Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ขั้นตอนการตรวจงานติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อนทำให้ทุกบ้านก็คงเลือกที่จะติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือที่เรียกกันว่าแอร์ ซึ่งเจ้านี่นับว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ค่อนข้างเรื่องมาก บางทีใช้ๆ ไปก็ไม่ค่อยจะเย็น บ้างทีก็มีเสียงอะไรแปลกๆ ดังออกมา แถมผู้ใช้งานก็ไม่รู้ว่าติดตั้งถูกวิธีไหม เห็นช่างติดตั้งแป๊ปๆ เดินมาบอกว่าเสร็จแล้ว หรือว่าการที่แอร์ไม่ค่อยเย็นนี่เพราะช่างติดตั้งแอร์ถูกต้องหรือเปล่า?

แนวทางการตรวจงานการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ว่าควรดูในจุดไหนบ้าง?

1. ตรวจสภาพเครื่องและอุปกรณ์ของแอร์

เมื่อเครื่องปรับอากาศมาส่งให้ตรวจดูตัวกล่องว่ามีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยทำตก กล่องไม่ถูกแกะมาก่อน แล้วให้เปิดกล่องเพื่อเช็คว่าอุปกรณ์ต่างๆ ให้มาครบ อาจจะอ่านคู่มือการติดตั้งเบื้องต้นก็ได้ จะได้เข้าใจเวลาที่ช่างติดตั้งจริง ทั้งนี้ให้ถามช่างว่าเคยติดตั้งยี่ห้อนี้มาก่อนหรือไม่ เพราะรายละเอียดแต่ละรุ่นอาจจะไม่เหมือนกัน อาจจะต้องอ่านคู่มือประกอบก่อน

2. สำรวจตำแหน่งติดตั้งแอร์

ควรคุยกับช่างในเรื่องตำแหน่งที่จะติดตั้งเครื่องแอร์ (Fan coil unit) โดยควรเป็นตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับภายนอกเพื่อให้สามารถเดินท่อแอร์ไปยังคอมเพลสเซอร์แอร์ได้ง่าย และ ควรเป็นพื้นที่โล่งที่มีพื้นที่สำหรับการดูแลรักษาเนื่องจากต้องมีการล้างแอร์ด้วยน้ำ ไม่ควรเลือกบริเวณหัวเตียงหรือเหนือชั้นวางทีวีที่มีของวางเยอะๆ เพราะจะทำให้ช่างทำงานได้ยาก และอาจจะมีน้ำแอร์หยดลงมาในแอร์รุ่นเก่าๆ

ส่วนระยะห่างระหว่างแอร์กับคอมเพลสมีดังนี้ สำหรับขนาดที่นิยมกันระหว่าง 9,000-12,000 บีทียู ระยะการเดินท่อน้ำยาแอร์ ไม่ควรเกิน 10-15 เมตร สำหรับการเดินท่อในแนวนอน และไม่เกิน 5 เมตรสำหรับการเดินท่อในแนวตั้ง และควรมีระยะของท่อน้ำยาแอร์ไม่น้อยกว่า 3 เมตรเพื่อการหมุนเวียนที่ดี ทั้งนี้ในคู่มือจะมีบอกระยะต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างกันในแอร์แต่ละรุ่น

ค้นหาบ้าน-คอนโด ในเชียงใหม่

3. ติดตั้งเครื่องแอร์ภายในบ้าน

ก่อนทำการติดตั้ง ช่างต้องใช้ผ้าปูรองพื้น เพื่อวางอุปกรณ์และบันไดพับ แล้วจึงเริ่มติดตั้งแอร์ โดยเริ่มจากการเจาะผนังเพื่อฝังน็อตที่ผนังแล้วยึดแผ่นเพลทกับผนังก่อน ตรงนี้ดูว่ามีการติดตั้งเพลท ได้ระดับไม่เอียง แล้วช่างจะใช้ Hole Saw เจาะผนังให้ทะลุเพื่อเอาไว้สำหรับสอดท่อน้ำยา โดยในขั้นตอนการเจาะ ช่างควรมีถุงพลาสติกไว้ใส่เศษผงปูนจากการเจาะ เพื่อไม่ให้ผงกระจายไปยังส่วนอื่นๆของห้อง จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการติดตั้งเครื่องแอร์ และการเดินท่อสารความเย็น ท่อน้ำทิ้งและสายไฟ ก็ให้ตรวจดูว่าช่างได้เดินอย่างเรียบร้อยสวยงามก็พอ

ติดตั้งแอร์ภายในบ้าน

4. ติดตั้งคอมเพลสเซอร์แอร์ภายนอกบ้าน

ก่อนติดตั้ง ควรตรวจดูจุดติดตั้งภายนอกว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยเครื่องคอมเพลสเซอร์ไม่ควรโดนแดดโดยตรง ไม่มีสิ่งกีดขวางทางลม ไม่ติดตั้งในบริเวณที่มีฝุ่นมาก และบริเวณที่ติดตั้งควรมีโครงสร้างแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของตัวเครื่องได้ และไม่ควรเลือกจุดติดตั้งที่ช่างทำงานลำบาก รอบๆ ตัวเครื่องควรมีการเว้นระยะห่างไว้ เพื่อการหมุนเวียนของอากาศและเพื่อให้ช่างสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ด้านข้างและด้านหลังเครื่องควรเว้นระยะมากกว่า 30 เซนติเมตร ด้านหน้าและด้านบนควรเว้นระยะมากกว่า 60 เซนติเมตร และไม่ควรวางบนพื้นโดยตรง อาจจะทำเป็นฐานปูนขึ้นมารับหรือวางไว้บนอิฐบล็อก หรือใช้กับขาแขวนตัวเครื่องก็ต้องดูว่ายึดได้ระดับ

เมื่อติดตั้งคอมเพลสเซอร์แอร์เสร็จแล้ว ควรตรวจดูจุดต่อเชื่อมทางออกของท่อน้ำยาระหว่างแอร์ ไปเครื่องคอมเพลสเซอร์ว่ามีการปิดช่องไว้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์หรือแมลงเข้าไปกัดสายไฟ แล้วที่สำคัญให้ตรวจสอบว่าช่างได้ติดตั้งสายดิน และต้องเดินสายให้ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยครับ

ติดตั้งคอมเพลสเซอร์แอร์ภายนอกบ้าน

5. การแวคคั่มหลังติดตั้งแอร์

หลังติดตั้งทั้งแอร์และคอมเพลสเซอร์แอร์แล้ว ช่างต้องทำการแวคคั่ม (Vacuum) หรือการทำสุญญากาศ ซึ่งเป็นการนำอากาศและความชื้นที่มีในระบบออกให้หมดก่อนเติมน้ำยาแอร์ โดยช่างจะมีเครื่องแวคคั่มที่ใช้ดูดอากาศออก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากในการติดตั้งแอร์ ซึ่งถ้าเป็นช่างที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ หรือต้องการทำเวลาเพื่อไปติดตั้งที่อื่นต่อ อาจจะเจอเนียนไม่ยอมแวคคั่มหลังติดตั้งแอร์เสร็จ ซึ่งการแก้ไขภายหลังก็ค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นอย่าลืมสะกิดให้ช่างรู้ว่าต้องทำด้วย

6. ควรทำอย่างไรหลังติดตั้งแอร์ และ การดูแลรักษาแอร์

เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ ให้ทดสอบว่าแอร์ใช้งานได้ดีหรือไม่อย่างไร ช่างจะจ่ายไฟ แล้วเปิดแอร์ วัดแรงดันน้ำยาแอร์ ตรวจสอบการทำงานของเครื่องว่าปกติดี ก็เป็นอันแล้วเสร็จ

หลังจากนั้นแล้วควรหมั่นให้ช่างเข้ามาล้างแอร์ทุกๆ 6 เดือน ช่างจะแกะชิ้นส่วนแอร์ไปล้างโดยการใช้น้ำแรงดันสูงและเป่าลมให้แห้งก่อนจะนำไปประกอบตามปกติ แล้วก็จะมีการเช็คน้ำยาแอร์ด้วยว่าเหลือมากน้อยแต่ไหน ยังไงก็อย่าให้หมดแล้วค่อยเติม เพื่อไม่ให้คอมเพลสเซอร์พังเร็วนะครับ ขั้นตอนล้างแอร์ก็ไม่มีอะไรมาก ควรตรวจดูว่าช่างได้คลุมพื้นที่รอบๆ ในส่วนที่ล้างหรือยัง เพราะต้องใช้น้ำในการล้างซึ่งอาจจะทำให้พื้นและเฟอร์นิเจอร์เสียหายได้

ห้องนอนมักเป็นห้องที่นิยมติดแอร์

หากครั้งต่อไปถ้าจะมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่ม ทุกคนก็น่าจะพอรู้ขั้นตอนคร่าวๆ แล้ว อาจจะไม่ต้องถึงขั้นติดตั้งเองเป็น ควรให้ช่างที่มีอุปกรณ์พร้อมเป็นผู้ทำงานมากกว่า ยิ่งสมัยนี้มีช่างมืออาชีพที่เข้ามาติดตั้งให้จากร้านค้าใหญ่ๆ ก็น่าจะวางใจได้ในระดับหนึ่ง หลังติดตั้งแล้วก็อย่าลืมหมั่นทำความสะอาดเครื่องเพื่อไม่ให้มีฝุ่นเข้าไปในเครื่องและให้ช่างเข้ามาล้างแอร์กันบ่อยๆ ด้วยนะครับ บ้านของคุณจะได้มีแอร์เย็นๆ ไปนานๆ ไม่เอาแต่เป่าลมร้อนออกมาซึ่งก็คงจะไม่ดีนะครับ

ค้นหา บ้าน-คอนโด ในกรุงเทพได้ที่นี่

ส่วนใครที่อยากรู้แนวทางการตรวจบ้านก่อนรับโอนแบบสรุปมาให้ทุกส่วน เรามีเช็คลิสต์ตรวจบ้านก่อนรับโอนมาแนะนำด้วยเช่นกัน คุณสามารถติดตามได้ที่ลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยครับ

ดูบทความเช็คลิสต์ได้ที่นี่

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร