Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

The Cicada Market

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

“ถนนคนเดิน” จะว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับวันนี้เห็นจะไม่ใช่ แต่เมื่อย้อนนึกถึงพัฒนาการของแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัดที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน ได้เห็นความแตกต่างของบริบท ตั้งแต่สินค้าที่วางขาย ผู้คนที่ค้าขายและเดินจับจ่ายใช้สอย ไปจนถึงบรรยากาศโดยรอบ จากลักษณะทางกายภาพ ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนแล้วก็มีคำถามในใจว่า ทำไมคนถึงชอบไปกินไปใช้เงินใช้เวลาในที่ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “ตลาดนัด” กัน หากย้อนรอยประวัติความเป็นมาคงใช้เวลาไม่น้อย ดังนั้นจึงขอตัดตอนมาที่วันนี้ที่มี “ตลาดนัด” ผุดขึ้นกลางเมืองของแทบจะทุกจังหวัด เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เรียกกันว่า "การท่องเที่ยว" ถึงตรงนี้คงไม่น่าแปลกใจกันนักว่าทำไม “ถนนคนเดิน หรือตลาดนัดคนเมืองจึงผุดขึ้นมากันมากมาย

ที่จริงตลาดนัดกับคนไทยเป็นของคู่กันมานาน แต่เป็นแหล่งจับจ่ายของบริโภค อุปโภค ราคาย่อมเยาในชุมชนที่จัดกันนานๆ ครั้ง ตลาดนัดที่ใหญ่มากๆ สมัยก่อนอยู่ที่สนามหลวงซึ่งย้ายมาปักหลักที่จตุจักรในปัจจุบัน เสน่ห์ของสถานที่เหล่านี้เห็นจะเป็นแหล่งรวมสินค้าที่หาไม่ได้ตามห้างสรรพสิค้า ของเก่าที่หายาก ของแฮนด์เมดหรือแม้แต่ของมือสองคุณภาพดี จากวันนั้นจนวันนี้ทำให้มองเห็นได้ว่าผู้คนไม่ได้เปลี่ยนไป ยุคสมัยอาจทำให้รูปแบบของแหล่งรวมการค้าขายเปลี่ยนไปบ้างแต่ก็ยังตอบสนองความต้องการของผู้คนในเรื่องการมองหาความแตกต่างให้กับชีวิต อย่างในกรุงเทพมหานครอาจมีตลาดนัดแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่ตอบสนองวิถีชีวิตคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกินหรือสินค้าแทบจะเหมือนๆ กัน แต่แตกต่างกันที่บรรยากาศของสถานที่และสภาพแวดล้อมโดยรอบ ที่ทำให้การใช้เวลาว่างของคนเมือง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีสีสันมากขึ้น

แต่ถ้าเป็นในจังหวัดต่างๆ สินค้าและบรรยากาศสภาพแวดล้อมก็จะมีอัตลักษณ์ของจังหวัดนั้นๆปะปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม สินค้าพื้นเมืองประจำท้องถิ่นจะถูกนำเสนออย่างจงใจ แต่ก็สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นจากการท่องเที่ยวได้เป็นกอบเป็นกำ การสร้างธีมให้กับสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้เป็นกลยุทธ์ที่ท้องถิ่นต้องสร้างร่วมกับชุมชนเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ตามที่ต้องการ

ตลาดจักจั่น หรือ The Cicada Market เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็นตลาดนัดที่ประสบผลสำเร็จทางการตลาดภายใต้แนวคิด “Open Mind & Open Mat: เปิด เสื่อ-เปิดใจ-เปิดไอเดีย” ที่มีผู้คนเข้ามาใช้บริการเนืองแน่นทุกๆ สัปดาห์ สร้างสรรค์ขึ้นโดยอาศัยการบูรณาการระหว่างศิลปะกับไลฟ์สไตล์เชื่อมโยง นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และชุมชนเข้าด้วยกัน ให้ตอบสนองและสามารถเข้าถึงกันได้อย่างมีเสรีภาพ ท่ามกลางบรรยากาศ Tropical Garden ด้วยพันธุ์ไม้งาม อายุร่วมร้อยปีบนพื้นที่เกือบ 10 ไร่ของหัวหิน ซึ่งสวนแห่งนี้เป็นบ้านพักตากอากาศอายุเก่าแก่กว่า 60 ปี ของ "หลวงยุกตเสวีวิวัฒน์" บิดาของ "ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิช" และ "สุพัฒนา อาทรไผท" โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อสร้างพื้นที่ถาวรสำหรับแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่นัดพบระหว่างผู้ซื้อและผู้สร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะให้เกิดรายได้กับกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ศึกษาทางด้านศิลปะมีพื้นที่ในการแสดงผลงาน แก่สาธารณชนมากขึ้น

น่าสนใจทีเดียวนะคะจากแนวคิดทางสังคมก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภาพสวยงามของความตั้งใจแต่เดิมเพื่อสร้างความสุขให้ชุมชน จนปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น แต่ก็ยังมีร่อยรอยความงดงามทางศิลปะเหลืออยู่ ก็ได้แต่หวังว่าโครงการต้นแบบดีๆ จะเป็นตัวอย่างให้กับท้องถิ่นอื่นๆ จะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในเชิงธุรกิจจนไม่เหลือเค้าเดิมเหมือนหลายๆ พื้นที่เผชิญปัญหาอยู่ แวะชื่นชม “ตลาด” ของคนอื่นกันแล้วอย่าลืมหันมามอง “ตลาด” ของชุมชนเรากันบ้างก็ดีนะคะ

 

ที่มาของ Cicada (จั๊กจั่น)

Community of Identity Culture Art and Dynamic Activities

Community     การรวมตัวของชุมนุมชนโดยมีวัตถุประสงค์

Identity           อัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะอันโดดเด่น

Culture           วัฒนธรรม วิถีความเป็นอยู่

Art                ศิลปะทั้งปวง

Dynamic        พลวัต หรือการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

Activities        กิจกรรม การแสดงออกอันหลากหลาย

 

ขอขอบคุณข้อมูล

www.hua-hin.org/attractions/cicada_market.html

www.cicadamarket.net

 

ผู้เขียน : มัลลิกา บุณฑริก

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

สถาปนิกที่หลงไหลการถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้และประสบการณ์ในชีวิต

มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม และภาพลักษณ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร