Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

‘อิมแพ็ค’พลิกสู่แหล่งท่องเที่ยวสู้ศึกศูนย์ประชุม

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ในอนาคตอันใกล้ การขับเคี่ยวของ 3 ศูนย์ประชุมยักษ์ใหญ่ อิมแพ็ค, ไบเทค และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะทวีความเข้มข้นขึ้น ผลจากการเร่งดำเนินโครงการลงทุนสะพัดรวมกันกว่าหมื่นล้านในปัจจุบัน โดยผู้เล่นที่ครองตำแหน่งพื้นที่ใหญ่ที่สุด “อิมแพ็ค เมืองทองธานี” เริ่มขยับเกมรุกสู่การเป็นศูนย์ Leisure and Entertainment รับโอกาสที่รถไฟฟ้าสายสีชมพูเริ่มเดินหน้า และเปิดให้บริการในปี 2563 โดยมีสายแยกเข้าสู่อิมแพ็คโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับภาพลักษณ์เป็น “แหล่งท่องเที่ยว” ที่มีองค์ประกอบพร้อมทุกอย่างในตัวเอง ช่วยให้ธุรกิจที่เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาของศูนย์ฯ มีลูกค้าเข้ามาต่อเนื่อง ไม่ผันผวนหรือกระจุกตัวเฉพาะฤดูกาลจัดงานเอ็กซิบิชั่นอีกต่อไป

พอลล์ กาญจนพาสน์กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่าขณะนี้ทั้งอิมแพ็ค และบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีแลนด์ ในฐานะบริษัทแม่ ยังอยู่ระหว่างการลงทุนขยายธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เฉพาะโปรเจคในมือของอิมแพ็คที่สรุปได้แล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีมูลค่ารวมกว่า 5,660 ล้านบาท

ในเดือน มี.ค.นี้ เตรียมเปิดตัว 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ โรงแรมไอบิส กรุงเทพฯ อิมแพ็ค ระดับ 3 ดาว ขนาด 587 ห้อง งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท และเดอะ พอร์ทัล อาคารค้าปลีก 4 ชั้น ซึ่งใช้งบกว่า 600 ล้านบาท หลังจากปลายปีก่อนนำร่องการสร้างสินค้าท่องเที่ยวใหม่ อิมแพ็ค สปีด พาร์ค สนามโกคาร์ท มาตรฐานโลกในโซนริมทะเลสาบ โดยใช้งบลงทุนกว่า 60 ล้านบาท เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และเป็นตัวเลือกกิจกรรมสันทนาการสร้างสีสันให้กับลูกค้าที่มาจัดประชุม หรือใช้ลานแข่งสำหรับการเปิดตัวสินค้าต่างๆ

ภายในเดือน ต.ค.ปีนี้ยังเตรียมเริ่มก่อสร้างสวนน้ำขนาดใหญ่ใช้พื้นที่กว่า 7 หมื่นตร.ม. ด้วยงบลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จในปี 2561 โดยเป็นการปรับย้ายทำเลที่ตั้งเดิมซึ่งวางแผนสร้างขึ้นริมทะเลสาบเมืองทองธานี ไปอยู่บริเวณใกล้กับโรงแรมไอบิส และอาคารเมืองทองธานี เอาท์เลท สแควร์ แทน เพื่อผลประโยชน์ 2 ประการ คือ ทำให้ลูกค้าหมุนเวียนในสวนสนุกที่คาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านคนต่อปี เข้าไปจับจ่ายสินค้าในโซนดังกล่าว รวมถึงกระจายเข้าเป็นลูกค้าในโครงการคอสโม บาซาร์ อาคารค้าปลีกและที่จอดรถ ที่จะเกิดขึ้นพร้อมคอสโม ออฟฟิศ ปาร์ค ซึ่งอยู่ภายใต้ลงทุนของบีแลนด์กวว่า 3,500 ล้านบาท ที่จะเปิดในเร็วๆ นี้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน พื้นที่รอบทะเลสาบที่มีอยู่กว่า 300 ไร่ จะถูกนำไปพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์อื่นๆ ที่คาดว่าจะทยอยตามมาในอนาคตอันใกล้ เพื่อทำให้ที่ดินเกิดความคุ้มค่า เพราะเมื่อประเมินมูลค่าใหม่หลังจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูก่อสร้างแล้วเสร็จใน 3 ปี ราคาที่ดินโซนดังกล่าวอาจถีบตัวสูงขึ้นกว่า 20-30% ซึ่งการเพิ่มมูลค่าให้ที่ดินดังกล่าว มีอีกโครงการสำคัญคือ สร้างโรงแรม 5 ดาวริมทะเลสาบ ขนาดราว 300 ห้อง ใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบและเจรจากับแอคคอร์โฮเทลเพื่อนำแบรนด์ “พูลแมน” เข้ามาบริหาร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2562

ดังนั้นในปี 2562 อิมแพ็คจะเริ่มก้าวสู่การเป็นศูนย์ประชุมที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในตัวเองครบวงจร เพราะมีโรงแรมเปิดครบตั้งแต่ระดับ 3-5 ดาว 3 แห่ง (หลังจากเปิดให้บริการโนโวเทล อิมแพ็ค ไปก่อนแล้ว) มีพื้นที่ค้าปลีกสำหรับการชอปปิง มีสนามโกคาร์ท, อิมแพ็ค เทนนิส อคาเดมี และสปอร์ต คลับ และกระทั่งสวนน้ำขนาดใหญ่ที่ยกมาตรฐานเดียวกับวานา นาวา หัวหินมาไว้ที่แจ้งวัฒนะ ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้ร่วมประชุมภายในศูนย์ รวมถึงครอบครัวและผู้ติดตามได้ทุกด้าน โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายตัวเองออกไปนอกอาณาจักรเมืองทอง

“อยากให้เมืองทองเป็น Tourist Attraction หรือมีความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจรในตัวเอง เหมือนกับที่ดิสนีย์แลนด์ หรือเซนโตซ่า ของสิงคโปร์ มีองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ในตัวเอง สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้โดยไม่ต้องออกไปข้างนอก”

ขณะเดียวกันการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อย่างสนามโกคาร์ท และสวนน้ำ จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสม่ำเสมอ และทำให้พันธมิตรธุรกิจมีรายได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี ไม่ขึ้นลงตามแต่ช่วงที่มีการจัดงานใหญ่เท่านั้น

พอลล์ กล่าวด้วยว่า แผนการพัฒนาโครงการทั้งหมดของอิมแพ็คจะไม่หยุดแค่นี้ และในรอบ 3 ปี จะยังมีการประกาศการพัฒนาพื้นที่ภายในเมืองทองธานีใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงภาพยนตร์, ศูนย์การค้า ที่อย่างไรก็ต้องตามมาเสริมเพื่อให้ความเป็นแหล่งบันเทิงมีความครบวงจรมากขึ้น และโดยส่วนตัวยังอยากให้พื้นที่ริมทะเสสาบเกิดกิจกรรมสันทนาการสำหรับท่องเที่ยวแปลกใหม่ เช่น บีชคลับ หรือมารีน่าสำหรับจอดเรือ เป็นต้น

เช่นเดียวกับพื้นที่การสร้างโรงแรม ที่วันหนึ่งหากลูกค้าที่ปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านคนต่อปี เพิ่มอีก 20% ภายใน 3-4 ปีนี้เมื่อโครงการลงทุนทั้งหมดแล้วเสร็จ การมี 3 โรงแรมกว่า 1,300 ห้องอาจไม่เพียงพอ และพร้อมจะลงทุนโรงแรมใหม่เพิ่มเติม เพราะยังมีที่ดินต่อจากไอบิส ที่สามารถขึ้นโครงการใหญ่ระดับ 500 กว่าห้องอีกหนึ่งอาคารได้ทันที เช่นเดียวกับกระแสเงินทุนของบีแลนด์ที่มีความพร้อมกว่าหมื่นล้านบาท

“เราสู้ได้แน่นอนในการแข่งขันของธุรกิจศูนย์ประชุม เพราะทุกแห่งต่างมีข้อดีและข้อเสียของตัวเอง คู่แข่งที่อยู่ใจกลางเมืองอาจได้เปรียบเรื่องทำเล แต่ก็จำกัดเรื่องพื้นที่ แต่สำหรับอิมแพ็คที่อยู่ไกลออกมา ได้เปรียบเรื่องพื้นที่ขนาดใหญ่ อีกทั้งเมื่อวางแผนสร้างแหล่งท่องเที่ยวในตัวเอง ประกอบกับการมีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อในเร็วๆ นี้ เชื่อว่าจะเพิ่มคุณค่าทำให้บริหารได้ไม่แพ้ที่ใดเลย”

สำหรับการเตรียมแผนเพื่อรองรับเอ็กซิบิชั่น ที่จะต้องการสถานที่จัดใหม่ แทนที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ของบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ ที่จะปิดเพื่อปรับปรุงพัฒนาโครงการใหม่ เริ่มเดินหน้าในราวกลางปี 2561 ตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น พอลล์ ย้ำว่า ขณะนี้เริ่มมีผู้จัดงานที่ถือลิขสิทธิ์เอ็กซิบิชั่นรายการใหญ่ 2-3 งานที่จัดประจำในศูนย์ดังกล่าว เริ่มติดต่อเข้ามาขอใช้พื้นที่อิมแพ็คแล้ว และต่อไปจะดำเนินการพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับลูกค้ารายอื่นๆ ที่จำเป็นต้องหาที่จัดงานใหม่ด้วย

การลงทุนทั้งหมดเป็นไปเพื่อรองรับอนาคต แม้ว่าในปี 2560 ยังเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีผลต่อการดำเนินงาน และทำให้ประเมินธุรกิจว่าอาจ “ไม่เติบโต” เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2559 ที่คาดว่ารายได้จะลดลง 10% จากเป้าหมาย 2,200 ล้านบาท โดยรายได้ดังกล่าวมาจากกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ อิมแพ็ค โกรท รีท ที่มีสินทรัพย์ในกองประกอบด้วย อิมแพ็ค อารีน่า, ศูนย์แสดงสินค้า, ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม และอาคารชาเลนเจอร์ 

 

ที่มา :  bangkokbiznews

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร