Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ไกรสร ฉัตรเลขวนิช แท็กทีม ม.บูรพา ดันงานวิจัยสู่พาณิชย์

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

“เอฟ-ไกรสร ฉัตรเลขวนิช” ประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ YEC ชลบุรี และรองประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นสมาชิก YEC ให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า เริ่มจากการที่ “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล” ประธาน YEC ชลบุรีคนเก่าที่เพิ่งหมดวาระไป ได้ชักชวนให้เข้ามาเป็นสมาชิก และด้วยความสนิทสนมส่วนตัวจึงตัดสินใจเข้ามาร่วมและได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ วายอีซี รวมถึงเข้าไปประชุมกับหอการค้า

โดยหลังจากเข้าคอร์สอบรมสำหรับ YEC ทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 สัปดาห์กว่า เป็นจุดที่ทำให้เริ่มเข้าใจหอการค้า ซับซึมวัฒนธรรม และผูกพันมากขึ้น ปัจจุบันวายอีซีมีสมาชิกทั้งหมด 68 คน ในฐานะนักธุรกิจ ปัจจุบัน “ไกรสร” เข้ามาสานต่อธุรกิจหลักของครอบครัวต่อจากพ่อแม่ที่เริ่มวางมือแล้ว ดูแลร่วมกับพี่น้อง 5 คน โดยธุรกิจหลักคือบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่เปิดดำเนินการมากว่า 40 ปีแล้ว และตลาดหลักคือในประเทศเกือบ 100% กลุ่มลูกค้าเป็นไซซ์กลางถึงใหญ่

ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ก็จะมีภูรัญญา รีสอร์ต ที่เขาใหญ่ มีประมาณ 120 ห้อง ทำมาประมาณ 4-5 ปี รับลูกค้ากลุ่มราชการ จัดประชุม งานแต่งงาน พวกเอ็มแอลเอ็ม เอาติ้ง และเด็กสอบในภาคอีสาน โดยดิวกับภาครัฐให้เป็นพื้นที่สอบ เนื่องจากมีหอประชุมที่จะจุได้ประมาณ 1,000 คน พื้นที่ปะมาณ 10 ไร่ ตอนนี้เพิ่งรีโนเวตไปให้มีห้องหลายระดับ ทั้งหมด 15 ห้อง และอพาร์ตเมนต์ให้เช่าที่กรุงเทพฯ หัวกระบือ และชลบุรี รับกลุ่มแรงงาน

ขณะเดียวกันในฐานะประธานวายอีซี แม้ว่าจะเข้ารับตำแหน่งใหม่หมาด แต่ด้วยบทบาทในจังหวัดที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอีอีซีที่กำลังขับเคลื่อนขนานใหญ่ ทำให้ตอนนี้ในฐานะหัวเรือใหญ่ของภาคเอกชนรุ่นเล็กจึงต้องทำงานให้เข้มข้นขึ้น โดยมีโปรเจ็กต์ที่โฟกัสเป็นพิเศษคือเรื่องอินโนเวชั่น สร้างบุคลากรให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เช่น รถไฟ เครื่องบิน และเรื่องของแล็บ (Lab) เป็นต้น

ทั้งนี้โปรเจ็กต์ที่ YEC ชลบุรีจะขับเคลื่อน ได้แก่ 1.อินโนเวชั่นฮับ หอการค้าชลบุรี จับมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี โดยจะของบฯในนามของ ม.บูรพา ซึ่งหอการค้าจะเป็นเพียงที่ปรึกษา โดยการนำเอาผลงานวิจัยที่นักศึกษาทำเพียงเพื่อจบ แต่เป็นไอเดียที่ดี หรือเรื่องที่เราเอาไปให้มหาวิทยาลัยวิจัย สามารถนำออกมาสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้คือการนำมาทำเป็นสินค้าจริง ๆ ให้ได้

2.อีอีซีการศึกษา คือมีการพูดคุยกับโรงเรียนอาชีวะ ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาที่เรียนอยู่เป็นคนในพื้นที่ โดยเบื้องต้นจะรับนักศึกษาจากอาชีวะเข้ามาทำงานในบริษัทต่าง ๆ ของสมาชิกหอการค้าชลบุรี เพราะที่ผ่านมารู้สึกขัดใจมาก เนื่องจากนักศึกษาที่จบออกมา ปรากฏว่าเรียนอีกอย่าง แต่ใช้งานจริงเป็นอีกอย่าง ดังนั้นในขั้นตอนต่อไปจะเอาภาคปฏิบัติของอุตสาหกรรมไปครอบหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งชัดเจนว่าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีงานรองรับที่แน่นอน

ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับกรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน มีการพูดคุยหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในโครงการอีอีซี ปัญหาที่ผ่านมามีการเปิดหลักสูตรซ่อมรถไฟ และมีจบออกมาแล้ว แต่รถไฟความเร็วสูงยังไม่มา คือให้เรียนแล้วแต่ไม่มีอะไรทำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความยากและท้าทาย ซึ่งเราจะไม่ควรมองอนาคตไกลเกิน อาจจะเน้นเพียงอุตสาหกรรมที่มีเป็นหลัก ได้แก่ ไฮดรอลิก ไฟฟ้า โรบอต เป็นต้น ซึ่งจบออกมาก็มีงานรองรับแน่นอน

3.แล็บ จะเน้นในภาคอุตสาหกรรมว่ามีความต้องการเชิงแล็บอะไรบ้าง แล้วก็จะช่วยผลักดัน ซึ่งก็จะต้องร่วมมือกับ ม.บูรพาต่อไป

“ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นไปได้จริง ผมว่าทุกอย่างจะอยู่ในชลบุรีได้หมด ครบรส ชลบุรีเท่าที่ผมดูมีตั้งแต่อสังหาฯ ธุรกิจ โรงงาน ก็อันดับสองหมด รองจากกรุงเทพฯ แต่เด็กยังต้องเข้ากรุงเทพฯไปหางาน ผมมองว่ามันตลก ซึ่งชลบุรีก็เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ และส่งออกอยู่แหลมฉบัง อีกทั้งยังต้องวิ่งเข้ามากรุงเทพฯ ไปจัดการเรื่องใบรับรอง เอกสารต่าง ๆ ซึ่งต้องมาคิดกันว่าเราจะทำอย่างไรให้คล่องตัว สะดวก แล้วก็ตอบสนองเรื่องของนักศึกษา กับความต้องการของธุรกิจ ให้มันอยู่จังหวัดนี้ให้ได้”

เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ที่น่าติดตาม

ที่มาและภาพประกอบ : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร