Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

มท.เดินหน้าขับเคลื่อน "ตลาดประชารัฐ" ช่วยผู้ค้ารายใหม่

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ได้เห็นชอบในหลักการให้ดำเนิน “โครงการตลาดประชารัฐ” โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และพร้อมขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยดำเนินงานบูรณาการกับส่วนราชการต่างๆ ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ตลาดใหม่ รวมทั้งขยายพื้นที่ตลาดเดิม เพื่อให้มีพื้นที่ตลาดสำหรับการจัดจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น สามารถสนับสนุนให้พี่น้องประชาชน เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้มีโอกาสค้าขายมากขึ้น รวมถึงการลดต้นทุนทางการตลาด และการเปิดโอกาสให้กับผู้ค้ารายใหม่ ได้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานการประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินโครงการตลาดประชารัฐผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เข้าร่วมการประชุม อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีวิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เข้าร่วมการประชุม

โดยการประชุมได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการทำงาน และการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวร่วมกัน ซึ่งตลาดตามโครงการตลาดประชารัฐ ที่จะดำเนินการมี 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ตลาดประชารัฐ Green Market ของ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย โดยจะทำการขยายพื้นที่ตลาด เช่น ตลาดตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ตลาดบางคล้า ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และ ตลาดลำพูน ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งสามารถรองรับผู้ค้ารายใหม่ได้กว่า 800 ราย 2) ตลาดประชารัฐ คนไทยยิ้มได้ ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่มีอยู่จำนวน 2,155 แห่ง โดยจะทำการขยายตลาดโดยการเพิ่มกลุ่มผู้ค้าในชุมชนเข้าไป เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะรองรับผู้ประกอบการประมาณ 20,000 กว่าราย 3) ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ตลาดเดิม ซึ่งมีอยู่กว่า 3,800 แห่ง โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ค้าหาบเร่และแผงลอย ได้เข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาประมาณ 40,000 กว่าราย 4) ตลาดประชารัฐ กทม.คืนความสุข ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการหาพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนเนื่องจากไม่มีพื้นที่ค้าขาย โดยตั้งเป้าหมายตลาดไว้ 14 แห่ง รองรับกลุ่มผู้ค้ารายใหม่ได้กว่า 10,000 ราย 5) ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ดำเนินการโดย จังหวัดและบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี <จังหวัด> (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ เช่น สินค้าตามฤดูกาล สถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น 6) ตลาดประชารัฐ Modern Trade ของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี  (ประเทศไทย) จำกัด โดยการเพิ่มพื้นที่ตลาดในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ภายในจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรได้นำสินค้าไปขายในพื้นที่ดังกล่าว ในราคาค่าเช่าถูกหรือไม่เสียค่าใช้จ่าย 7) ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเพิ่มพื้นที่ให้กับผู้ค้ารายใหม่ ในตลาดนัดของ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่ 147 แห่งทั่วประเทศ 8) ตลาดประชารัฐต้องชม ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเป็นการส่งเสริมด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นการค้าขาย เช่น ตลาดน้ำ ตลาดแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น และ 9) ตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการส่งเสริมการตลาดสินค้าเชิงวัฒนธรรม เช่น การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรม การสาธิต และการให้บริการทางวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินงานตามโครงการตลาดประชารัฐดังกล่าว จะสามารถสร้างโอกาสและรายได้ให้กับกลุ่มผู้ค้ารายใหม่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการตลาดประชารัฐ กระทรวงมหาดไทย จะใช้กลไกของศูนย์ดำรงธรรมที่มีอยู่ทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอ เป็นสถานที่รับลงทะเบียนให้กับผู้ที่ประสงค์จะมีพื้นที่ค้าขาย ได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 10 – 30 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งที่ประชุม มีมติให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมจัดทำรายละเอียดข้อมูลของตลาดประชารัฐที่มีอยู่ในความรับผิดชอบ ทั้งข้อมูลในด้านจำนวนตลาด จำนวนผู้ค้า ระยะเวลาดำเนินการ และพื้นที่ดำเนินการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ที่สนใจ ใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้สร้างการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องตลาดประชารัฐในแต่ละประเภท ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำเว็บไซต์ ตลาดประชารัฐ www.market.moi.go.th เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมตลาดประชารัฐ รวมถึงการติดต่อและสอบถามข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการตลาดประชารัฐ บรรลุตามเป้าหมาย กระทรวงมหาดไทย จะได้จัดอบรมเรื่องการลงทะเบียนตามโครงการดังกล่าว ให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยจะจัดอบรมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) ในวันที่ 31 ตุลาคม นี้ ซึ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอหรือผู้แทน และ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาการจังหวัด สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ธ.ก.ส. ในพื้นที่ และ สำนักงานเกษตรจังหวัด ทั้งนี้ คาดหวังว่าทุกหน่วยงานจะร่วมกันผนึกกำลังเพื่อพัฒนาตลาดประชารัฐเพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด จะสามารถเพิ่มพื้นที่ตลาดได้ รวม 6,523 แห่งทั่วประเทศ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจังหวัดจะได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประสงค์พื้นที่ค้าขายลงทะเบียนเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการต่อไป

ที่มาและภาพประกอบ : banmuang

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร