Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ยุคเฟื่อง "โลจิสติกส์” ขาขึ้นออนไลน์

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ยุคที่ผู้คนชอปปิงออนไลน์เพียงปลายนิ้ว สะท้อนอนาคตหน้าร้านการค้าจะถูกลดบทบาท กลายเป็นขาขึ้นธุรกิจโลจิสติกส์ จับตาผู้เล่นน้อยใหญ่จัดทัพคึกคัก

ยุค Internet of Things (IoT) ทุกสิ่งหาได้จากโลกออนไลน์ ! 

โลกออนไลน์ ไม่เพียงเป็นตัวทำลาย (Disrupt) ธุรกิจเก่าแก่ดั้งเดิมเท่านั้น แต่ก็จุดประกายสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นมากมาย 

หนึ่งในนั้นคือ การเติบโตของธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ จากหน้าร้านออนไลน์ ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ทั้งเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค (Facebook) ไลน์ (Line) อินสตาแกรม (Instagram:IG) ขายสินค้าแฟชั่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ ความงาม อาหาร สินค้าไอที สารพัด ตอบสนองคสามต้องการ (Demand) ในตลาดที่มีมหาศาล 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประเมินการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซว่าในปี 2559 ว่าจะมีมูลค่ากว่า 2.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปี 2558 ที่มีมูลค่าตลาด 2.2 ล้านล้านบาท

เมื่อมีผู้ขาย ผู้ซื้อมูลค่ามหึมา “ตัวกลาง” หรือ “ตาอยู่” ที่ทำหน้าที่ “กระจายสินค้า" (Distributors) และบริการไปถึงปลายทางจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ทำให้บรรดาผู้ประกอบการ “โลจิสติกส์” ตบเท้าวางแพลทฟอร์มธุรกิจ ขานรับความต้องการพ่อค้าแม่ขายอออนไลน์ เกาะกุม “ขุมทรัพย์” ในการกระจายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคกันอย่างคึกคัก

ย้อนไป 2 ช่วงเวลาของการดำเนินธุรกิจจัดส่ง “พัสดุด่วน” ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่า “5 ปีแรก” เป็นจังหวะของการส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ เป็นภาคธุรกิจส่งถึงธุรกิจ (BtoB) เป็นหลัก 

ทว่า “5 ปีถัดมา” การส่งสินค้าที่ค้าขายผ่านช่องทาง“ออนไลน์” เริ่มฉายแววเด่น มุมมองที่ “วราวุธ นาถประดิษฐ์” ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วไทย

ก่อนขยายความว่า การส่งสินค้าในยุคแรกจะเป็นการสต็อกสินค้าไปเก็บไว้ที่ปลายทาง เพื่อกระจายและขายต่อให้ถึงมือผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย “ส่งเยอะๆเพื่อได้ส่วนลดเยอะ”  แต่พอยุคหลังคือกระจายสินค้าไปยังกลุ่มเป้าหมายยิบย่อยเป็น “รายบุคคล” (Individual) มากขึ้น ไมว่าจะส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โฮมชอปปิง ทีวีชอปปิง ฯลฯต่างๆ

แม้จะให้บริการด้านโลจิสติกส์ส่งพัสดุทั่วไทย แต่การส่งสินค้าออนไลน์สำหรับ “เคอรี่” ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น แต่ดำเนินการมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว โดยมองการณ์ไกลตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจขนส่งสินค้า ที่ต้องการเน้นให้บริการสำหรับลูกค้า “รายย่อย” มากขึ้น 

โดยประเมินว่า เมื่อเข้าสู่ปีที่ 11 ของการทำธุรกิจ ก็พบ“สัญญาณ" การส่งสินค้าออนไลน์ ที่มีแนวโน้ม “แรง” ขึ้นต่อเนื่อง 

นั่นหมายถึง “การเติบโต” แบบทะลุหลัก 100 % ต่อเนื่อง !! 

“ตอนนี้เราอาจทำให้คนตกใจ เพราะเรามีลูกค้าออนไลน์เยอะขึ้น คนส่งของมากขึ้น” เขาเล่า 

ทว่าการที่ธุรกิจจะเติบโตได้ ยังต้องเกิดจากความรู้ ความเข้าใจลูกค้าระดับบุคคล มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น โดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะตัดสินใจใช้บริการขนส่งรายใด จะต้อง “ลองผิดลองถูก” และพิจารณาจากการมีข้อมูล “อ้างอิง” ว่าส่งสินค้ากับรายใดแล้วโดนใจ 

“วราวุธ” เชื่อมั่นว่า การที่ลูกค้าเลือกใช้บริการเคอรี่ เพราะบริษัทมอบสิ่งดีๆให้กับทั้งลูกค้ารายใหญ่ และย่อย

ปัจจุบันเคอรี่ มีสำนักงานหรือจุดรับส่งสินค้าทั่วไทย 200 สาขา (Outlet) 

ถามว่า สินค้าใดคือสินค้า “ฮอตฮิต” ในตลาดออนไลน์ “วราวุธ” ระบุว่า สินค้าหมวดแฟชั่น เครื่องสำอาง เป็นหมวดสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด 

“ฟังดูแล้วอาจตกใจ คนที่อยู่พื้นที่ยิ่งห่างไกล ยิ่งส่งเยอะ คนเหล่านี้มีความต้องการซื้อ และเราสามารถส่งสินค้าได้วันต่อวัน ในขณะที่คนอื่นไม่ไป อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น”  

แล้วแต่ละวันเคอรี่ส่งสินค้ามากแค่ไหน ?

“วราวุธ” บอกว่า ยอดสูงสุดต่อวันส่งสูงถึง 2.5 แสนชิ้น ผ่านเครือข่ายรถขนส่งที่มากกว่า 4,000 คัน และพนักงานกว่า 3,000 คน รวมๆการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคนั้นมี “หลักล้านราย” และจากแนวโน้มการเติบโตของตลาดค้าขายออนไลน์ ทำให้ต้องเพิ่มทีมงานอีกราว 50% เพื่อรองรับโอกาสที่เกิดขึ้น

“มองว่าตลาดยังขยายได้อีก เพราะโครงสร้างพื้นฐาน เครือข่ายหรือเน็ตเวิร์คยังรองรับได้ ตลาดไปแบบไม่มีลิมิต (จำกัด) แต่ใครจะบริหารต้นทุนได้ดีกว่ากันเท่านั้น”

อีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดออนไลน์โต คือ หน้าร้านการค้า (ออฟไลน์) ที่ได้รับความนิยมลดลง แม้ลูกค้าไม่เดินเข้าไปในร้าน แต่ต้นทุน ค่าเช่ายังอยู่ ต่างจากต้นทุนการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันไม่ว่าธุรกิจประเภทใด ก็หันมาใช้ออนไลน์เป็น “เครื่องมือ” เสริมการค้าด้วยกันเกือบทั้งสิ้น 

นอกจากนี้ การส่งพัสดุออนไลน์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556-2559)  สำหรับเคอรี่ ถือเป็น “พระเอก” จากปี 2555 ตลาดยังเงียบ กล้าๆกลัวๆ การโกงการชำระสินค้า ทำให้บริษัทเสริมบริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery-COD) ทำให้ลูกค้ามั่นใจมากขึ้น 

ความร้อนแรงของการค้าออนไลน์ นอกจากทำให้ยอดขายบริษัทเติบโต แต่ยังทำให้สัดส่วนการขายยังเปลี่ยนด้วย โดยช่วงแรก สัดส่วนยอดขายออนไลน์มีไม่ถึง 10% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 50%

เขายังระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่เอาดีด้านการส่งสินค้าออนไลน์ยังมีไม่มากนัก ทั้งตลาดไม่ถึง 10 ราย และเพื่อตอกย้ำการเป็นยักษ์ใหญ่ส่งสินค้าออนไลน์ จึงพยายามวางแพลตฟอร์มให้ผู้บริโภคเข้าใจในการส่งพัสดุด่วนง่ายขึ้นและในเชิงลึก เพราะลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่มองบริษัทเป็นโลจิสติกส์โซลูชั่น คือ ส่งของแล้วให้เก็บเอกสาร ถ่ายรูปกลับมาด้วย “ซึ่งไม่ใช่เรา” 

จึงเป็นโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการเข้าใจ “มาตรฐาน” การส่งส่งพัสดุของบริษัทได้ทันว่า ทำได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร เหมือนกับสายการบิน ที่เมื่อผู้โดยสารขึ้นเครื่องจะทราบว่าห้ามใส่แล็บท็อปในการโหลดกระเป๋าใต้ท้องเครื่องบิน พอเกิดความเสียหายลูกค้าจะมาโวยวาย โดยไม่ทำความเข้าใจก่อน หรือการที่ลูกค้าระบุว่า ให้วางพัสดุชิ้นนี้ไว้ด้านบนเวลาขนส่ง หากทุกรายระบุเหมือนกัน แล้วด้านล่างก็จะไม่มีของลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การขนส่งออนไลน์ที่มีผู้เล่นน้อย ธุรกิจดูเหมือนเป็นโอกาส แต่การจะส่งสินค้าทั่วไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการต้องลงทุนต่อเนื่อง การทำสเกลเล็กๆกินพื้นที่โซนกรุงเทพฯ อาจไม่ยาก แต่เมื่อไหร่ที่ขยายสเกลใหญ่ส่งทั่วไทย “มันเหนื่อย แต่เราโชคดีที่ลองผิดลองถูกมาพอสมควร ใช้เวลาระยะมาราธอนจนสามารถส่งสินค้าถึงระดับรากหญ้าได้”

เป็นอีกบริษัทด้านโลจิสติกส์ ให้บริการด้านคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า โรงงาน ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่มีพื้นที่กว่า2 ล้านตร.ม. ที่ขานรับการเติบโตของธุรกิจออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาคลังสินค้าทำให้ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และวางระบบในการนำสินค้าเข้าออกจากคลังให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค นั่นเป็นสิ่งที่ “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA บอกถึงหนึ่งในทิศทางการขยายธุรกิจของบริษัท

“เราเคยพูดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า เทรนด์ออนไลน์มาแล้ว” ดังนั้น การออกแบบสร้างศูนย์กระจาย และคลังจัดเก็บสินค้าจะต้องเปลี่ยนแปลง โดยพื้นที่การจัดเก็บจะน้อย รถเล็กออกง่าย เพราะผู้ค้าออนไลน์ต้องระบายสินค้าได้รวดเร็ว กระจายได้มากขึ้น รวมถึงการนำระบบไอทีเข้ามาช่วยเสริมการบริหารจัดการมากขึ้น เป็นต้น

ภาพรวม คือเป็น Cross Docking  หรือคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าซึ่งทั้งรับสินค้าและส่งสินค้าในเวลาเดียวกันโดยใช้เวลาไม่เกิน 24 ชม.

“เราต้องออกแบบให้คลังสินค้ารองรับการทำงานได้ตลอดเวลา”  ขณะเดียวกันยังมีบริการด้าน “Digital Platforms” ขึ้นมาโดยเฉพาะ ด้วยการตั้งทีมงานขึ้นมาเมื่อปี 2559 เพื่อทำหน้าที่เขียนซอฟต์แวร์ตอบสนองความต้องการลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเซ็นทรัล ที่พื้นที่คลังสินค้าราว 1 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) เพื่อรองรับบริการด้านออนไลน์ จากทั้งกลุ่มที่ใช้คลังสินค้าพื้นที่หลักแสนตร.ม.

ขณะที่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆยักษ์ใหญ่มีมากมายที่มาใช้บริการเช่าคลังสินค้าตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-Suit) และ Warehouse Farm ทั้งดีเอชแอล, สตาร์บัค, ยูนิลีเวอร์, ดูคาติ, ไทยเบฟเวอเรจ, เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (บีเจซี) และโอสถสภา เป็นต้น ซึ่งบางบริษัทเริ่มขยายธุรกิจออนไลน์มีเว็บไซต์เป็นหน้าร้านแล้ว 

จรีพร ยังประเมินว่า กระแสการชอปปิงออนไลน์จะมาเร็วขึ้น จากผู้เล่นเล็กใหญ่ เช่น Alibaba ยักษ์ค้าออนไลน์จากจีนที่มีการมีระบบจ่ายเงินออนไลน์ (e-payment) และนั่นจะเพิ่มโอกาสให้เกิดการ “บริโภค” ในช่องทางดังกล่าวขยายตัวมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้คลังและการจัดเก็บสินค้าโตขึ้นเป็นเงาตามตัว

ความคึกคักของคลังสินค้าแบบใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น กลับกันคลังสินค้าแบบเดิมก็ไม่เลือนหายไป เมื่อเศรษฐกิจฟื้น ตลาดกลับมาขยายตัว คลังแบบเดิมก็ขยายตัวได้เช่นกัน 

โดยเฉพาะจากนโยบายรัฐบาลที่หนุนการลงทุนให้เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

“ออนไลน์โตจริง แต่ถามว่าร้านช่องทางนี้สั่งของจากใคร ก็จากบริษัทต่างๆ ดังนั้นผู้ผลิตเหล่านี้ก็ยังต้องผลิตและส่งสินค้าแบบเดิมๆอยู่ และการเกิดอีอีซี จะทำให้ความต้องการคลังสินค้ามีเยอะมาก”

ขณะที่การพัฒนาคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้าในปัจจุบันจะเห็นผู้เล่น 2 แบบ คือ หากไม่ใช่ราชาที่ดิน (Landlord) เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทีซีซี กรุ๊ป ก็จะเป็นผู้พัฒนาอื่นๆแล้วปล่อยให้ผู้ประกอบการต่างๆมาเช่า เช่น เซ็นทรัล โอสถสภามาเช่าคลังของบริษัท เหล่านี้ช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้ลูกค้ามากขึ้น โดยที่ลูกค้าสามารถไปโฟกัสธุรกิจหลักของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่พะวักพะวน

อย่างไรก็ตาม ความทรงอิทธิพลของออนไลน์ ทำให้แผนธุรกิจปีนี้ บริษัทให้น้ำหนักในการ “ขยายคลังสินค้ารับออนไลน์” มากขึ้น และแผน 5 ปีจากนี้ จะเดินหน้าลงทุนขยาย 4 ธุรกิจ ผลักดันองค์กรก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมครบวงจรในระดับภูมิภาค

“ปีที่แล้วเป็นปีทองของดับบลิวเอชเอ ดีที่สุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา และแต่ละปีเราจะมีอะไรแปลกใหม่เสมอ โดยปีนี้เราหวังว่าจะเป็นปีแพลทินัมของเรา”

มาที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์อีกราย ที่แม้จะไม่ได้เน้นรับส่งสินค้าออนไลน์มากนัก ยังผูกปิ่นโตกับการส่งสินค้าในเครือสหพัฒน์ และยังไม่เน้นกระจายให้กับผู้ประกอบการและเข้าถึงผู้บริโภค “รายย่อย” แต่ “วิเชียร กันตถาวร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติคส์ จำกัด ในเครือสหพัฒน์ บอกว่า 

เริ่มปรับตัวเอาดีด้านส่งสินค้าออนไลน์บ้างแล้ว ทั้งสินค้าจาก www.thailandbest.in.th และยังมีรับขนส่งสินค้าและบริการให้กับบัตรเครดิตหลากราย เพื่อตอบสนองลูกค้าที่แลกคะแนนสะสมเพื่อรับของสมนาคุณต่างๆ

ปัจจุบันบริษัทส่งสินค้าสูงสุดประมาณ 5,000-6,000 กล่องต่อวันต่อคัน อาจดูน้อยเมื่อเทียบกับการส่งสินค้าออนไลน์ให้ลูกค้ารายย่อย และเข้าถึงบ้านเรือนต่างๆ อย่างไรก็ตาม การที่ออนไลน์มีอิทธิพลต่อการค้าและการซื้อของผู้บริโภค บริษัทได้เปิดรับบริการส่งถึงบ้านเรือนมากขึ้น โดยทุกวันศุกร์ หากลูกค้านำสินค้ามาให้บริษัทส่งตามเวลาที่กำหนด บริษัทจะส่งสินค้าถึงปลายทางในวันหยุดทันที นั่นส่งผลให้วันเสาร์-อาทิตย์ ยอดบริการมีความคึกคักไม่น้อย

เขาบอกอีกว่า หากบริษัทเพิ่มโอกาสรับส่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น ในอนาคตการเติบโตก้าวกระโดดย่อมมีให้เห็น เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันโลจิสติกส์ที่ส่งสินค้าออนไลน์มีอัตราการเติบโตสูงระดับ 100% ต่อเนื่อง

ขณะที่ผู้เล่นที่ส่งสินค้าออนไลน์ในตลาดก็มีไม่มากนัก เจ้าใหญ่ๆแน่นอนว่าเป็น “ไปรษณีย์ไทย” และยังมีเคอรี่ ลาซาด้า ซึ่งสินค้าบางรายการส่งถึงลูกค้าเองโดยอาศัยรถจักรยานยนต์ และแมวดำ หรือ เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง SCG CBM กับ Yamato Asia เพื่อรุกธุรกิจขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน แต่รายหลัง เขามองว่ายังไม่แอคทีฟมากนัก

อีกหนึ่ง “ยักษ์ใหญ่” ของวงการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ที่มีเครือข่ายร้านค้ากว่า 1 แสนทั่วประเทศครอบคลุมห้างโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าทั่วไป โดยเน้นกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคและทำรายได้ในไทยกว่า 1.2 แสนล้านบาท 

ด้าน “มร.เลียวนาด ตัน” รองประธานกรรมการบริหาร หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด บรรษัทข้ามชาติในธุรกิจกระจายสินค้ารายใหญ่ในไทยและเอเชีย ระบุว่า เมื่อตลาดออนไลน์เติบโตมากขึ้นบริษัทก็ต้องเตรียมตัวรับความต้องการในอนาคตเช่นกัน

โดยกว่า 1 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เป็นพันธมิตรอย่าง “aCommerce.asia” ผู้ให้บริการโซลูชั่นอีคอมเมิร์ซครบวงจรที่มีตลาดครอบคลุมอาเซียน เข้ามารุกธุรกิจออนไลน์ในไทย

นอกจากนี้ การคร่ำหวอดด้านการกระจายสินค้าในไทยมาถึง 110 ปี ยังทำให้ต้องเพิ่มน้ำหนักการลงทุนด้านพื้นฐานสาธารณูปโภค เทคโนโลยี ดึงศาสตร์และศิลป์ด้านโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลกมาใช้ การอบรมพนักงานให้มีทักษะมากขึ้น เป็นต้น

“ออนไลน์มีผลต่อการกระจายสินค้า เพราะเราเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โดยตลาดดิจิทัลสำคัญมาก ช่องทางการค้าออนไลน์มีการเติบโตสูง เป็นช่องทางการเติบโตอนาคต เราจึงร่วมกับเอ คอมเมิร์ซ ผู้เล่นในตลาดออนไลน์ เพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งการทำงานร่วมกันกว่า 1 ปี ถือว่าลงตัวมาก”

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจในไทยมายาวนาน บริษัทอาจไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มมากนัก เว้นแต่พัฒนาสิ่งที่ตลาดต้องการบ้าง แต่สิ่งที่มีอยู่เดิมสามารถเดินหน้าทำงานได้ทันที โดยปัจจุบันในส่วนของคลังสินค้าของบริษัทมีทั้งสิ้น 12 แห่ง รวมพื้นที่ 1.7 แสนตร.ม. ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้จำนวนมาก

--------------------------------

“น้ำท่วม”กระเทือนขนส่งภาคใต้

สถานการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคใต้ ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อการส่งสินค้า โดย “วราวุธ นาถประดิษฐ์” ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า รถที่ส่งพัสดุของบริษัทบางส่วนติดที่บริเวณที่สะพานขาด อ.บางสะพาน ซึ่งหลังการซ่อมแซมสะพานแล้วเสร็จ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าส่งพัสดุตามเดิม

ทั้งนี้ สินค้าที่ต้องการการส่งอย่างรวดเร็ว ก็จะมีการส่งทางเครื่องบินเพื่อบรรเทาปัญหาบางส่วน

ขณะที่ “วิเชียร กันตถาวร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ ดิสทริบิวชั่น แอนด์ โลจิสติคส์ จำกัด กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าบริเวณจ.ชุมพรและนครศรีธรรมราช ทำให้ต้องใช้เส้นทางอ้อมไปจังหวัดระนองแทน ซึ่งทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าไปประมาณ 10 ชั่วโมง จากปกติจะส่งสินค้าถึงจุดหมายภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม หากสินค้าที่มีความจำเป็นต้องส่งเร่งด่วน ก็จะมีการใช้บริการขนส่งทางอากาศแทน ซึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าว คาดว่าจะไม่กระทบต่อรายได้บริษัทในปีนี้ เพราะเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น สำหรับพื้นที่ภาคใต้มีสัดส่วนการขนส่งและกระจายสินค้าประมาณ 20-25%

“ตอนนี้ความจำเป็นในการส่งสินค้าไปยังพื้นที่ภาคใต้คืออาหาร และสิ่งของจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนการขนส่งสินค้ามีความล่าช้าบ้าง แต่โดยรวมจะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน และเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงสั้นๆ และคาดว่าภายใน 5-7 วัน สถานการณ์ส่งสินค้าจะกลับมาปกติได้”

ที่มา : bangkokbiznews

ภาพประกอบจาก : logistics2day

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร