Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ตรวจงานเดินท่อน้ำประปา ต้องรู้และดูอะไรบ้าง?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ปัญหาเรื่องน้ำรั่วหรือท่อน้ำแตก ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับบ้านของเราอยู่เหมือนกันนะครับ แล้วจะทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป คำตอบคือ เราอาจจะต้องตรวจการเดินท่อประปากันตั้งแต่แรกก่อสร้างบ้านเลยทีเดียว เพื่อควบคุมดูแลให้ช่างทำงานได้อย่างถูกต้อง เดินท่อได้สวยงาม เลือกใช้ท่อให้ถูกประเภท และไม่มักง่ายในการทำงาน

Baania ขอแนะนำการตรวจการเดินท่อประปา เผื่อใครที่กำลังจะต่อเติมหรือซ่อมแซมท่อน้ำประปาในบ้าน จะได้รู้ว่าต้องดูที่จุดไหน อย่างไรนะครับ

ทำความรู้จักท่อประปาที่ใช้กัน

ท่อที่ใช้สำหรับงานประปานั้นมีด้วยกันหลายชนิด ได้แก่ ท่อประปาเหล็กอาบสังกะสี, ท่อพีวีซี (PVC - Polyvinyl chloride), ท่อไซเลอร์ (Syler), ท่อพีพีอาร์ (PPR - Polypropylene Random Copolymer) และ ท่อพีอีเอทิลิน (PE – Poly Ethylene) ซึ่งแต่ละชนิดมีการใช้งานและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน สำหรับท่อที่นิยมใช้กันในบ้านคือท่อพีวีซี เนื่องจากมีราคาไม่แพงมากนัก ต่อท่อทำงานได้ง่าย และพีวีซีเองก็เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีความทนทาน ขึ้นรูปง่าย มีความยืดหยุ่นสูง สำหรับท่อพีวีซีที่เหมาะกับการส่งน้ำในบ้านมี 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่

1. ท่อพีวีซีสีฟ้า นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย มีความยืดหยุ่นปานกลาง มีความแข็งในระดับสูง โดยมีความหนา ขนาด 13.5, 8.5, และ 5 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าเป็นท่อที่ใช้กับปั้มน้ำควรมีความหนามากที่สุดเพื่อให้ทนแรงดูดและแรงดันของปั้มได้ดี อย่างไรก็ตามท่อพีวีซีไม่ได้มีการเติมสารกันไฟผสมเข้าไปในเสื้อพีวีซี ทั้งยังไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ดังนั้นไม่ควรนำท่อพีวีซีสีฟ้ามาใช้เดินสายไฟ ควรใช้ท่อพีวีซีสีเหลืองที่ใช้สำหรับการเดินสายไฟโดยเฉพาะดีกว่า

2. ท่อพีวีซีสีเทา นิยมใช้ในระบบส่งน้ำทางการเกษตรหรือระบบส่งน้ำที่ไม่พิถีพิถัน เนื่องจากมีราคาถูก แต่มีความบาง มีความยืดหยุ่นน้อย ถ้างอแล้วจะผิดรูปทันที อย่างไรก็ตามไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในระบบส่งน้ำในบ้านเนื่องจากไม่มีความทนทานเพียงพอ อีกทั้งห้ามนำไปใช้กับการร้อยสายไฟด้วย เพราะท่อพีวีซีสีเทาจะติดไฟง่ายมาก เมื่อโดนความร้อนก็จะเกิดการหดตัวอีกด้วย

ท่อพีวีซีสีฟ้าที่นิยมใช้กัน

ตรวจวัสดุก่อนเดินท่อ

เริ่มต้นให้ตรวจวัสดุและคุณภาพของท่อที่ผู้รับเหมาซื้อมา ต้องเป็นท่อที่ใช้งานได้ตามมาตรฐานที่กำหนด และต้องเป็นมีสภาพใหม่ ไม่มีรอยแตกหรือชำรุด สีต้องไม่หมองจากสีปกติ เพื่อป้องกันการได้ท่อที่เก็บไม่ถูกต้องทำให้สีซีด และอาจทำให้ท่อกรอบและแตกได้ง่าย บนท่อควรมีการประทับข้อความบนตัวท่อเป็นระยะๆ ที่ระบุยี่ห้อหรือบริษัทผู้ผลิต มีตัวเลขบอกความหนาของท่อ หรือบอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และควรมีเครื่องหมายรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ด้วย

ตรวจดูการเลือกชนิดของท่อ

ต่อมาให้ตรวจว่าช่างได้เตรียมท่อที่เหมาะสมกับการทำงานแต่ละจุดถูกต้องหรือไม่ โดยท่อน้ำดีและท่อน้ำทิ้งที่เป็นอุณหภูมิปกติสามารถใช้ท่อพีวีซีแบบธรรมดาได้เลย แต่ถ้าเป็นท่อน้ำร้อนต้องใช้ท่อทองแดงหรือท่อ PPR ที่สามารถใช้ได้ทั้งกับน้ำเย็นและน้ำร้อน ส่วนท่อที่ต้องทนกับแรงดันมากๆ อาจจะใช้ท่อเหล็กที่ทนทานมากกว่า ตรงนี้อาจจะสอบถามผู้เชี่ยวชาญในบางจุดที่สงสัยหรือดูจากคู่มือคุณสมบัติของท่อประเภทนั้นๆก็ได้ครับ

ส่วนท่อน้ำร้อนที่เชื่อมระหว่างตัวเครื่องทำน้ำร้อนกับวาล์วควบคุมการเปิดและปิดน้ำร้อนที่อยู่ด้านล่างตรงอ่างอาบน้ำควรใช้ท่อเหล็กแทนการใช้ท่อพีวีซี เนื่องจากท่อพีวีซีอาจละลายเนื่องจากความร้อนของน้ำ

ค้นหา บ้าน - คอนโด ในชลบุรี

ตรวจดูความหนาและขนาดของท่อ

ให้ตรวจดูว่าช่างได้เลือกความหนาและขนาดของท่อที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยที่ ท่อพีวีซีมีความหนาขนาด 13.5, 8.5, หรือ 5 มิลลิเมตร สำหรับท่อน้ำโดยทั่วไปใช้ความหนา 8.5 มิลลิเมตรก็แข็งแรงเพียงพอแล้ว ยกเว้นในจุดที่ท่อต้องรับแรงดันน้ำมากๆ อย่างเช่น จุดที่ต่อจากปั้มน้ำ ควรใช้ความหนา 13.5 มิลลิเมตรจะทนทานกว่า

ส่วนการเลือกขนาดของท่อก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะมีผลต่อความทนทานและความแรงของน้ำ ให้ตรวจดูว่าช่างเลือกใช้ขนาดของท่อที่ลดหลั่นจากจุดมาตรวัดน้ำ หรือ ท่อที่ต่อจากปั้มน้ำจากท่อขนาดใหญ่ไปเล็กได้อย่างถูกต้อง โดนที่ให้เริ่มดูขนาดท่อจากท่อส่งน้ำของมาตรวัดน้ำ หรือ ท่อส่งน้ำของปั้มว่าใช้ขนาดเท่าไหร่ โดยปกติจะใช้ท่อเริ่มต้นที่ 1 1/2 นิ้ว - 1 นิ้ว (8 หุน) แล้วจึงใช้ท่อต่อลดเป็นขนาดเล็กลง เพื่อรีดให้น้ำส่งต่อไปส่วนต่างๆของบ้านได้ โดยท่อน้ำดีนั้นจะใช้ท่อขนาด 3/4 นิ้ว (6 หุน) และท่อแยกเข้าสุขภัณฑ์ต่างๆ จะใช้ท่อขนาด 1/2 นิ้ว (4 หุน) หรือตามที่คู่มือผลิตภัณฑ์ระบุ ส่วนท่อน้ำทิ้งจะใช้ท่อขนาด 1 1/2 - 2 นิ้ว และควรมีการทำลาดเอียงไว้ด้วย ส่วนท่อโสโครกจะใช้ท่อขนาด 4 นิ้วและต้องมีการทำลาดเอียงไว้ด้วยเช่นกัน

ตรวจการทำงานระหว่างเดินท่อประปา

เมื่อถึงขั้นตอนเดินท่อ ให้ตรวจการทำงานของช่างว่ามีฝีมือและมาตรฐานในการทำงานดีหรือๆไม่ เช่น การต่อท่อพีวีซีต้องเช็คทำความสะอาดก่อนทาน้ำยาประสาน การตัดและต่อท่อมีการวัดระยะและใช้เครื่องมืออย่างถูกต้อง

ทั้งนี้การเดินทางท่อควรเดินท่อให้สั้นที่สุด หรือควรจะเดินท่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ระวังเจอช่างที่มักง่ายเลือกต่อท่อตามท่อที่ซื้อมาแล้วไม่พอดี ทำให้การเดินท่อที่มีการต่อท่อแบบแปลกๆ ดูไม่เป็นระเบียบ และไม่ได้ระยะความยาวท่อที่เหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งนี้ช่างควรต้องมีการวางแผนก่อนการเดินท่อ ไม่ควรเดินท่อไปแล้วคิดไปแก้ไขไป เพราะจะกลายเป็นการเดินท่อแล้วหลบโครงสร้างไปมาทำให้ต้องใช้ข้องอมากเกินไปซึ่งจะส่งผลต่อแรงดันของน้ำ และเมื่อเดินท่อเสร็จ ก่อนที่จะต่อกับสุขภัณฑ์ต้องทำหัวอุดท่อเพื่อป้องกันเศษวัสดุ เศษปูน และสิ่งสกปรกลงไปในท่อ

สำหรับการเดินท่อน้ำแบบฝัง ก่อนที่จะมีการเทพื้นหรือฉาบผนัง ต้องให้ช่างทดสอบการไหลของน้ำและตรวจดูรอยรั่วว่าอยู่ในสภาพดีไม่มีการรั่วซึม เพราะเมื่อฉาบแล้วจะทำให้การซ่อมแซมทำได้ยากมาก

การเดินท่อประปาใต้พื้น

ตรวจดูจุดที่สำคัญ

การต่อท่อในบางจุด ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ ถ้าได้ผู้รับเหมาที่ไม่มีความรู้ หรือสถาปนิกผู้ออกแบบระบบสุขาภิบาลไม่แม่นพออาจจะเดินท่อได้ผิดพลาด

เราอาจจะเริ่มตรวจจากจุดมาตรวัดน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำจากภายนอกบ้านจะเข้าสู่บ้านของเรา โดยตรงมาตรวัดน้ำต้องมีวาล์วหรือประตูน้ำ ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่ บอลวาล์ว และ เกทวาล์ว ซึ่งต้องมีติดตั้งกับท่อส่งน้ำทั้งก่อนและหลังมาตรวัดน้ำ และถ้าในระบบมีปั้มน้ำก็ต้องมีวาล์วติดตั้งกับท่อส่งน้ำทั้งก่อนและหลังเช่นเดียวกัน การตรวจชุดระบบนี้ก็ดูว่ามีการเดินท่อที่วางเป็นระเบียบเรียบร้อยหรือไม่ มีการติดตั้งวาล์วครบถ้วนและใช้งานได้ปกติ ปั้มน้ำสามารถใช้งานได้ปกติ

ต่อมาก็ให้ไปตรวจการติดตั้งสุขภัณฑ์ว่ามีการใช้งานได้ปกติหรือไม่ กล่าวคือน้ำดีสามารถส่งถึงอุปกรณ์ในห้องน้ำได้ด้วยแรงดันปกติ และสามารถระบายน้ำไปยังท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครกได้โดยไม่อุดตัน ทั้งนี้ท่อโสโครกเป็นท่อใหญ่ที่ต่อจากโถส้วมและโถปัสสาวะ ซึ่งต้องแยกออกจากกันเพื่อป้องกันกลิ่นจากท่อโสโครกเข้ามาในระบบน้ำทิ้งซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ย้อนมาตามท่อได้

หลังจากที่มีการเดินท่อน้ำและต่อเข้ากับสุขภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ให้ตรวจสอบระบบโดยการปิดก็อกทั้งหมด แล้วไปดูที่มาตรวัดน้ำ ถ้าตัวเลขยังขยับอยู่ อาจจะเกิดการรั่วซึมขึ้นได้ ก็ให้ช่างตรวจหาจุดที่รั่วเพื่อซ่อมแซมต่อไป ถ้าระบบน้ำประปาทุกอย่างใช้งานได้โดยไม่พบน้ำหยดที่ไหน และเลขมาตรวัดน้ำไม่ขยับก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยครับ

ค้นหา บ้าน - คอนโด ในกรุงเทพ

การตรวจการเดินท่อประปาอาจจะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสักหน่อย เพราะต้องติดตามการทำงานของช่างตั้งแต่ต้นจนจบ และต้องคอยทดสอบการทำงานอยู่เสมอ แต่เชื่อเถอะครับว่าเหนื่อยตอนนี้คงจะดีกว่า เพราะถ้าเกิดการรั่วซึมในจุดที่มองไม่เห็นนี่ การซ่อมแซมจะเป็นเรื่องที่ยากน่าดูเลยทีเดียว อย่าลืมว่าปัญหาเรื่องน้ำรั่วอาจดูเหมือนจะเล็กๆ แต่ก็อย่าปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นปัญหาใหญ่นะครับ ถึงตอนนั้นคงไม่มีใครอยากให้เกิดฝนตกในบ้านหรือฝ้าถล่มลงมาหรอกจริงไหมครับ

ส่วนใครที่กำลังจะโอนบ้านใหม่ ลองดูบทความ Checklist ตรวจรับบ้านก่อนโอนได้ที่ลิ้งก์ด้านล่างนี้นะครับ

ดูบทความ Checklist ได้ที่นี่

ที่มา:

หนังสือ การเดินท่อน้ำและติดตั้งระบบประปา โดย อ.เลื่อน พุทธกฤษณ์
https://www.mwa.co.th
http://www.richiehouses.com
https://www.thaippr.com
http://202.129.59.73/tn/May/water2.htm

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร