Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ชูแม่น้ำโขง-ถนน R3A เชื่อมการค้าจีนตอนใต้

11/1/2017
x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์-การขนส่งสินค้าในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างไทย –สปป.ลาว เมียนมา-จีนตอนใต้ทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น จากการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือตลอดรายทาง รวมทั้งการเร่งขจัดอุปสรรคการผ่านแดนทางบก ยิ่งเพิ่มมูลค่าการค้าขายระหว่างประเทศได้อย่างมหาศาลในในอนาคต

จังหวัดเชียงราย เป็นประตู (Gate Way) การค้าชายแดนที่สำคัญของภาคเหนือ เพราะนอกจากจะค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ 2 ประเทศคือ สปป.ลาว และเมียนมาได้แล้ว ยังสามารถค้าขายกับจีนตอนใต้ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ผ่านทางพาณิชย์นาวีแม่น้ำโขง หรือการขนส่งผ่าน R3A ได้อีกด้วย ภาพรวมการค้าชายแดนในปี 2559 ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 พบว่ามีอัตราขยายตัวแม้จะเล็กน้อย

โดย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย รายงาน ภาวะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนจังหวัดเชียงราย (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) ว่า การค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายมีมูลค่าการค้ารวม 4.04 หมื่น ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.16% แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 3.408 หมื่นล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ลดลง 2.86% เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 เพิ่มขึ้น 30.25%

เมื่อแยกประเทศคู่ค้าพบว่า การค้ากับจีนตอนใต้ มูลค่าการค้ารวม 1.26 หมื่นล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 เพิ่มขึ้น 52.92% แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 6,531 ล้านบาทสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องอุปโภค-บริโภค, ข้าวสาร, ปลากระตักตากแห้ง,เครื่องจักรและอุปกรณ์ มูลค่าการนำเข้า 6,073.4 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญคือ พืชผักสด, ผลไม้สด, องุ่นสด, สินค้าเกษตร, ดอกไม้และไม้ประดับ

การค้ากับ สปป.ลาว มูลค่าการค้ารวม 1.6733 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ลดลง 3.3% แยกมูลค่าการส่งออก 1.6651 หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องอุปโภค-บริโภค, สินค้าปศุสัตว์, ข้าวสาร, น้ำมันดีเซล, ผลไม้ มูลค่าการนำเข้า 81.44 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญคือ ไม้แปรรูป, อุปกรณ์ตกปลา, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, สินค้าเกษตร, ลูกต๋าว

การค้ากับเมียนมา มูลค่าการค้ารวม 1.1062 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปี 2558 ลดลง 23.12% แยกเป็น มูลค่าการส่งออก 1.08 หมื่นล้านบาท สินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เครื่องอุปโภค-บริโภค, น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น, วิสกี้, เครื่องดื่มและน้ำดื่ม, ปูนซีเมนต์ มูลค่าการนำเข้า 165 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญคือ ผลส้มสด, ใบชา, แร่แมงกานีส, กะเทียม, เศษเหล็ก

แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าชายแดน ในภาคเอกชนของจังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากตัวเลข 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 แม้ว่าจะขยายตัวแต่น้อยมากเหลืออีกเดือนเดียวจะสิ้นปีตนเชื่อว่ามีโอกาสติดลบได้ เพราะปี 2558 มูลค่าการค้ารวมประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามค้าชายแดนเชียงรายปี 2559 มีมิติที่น่าสนใจคือการลดลงของมูลค่าการส่งออกกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการนำเข้า นั่นหมายถึงมีการทะลักเข้าของสินค้ามากโดยเฉพาะการทะลักลงมาของสินค้าจากประเทศจีน จนไปส่งผลต่อดุลการค้า ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เป็นจำนวนถึง 8.18%ซึ่งไม่น้อยทีเดียว หากคิดเป็นมูลค่า(คำนวณเป็นตัวเลขแล้วมีมูลค่าลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท)

ที่ผ่านมา การค้าชายแดนของเชียงราย สายเลือดใหญ่คือการค้ากับจีน เพราะการค้ากับ สปป.ลาว และ เมียนมา จำนวนหนึ่ง เป็นการนำสินค้าไปสวมโสร่งและผ้าซิ่น เพื่อให้ได้ใช้สิทธิ์สินค้าประเทศที่มีพรมแดนติดกัน โดยธรรมชาติของการของการขนส่งสินค้าเมื่อลงมามากขึ้นก็น่าจะขึ้นไปมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ภาพที่เห็นกันจนชินตา ณ วันนี้คือมีเรือขนส่งสินค้าจีนจอดนิ่งที่เชียงแสนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึงว่าผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเมื่อขนสินค้าลงมาแล้วไม่อยากตีเรือเปล่าขึ้นจีน เข้าใจว่าสินค้าไปจีนสามารถไปออกทาง R3A ได้มากขึ้น แต่เมื่อรวมๆ แล้วก็เป็นเพียงแค่การส่งออกเพื่อรักษาฐานการค้าเดิม โดยไม่ได้มีการขยายฐานการค้าให้เพิ่มขึ้น มิติที่เกิดขึ้นแบบนี้ภาครัฐและเอกชนไทยต้องตีโจทย์ให้แตก และควรหาทางแก้ไขปัญหากันแต่เนิ่นๆ ไม่อย่างนั้นการส่งออกของเชียงรายจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต ซึ่งจะไปมีผลกระทบของภาคส่งออกในระดับมหภาคของประเทศด้วย

ขณะที่ ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานคณะกรรมการ หอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึง 2559ช่วงกลางๆ ปี ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยลบเกิดขึ้นกับการค้าชายแดนมากมาย โดยเฉพาะการปิดท่าเรือสบหลวยในเมียนมาที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงการเดินเรือฯ แต่ว่าเป็นจุดขึ้นหลักของสินค้าไทยก่อนจะเข้าจีนตอนใต้หรือกระจายไปในเมียนมา ในขณะที่การขนส่งสินค้าผ่าน R3A ก็พบกับปัญหาค่าธรรมเนียมที่ยังไม่เป็นมาตรฐานสากล จังหวัดเชียงรายและหอการค้าฯ ได้เจรจาหาทางแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด จนทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมเองยังเชื่อว่า ทิศทางการค้าชายแดนเชียงรายในปี 2560 น่าจะมีอัตราการขยายตัวกลับไปสู่ภาวะปกติที่ขยายตัวได้มากกว่าปีละ 10% เพราะว่าในปี 2560 ผมมองว่ามีปัจจัยบวกจากการปรับปรุงท่าเรือกวนเหล่ยของจีน จนสามารถรองรับการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างท่าเรือกวนเหล่ย-ท่าเรือเชียงแสนได้ ประกอบกับปัจจัยลบทางด้าน R3A ได้คลี่คลายลงไปมากแล้ว ทำให้ผมเชื่อว่ามูลค่าการค้าในปี 2560มีโอกาสขยับเข้าใกล้หลัก 5.5 หมื่นล้านบาท และมีโอกาสจะเติบโตแบบก้าวกระโดดได้ หากว่าจีนกับเมียนมา ตกลงเปิดให้มีการขนส่งสินค้าผ่านด่านเมืองลา-ต้าลั้ว บนเส้นทาง R3B ที่เชื่อมโยง ไทย-เมียนมา-จีน ซึ่งหอการค้าฯ คาดหวังลึกๆ ว่าน่าจะมีโอกาสได้เห็นในปี 2560 ที่จะถึงนี้”

การเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาความมั่งคงและความมั่นคั่ง สร้างความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นของประชาชนทั้ง 4 ประเทศในกรอบความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ

ที่มา : thansettakij

11/1/2017

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร