Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

สนง.เขตพญาไท ถกเครียด ค้านคอนโดประชารัฐ “พหลโยธิน 11”

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

นางกนกรัตน์ พันธ์นรา ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธา, กรมธนารักษ์, เจ้าหน้าที่ทหาร, เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชุมร่วมกับชาวบ้านกลุ่มชมรมอนุรักษ์พญาไท ซอย 5, 7, 9, 11 และบริเวณข้างเคียง นำโดยนายสมวงศ์ โปษยานนท์ ประธานชมรม เพื่อหารือถึงสภาพความเป็นอยู่ กิจกรรมในพื้นที่เขตพญาไท รวมถึงพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหา หลังจากชมรมฯ ได้ร้องเรียนขอให้พิจารณาทบทวนโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐซอยพหลโยธิน 11

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องที่จอดรถในชุมชนและละแวกใกล้เคียงที่มีไม่เพียงพอและคับแคบ การขายของบนทางเท้าจนไม่มีที่ให้เดิน รวมถึงการก่อสร้างหลายโครงการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่มีอยู่ และในเวลากลางคืนมีเสียงการก่อสร้างและฝุ่นละอองจำนวนมาก ขณะเดียวกันย่านดังกล่าวจะมีธุรกิจซ่อมแอร์ ซ่อมรถจักรยานยนต์ พ่นสี และร้านอาหารเกิดขึ้นมากมาย จำนวนขยะจึงเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับถังขยะที่มีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องวางบนฟุตปาท ทำให้คนต้องลงไปเดินบนถนน เสี่ยงต่อการถูกรถชน

ระหว่างการประชุมเกิดการถกปัญหาเกี่ยวกับการอนุมัติให้มีการสร้างคอนโดมิเนียมสูง ผิดพ.ร.บ.อาคารก่อสร้างของโครงการต่างๆ ซึ่งหนึ่งในรายละเอียดเป็นเรื่องกฎหมายพ.ร.บ.อาคารก่อสร้าง อาทิ เรื่องการวัดความสูงของอาคาร และการวัดพื้นที่รอบอาคาร ซึ่งไม่ตรงกัน โดยทางชมรมได้แนะวิธีการวัดแก่เจ้าหน้าที่เขตฯ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มีการสร้างคอนโดสูงใกล้ชุมชนมาก ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างบ้านของประชาชนหลายหลัง ตั้งแต่การลงเสาเข็มที่ทำให้บ้านหลายหลังมีรอยร้าวตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นบน จนเป็นเหตุให้บางหลังต้องรื้อถอน เนื่องจากได้รับความเสียหายทางโครงสร้าง

ขณะที่ซอยพหลโยธิน 11 ถนนที่มีต้นไม้ตลอดสายให้ความร่มรื่น แต่เมื่อมีการเตรียมการสร้างอาคารของกรมธนารักษ์ ต้นไม้ถูกตัดไปแล้ว 5 ต้น ซึ่งหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเพราะพื้นที่เขตพญาไทมีความเจริญ โดยทางชมรมอยากบอกว่าตอนนี้ไม่ได้มองว่าเขตพญาไทมีความเจริญแล้ว แต่กลับมองว่าเป็นความแออัด โดยชมรมต้องการความสะอาด ชีวิตความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิตแบบปกติกลับคืนมา

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมก่อสร้างคอนโดหรู ห่างจากที่ทำการสำนักงานเขตพญาไทเพียง 100 เมตร ยึดทางเท้าสาธารณะเป็นที่ก่อสร้าง และยังนำรถมาจอดริมถนนจำนวนมาก และยังเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยปล่อยขยะและดินโคลนลงท่อระบายน้ำอีกด้วย

นายสมวงศ์กล่าวว่า “อยากขอความมั่นใจว่าถ้ามีคอนโดสูงเกินกฎหมายกำหนด อยากทราบว่าทางเจ้าหน้าที่เขตฯ จะมีมาตราการอย่างไรให้ประชาชนมั่นใจ และก่อนที่ผอ.เขตที่จะอนุมัติโครงการ 8 ชั้น ขอให้ทำเป็นมาตราการเป็นหนังสือทางการว่าจะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มความมั่นใจ ทั้งนี้ความตั้งใจที่แท้จริงพวกตนคือมาช่วยผอ.เขต ไม่ได้มีเจตนาจะมาทะเลาะ แต่อยากมาช่วยแก้ปัญหา”

ขณะที่นางกนกรัตน์ ผอ.เขตฯ กล่าวว่า “ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ให้มาเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นเสียงสะท้อนปัญหาที่แท้จริง โดยเรามีพี่เลี้ยงทั้งหน่วยงานจากกรุงเทพฯ สมาชิกสภากรุงเทพฯ สำนักการโยธา ควบคุมอาคาร สำนักการผังเมือง สำนักการระบายน้้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง ซึ่งทำงานร่วมกับตำรวจสน.บางซื่อ เจ้าของพื้นที่ด้วย ทั้งนี้มีโครงการจับรถเร่ขายของเสียงดังตามที่ชาวบ้านร้องเรียน โดยทำร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ และสน.บางซื่อซึ่งทำให้ลดน้อยลงแล้ว

“นอกจากนี้ยังมีการจัดการผู้ค้าบนทางเท้า อยู่ระหว่างทยอยจัดการทีละส่วน ทีละสถานที่ เพื่อให้เวลาผู้ค้าที่ทำมาหากินในการติดต่อร้านค้า หรือตลาด ในส่วนของอาคารที่ร้องเรียนมานั้น เราจะเร่งตรวจสอบอาคารที่ชมรมกล่าวมา ซึ่งจากที่ฟังตนพบว่าเป็นปัญหามาช้านาน ยืนยันเจ้าหน้าที่เขตฯ ไม่นิ่งนอนใจ เรามีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขประชาชน และจะนำความสะดวกสะอาดตามที่ประชาชนบอกว่าหายไปกลับคืนมา”

น.ส.ชุติมา ศรีปราชญ์ ตัวแทนกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า “โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐซอยพหลโยธิน 11 เกิดขึ้นเพื่อให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยได้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว แต่เดิมที่ดังกล่าวเป็นโรงกษาปณ์ เมื่อย้ายไปเราก็ขอใช้พื้นที่ เนื่องจากสภาพตรงนั้นทรุดโทรมมาก จึงต้องการปรับปรุงและบูรณะใหม่ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายรัฐอยากให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัย ก็เล็งเห็นว่าเจ้าหน้าที่เราเองก็ไม่มีที่อยู่อาศัยในกทม. แทนที่จะให้เอกชนนำที่ไปสร้าง เราก็น่าจะดูแลคนของเราเอง โดยคิดอัตราค่าเช่าไม่เกิน 4,000 บาท และกำหนดไม่ให้อยู่เกิน 5 ปี เพราะเกรงว่าจะเหมือนข้าราชการทั่วไปที่อยู่ครั้งเป็นข้าราชการระดับล่าง แต่เมื่ออยู่ก็อยู่นานไปจนถึงระดับสูง ซึ่งจะไม่ได้ช่วยเหลือข้าราชการชั้นผู้น้อยที่แท้จริง อย่างไรก็ตามเรื่องจราจรที่ิติดขัดนั้น ขอชี้แจงว่าได้มีการตรวจสอบ อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงเรื่องอาคารด้วย

“ทั้งนี้ไม่ทราบว่ามีการร้องเรียนกรณีที่ให้เอกชนมารื้อถอนสิ่งก่อสร้าง เพราะบริษัททำให้เกิดฝุ่น รบกวนด้านเสียง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ขณะนี้เหลือส่วนของการรื้อถอนแทงค์น้ำ จะกำชับกับบริษัทให้ระมัดระวัง และดำเนินการให้เรียบร้อยที่สุด และจะให้เบอร์โทรศัพท์กรมธนารักษ์ไว้ เผื่อมีอะไรให้แจ้งความเดือดร้อนได้เลย แต่ยอมรับว่ามีการเปิดการรับจองและลงชื่อแล้วจริง ในส่วนของการจราจรที่ประชาชนเกรงว่าจะติดขัดนั้นขอชี้แจงว่า จากโครงการดังกล่าวจะใช้ทางเข้าและออกเป็นซอยพหลโยธิน 11 และถนนประดิพัทธ์ 6 โดยได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอใช้พื้นที่ในการระบายรถ กรณีมีจราจรติดขัดด้วย”

ตลอดระยะเวลาการชี้แจงนั้นเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด เนื่องจากทางชมรมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พยายามซักถามหลายๆ ประเด็น ซึ่งเมื่อตัวแทนกรมธนารักษ์ได้ตอบคำถาม ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ และขอให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย พร้อมเสนอแนะให้ใช้ที่จุดอื่นสร้างแทน กระทั่งเกิดการถกเถียงกันอย่างเคร่งเครียด จนทางตัวแทนกรมธนารักษ์ขอเวลากลับไปรายงานผู้บังคับบัญชา โดยจะใช้ห้องประชุมของสำนักงานเขตพญาไทในการมาประชุมหารือกันในครั้งต่อไป


 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

บทความที่แนะนำ:

คอนโดฯ ย่านทำเลฮอตใกล้ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

อึ้ง! "หลังสวน" แซง "เพลินจิต" ที่ดินวาละ 5 ล้าน!!

ไฟเขียว! ขยายถนนราชพฤกษ์ช่วง "จรัญ 13-คลองมหาสวัสดิ์" พร้อมใช้ พ.ค. ปีนี้

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร