Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ฝั่งธนฯเฮรับสายสีม่วงใต้ 17 สถานีทำเลทองอสังหาฯ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ทำเล “ตากสิน-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ-ประชาอุทิศ-ทุ่งครุ-พระประแดง”แจ้งเกิด ครม.บิ๊กตู่ไฟเขียวแสนล้านสายสีม่วงใต้ เชื่อม 3 จังหวัด “นนทบุรี-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ” เปิดหน้าดินโซนตะวันตกและฝั่งใต้ รฟม.จัดไทม์ไลน์เวนคืน 1.5 หมื่นล้าน ที่ดินโดนแจ็กพอต 410 แปลง บ้าน 267 หลัง เปิดใช้ปี”67 คาดผู้โดยสารเฉียด 5 แสนคน ลุ้นต่อคิวสีส้ม “ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ก.ค. 2560 อนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท โดยให้ รฟม.เปิดประมูลก่อสร้างไปก่อนระหว่างรอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญและเป็นส่วนต่อขยายของสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่เปิดบริการเมื่อเดือน ส.ค. 2559

ตุลาฯประมูลงาน 7 หมื่นล้าน

“ครม.ให้ประมูลก่อน แต่จะเซ็นสัญญาได้ต่อเมื่ออีไอเอผ่าน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมเล็กน้อย จากการขยายเส้นทางเพิ่มและปรับลดขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงลง ซึ่งเป็นนโยบายของ ครม.ให้ปรับลดค่าก่อสร้างลง ก็ทำให้ประหยัดไปได้ 2,837 ล้านบาท จากกรอบเงินลงทุนเดิม 103,949 ล้านบาท”

สำหรับเงินลงทุน 101,112 ล้านบาท ไม่รวมค่างานระบบ แยกเป็นค่าเวนคืน 15,913 ล้านบาท สำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท สิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง 1,335 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงาน 2,865 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดงานโยธา 3,582 ล้านบาท

ตอกเข็ม ก.ย.ปีหน้า

“หลัง ครม.อนุมัติโครงการ ภายในเดือน พ.ย.นี้ รฟม.จะสำรวจพื้นที่เพื่อเวนคืน จากนั้นเดือน ต.ค.เปิดประมูล เป็นรูปแบบนานาชาติ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน แยกเป็น 3-4 สัญญา ส่วนงานระบบและเดินรถ จะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จะคัดเลือกเอกชนลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 รับสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเซ็นสัญญาและก่อสร้างเดือน ก.ย. 2561 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีครึ่ง เปิดบริการปี 2567 คาดการณ์ผู้โดยสาร 477,098 เที่ยวคน/วัน โครงการมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 12.95% และผลตอบแทนด้านการเงิน 4.59%”

รายงานข่าวแจ้งว่า การประมูลก่อสร้างจะดำเนินการควบคู่ไปกับการรอผลอนุมัติอีไอเอ เนื่องจาก รฟม.ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเพิ่มเติม หลังขยายเส้นทางอีก 5 กม.จากราษฎร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก และขอทบทวนขนาดจุดจอดรถและศูนย์ซ่อมบำรุง (เดโป้) ยุบเหลือที่สถานีคลองบางไผ่แห่งเดียวใช้ร่วมกับสายสีม่วง รวมถึงลดขนาดศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณวงแหวนกาญจนาภิเษกเป็นพื้นที่จอดรถไฟฟ้า ขนาด 50 ไร่ ส่วนจุดจอดแล้วจร มี 2 แห่ง ที่สถานีบางปะกอกกับสถานีราษฎร์บูรณะ

ขุดอีกอุโมงค์ลอดเจ้าพระยา

แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นเป็นทางวิ่งยกระดับจากสถานีเตาปูนเชื่อมสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ) และสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ไปตามแนวถนนตัดใหม่ของ กทม. (ถนน ง8 ตามผังเมืองรวมกรุงเทพฯ 2556) แล้วลดระดับลงเป็นทางวิ่งใต้ดิน ผ่านกรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวเข้าถนนทหาร ถนนสามเสน ถนนพระสุเมรุ ถนนมหาไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

เมื่อลอดผ่านสี่แยกมไหสวรรย์แล้วจะเปลี่ยนเป็นทางวิ่งยกระดับไปตามถนนสุขสวัสดิ์ สิ้นสุดปลายทางที่บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงข้างด่านเก็บค่าผ่านทางถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ระยะทางรวม 23.6 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี (สถานี 1-10) และยกระดับ 7 สถานี (สถานี 11-17)

เปิดจุดที่ตั้ง 17 สถานี

ได้แก่ 1.สถานีรัฐสภา เชื่อมกับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ อยู่ระหว่างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และ ม.พัน 4 รอ. 2.สถานีศรีย่าน อยู่หน้ากรมชลประทาน 3.สถานีสามเสน อยู่หน้าโรงพยาบาลวชิรพยาบาล 4.สถานีหอสมุดแห่งชาติ อยู่หน้าหอสมุดแห่งชาติ และสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย

5.สถานีบางขุนพรหม อยู่หน้าวัดเอี่ยมวรนุช 6.สถานีผ่านฟ้า อยู่ก่อนถึงถนนราชดำเนินนอก หน้าร้านอาหารนิวออลีนส์ เชื่อมสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ 7.สถานีวังบูรพาอยู่หน้าสวนรมณีนาถ ใกล้แยกสามยอด เป็นสถานีร่วมของสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค

8.สถานีสะพานพุทธ อยู่ก่อนถึงสี่แยกบ้านแขก 9.สถานีวงเวียนใหญ่ อยู่ใกล้วงเวียนใหญ่ เชื่อมกับสายสีเขียวช่วงยศเส-บางหว้าและรถไฟฟ้าสายสีแดงหัวลำโพง-มหาชัย 10.สถานีสำเหร่ อยู่ใกล้ตลาดสำเหร่และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

11.สถานีจอมทอง อยู่ระหว่างซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 44 และคลองบางสะแก 12.สถานีดาวคะนอง อยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 12 กับซอย 14 13.สถานีบางปะกอก อยู่ระหว่างซอยสุขสวัสดิ์ 23 และซอย 25 มีอาคารจอดรถ 1,700 คัน 14.สถานีประชาอุทิศ อยู่หน้าซอยสุขสวัสดิ์ 44

15.สถานีราษฎร์บูรณะ อยู่กลางถนนสุขสวัสดิ์ คร่อมคลองแจงร้อน มีอาคารจอดรถ 2 แห่ง รวม 1,700 คัน 16.สถานีพระประแดง ใกล้กับถนนวงแหวนอุตสาหกรรมสามแยกพระประแดง และ 17.สถานีครุใน อยู่ปากซอยสุขสวัสดิ์ 70

ส่วนการเวนคืนที่ดินจะเป็นบริเวณจุดขึ้นลงของ 17 สถานี จุดใหญ่อยู่ที่ด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ วงแหวนกาญจนาภิเษกจะใช้พื้นที่สร้างที่จอดรถไฟฟ้า 50 ไร่ และย่านสถานีเตาปูน โดยตลอดเส้นทางมีที่ดินถูกเวนคืน 410 แปลงหรือ 102 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน นอกจากนี้ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อขอใช้พื้นที่โรงเรียนทหารสรรพาวุธ จะย้ายไปอยู่ที่ปากช่องแทน

เชื่อมใต้-ตะวันตก

“สายสีม่วงใต้จะเดินรถเชื่อมต่อสายสีม่วงไปบางใหญ่ โดยที่ผู้โดยสารไม่ต้องลงจากขบวนรถ และจะช่วยเชื่อมการเดินทางและเปิดพื้นที่การพัฒนาของกรุงเทพฯโซนด้านใต้และตะวันตก และเมื่อสายสีม่วงเปิดบริการตลอดเส้นทางจากบางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ คาดว่าจะมีผู้โดยสารกว่า 7 แสนเที่ยวคน/วัน” รายงานข่าวกล่าว

นายอาคมยังกล่าวถึงรถไฟฟ้าสายต่อไปที่จะเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการคือ สายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ กรอบวงเงินลงทุน 90,271 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการลงทุนจะให้ รฟม.ก่อสร้างและให้เอกชนลงทุนงานระบบรับสัมปทานเดินรถหรือให้เอกชนลงทุน PPP ทั้งโครงการ จะพิจารณาหลัง ครม.อนุมัติโครงการแล้ว

เชื่อม 3 จังหวัด

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และโฆษกประจำตัวนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า มีมติเห็นชอบให้ รฟม.ก่อสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ส่วนต่อขยายของสายสีม่วงเหนือ บางใหญ่-เตาปูน จะเริ่มก่อสร้างเดือนก.ย.2561 และเปิดให้บริการเดือนพ.ค.2567 จะเชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ กรุงเทพฯและนนทบุรี ใช้ระบบรถไฟฟ้า ขนาดใหญ่ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. ปีแรกจะใช้รถ 38 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้

โดยสำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณ สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ วงเงิน 15,945 ล้านบาท และกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ก่อสร้างภายใต้กรอบวงเงิน 85,167 ล้านบาท

ที่มาและภาพประกอบ : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร