง

2. ขั้นตอนต่อไปให้กำหนดขอบเขตที่จะปูบล็อกด้วยขอบคันหินเพื่อป้องกันบล็อกไหลออกด้านข้าง หรือปูให้ชนกำแพงรั้วหรือกำแพงบ้าน แล้วจึงบดอัดดินเดิมด้านในกรอบที่วางไว้ให้แน่นอีกรอบเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับขั้นตอนต่อไป

3. ตรวจสอบอิฐบล็อกที่ขนมายังพื้นที่ปูว่ามีสภาพสมบูรณ์ และไม่แตกร้าวก่อนทำการปู ตรวจสอบปริมาณว่าเป็นไปตามที่ตกลง และต้องมีเผื่อบางส่วนสำหรับการซ่อมแซมในอนาคต

4. ขั้นตอนต่อไปเป็นการเทปูนหยาบหรือทรายปรับระดับ ซึ่งสามารถเลือกทำได้หลายวิธีซึ่งจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ถ้าท่านเป็นเจ้าของบ้านก็ลองสอบถามถึงวิธีที่ช่างเลือกใช้ดูก็ได้ครับ โดยมีทางเลือกดังนี้

  1. เททรายหยาบหนาประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปาดให้ได้ระดับ แล้วจึงทำการเรียงอิฐบล็อกลงไป วิธีนี้จะค่อนข้างง่ายที่สุด แต่มีโอกาสที่บล็อกจะทรุดเมื่อใช้งานไปสักพัก
  2. เททรายปรับระดับวางบนแผ่นใยสังเคราะห์ (Geotextile) เพื่อป้องกันทรายไหล โดยเผื่อความยาวของแผ่นใยสังเคราะห์พับห่อด้านบนทรายปรับระดับเป็นรูปตัว U ด้านละประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนรอยต่อของแผ่นใยสังเคราะห์ก็ให้ทับกันประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วจึงทำการเรียงอิฐบล็อกลงไป
  3. ใช้หินคลุกบดอัดลงบนพื้นที่หรือใช้ Controlled Low Strength Material (CLSM) ยกตัวอย่างเช่น CPAC FLOW FILL MORTAR เทบนดินที่บดอัดแน่น มันจะเป็นเหมือนปูนที่ช่วยเป็นฐานรองก่อนการเททรายปรับระดับโดยที่ไม่ต้องปูแผ่น Geotextile ก่อน เหมาะสำหรับพื้นดินเดิมที่ไม่แน่นพอ จากนั้นให้เททรายปรับระดับแล้วจึงปูอิฐบล็อกลงไป

5. ขั้นตอนเรียงบล็อกปูพื้น ก็ลองให้ช่างลองเรียงดูส่วนหนึ่งก่อน แล้วเราก็ตรวจความเรียบร้อยในการทำงานก่อนจะอนุมัติให้ปูบล็อกเต็มพื้นที่ หากมีการตัดบล็อกปูพื้นในกรณีที่ต้องตัดเศษ ห้ามใช้ค้อนทุบหรือสกัดออกจนรอยตัดบล็อกมีลักษณะไม่ตรงหรือผิวบล็อกไม่สวยงาม

6. สำหรับบล็อกทั่วไป เมื่อปูบล็อกปูพื้นแล้วเสร็จ ให้โรยทรายละเอียดลงในช่องว่างระหว่างก้อน แล้วให้ใช้เครื่องตบอัดแบบสั่นทะเทือน 2-3 เที่ยว แล้วจึงทำการกวาดทรายส่วนที่อยู่บนผิวหน้าบล็อกและระหว่างร่อง ทิ้งไว้ให้ผิวบล็อกแห้งแล้วจึงลงน้ำยาป้องกันการเกิดคราบขาว และ น้ำยาเคลือบเงาผิวคอนกรีต (ตรงนี้อยู่ที่ความต้องการพิเศษของท่านเจ้าของบ้านและมาตรฐานผลิตภัณฑ์)

7.สำหรับบล็อกปูหญ้า หลังจากวางบล็อกปูหญ้าและอัดแน่นแล้วให้เทดินและปุ๋ย แล้วเกลี่ยลงในร่องบล็อกให้แน่น แล้วรดน้ำให้ทั่วเพื่อให้ดินชุ่มชื้น จากนั้นก็ให้ปลูกหรือปักดำหญ้าลงดิน หรือตัดหญ้าเป็นชิ้นขนาดเท่าช่องปลูกแล้ววางลงไป เมื่อปลูกหญ้าแล้วเสร็จให้ให้รดน้ำทุกๆวัน จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ 10-15 วัน ให้หญ้าที่ปลูกฟื้นตัว ในช่วงนี้ก็อย่าให้มีการเอารถไปจอดบังแดดเพราะหญ้ายังไม่แข็งแรง

ทั้งนี้หากต้องการปลูกบล็อกหญ้าสำหรับพื้นที่ใหญ่ๆ การใช้บล็อกปูหญ้าขนาดเล็กจะทำให้เสียเวลาในการปลูกค่อนข้างเยอะ เสียกำลังในการทำงานเยอะขึ้นด้วย ปัจจุบันมีบล็อกปูหญ้าขนาดใหญ่ เช่นขนาด 50x50 เซนติเมตร และ 100x100 เซนติเมตร ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่กว้าง แต่ต้องใช้เครื่องจักรช่วยเนื่องจากมีน้ำหนักมาก แต่ก็สามารถรับน้ำหนักกดทับได้ดียิ่งขึ้นด้วย

8. เมื่อช่างปูบล็อกปูพื้นเสร็จเรียบร้อยให้ดูว่าช่างปูได้ระดับตามที่ต้องการ ไม่มีคลื่นหลังเต่าหรือตกแอ่งท้องกระทะ และปูได้ลวดลายถูกต้องตามแบบ แล้วจึงทำการกวาดทรายหรือรดน้ำเพื่อทำความสะอาดลานบล็อกที่ปูเสร็จแล้ว

ถ้าบ้านของท่านมีปัญหาเรื่องพื้นดินทรุดตัวอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะบ้านในกรุงเทพที่ดินเดิมเป็นดินเหนียว ลองเลือกใช้สินค้าที่มีมาตรฐานการติดตั้งจากผู้ชำนาญการจะดีกว่าไปซื้อบล็อกปูพื้นจากร้านทั่วไปมาปูเอง แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ก็จะได้ผลงานที่ดีตามไปด้วยนะครับ

ปล็อกปูพื้น

อย่างไรก็ตามสำคัญที่ตัวช่างด้วย ถ้าได้ช่างที่ดี ช่วยบดอัดดินให้หลายๆรอบ บล็อกปูพื้นก็จะไม่ทรุดตัวง่ายๆแน่นอนครับ ยังไงถ้าท่านเป็นเจ้าของบ้านก็อย่าลืมอยู่เฝ้าช่างด้วยนะครับ เพื่อไม่ให้ช่างลัดขั้นตอนสำคัญอะไรไป เท่านี้คุณก็จะได้บล็อกปูพื้นที่สวยงามที่จะอยู่คู่บ้านคุณไปอีกนานครับ

ดูบทความ Checklist ได้ที่นี่

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร