Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

จัดหนักกว่าหมื่นล้าน เซ็นทรัลยืนยันใหญ่สุด

14/8/2016
x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เดินหน้าชน “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” เร่งตกแต่งในธีม “ซีซั่น ออฟ ไลฟ์” เพิ่มสีสัน ๕ ฤดูกาลให้ภาคอีสาน มิกซ์ยูสโปรเจ็กต์ยักษ์ ๑๐,๕๙๖ ล้าน บนที่ดินกว่า ๖๕ ไร่ ริมถนนมิตรภาพ ผุดทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม คอนโดมิเนียม ตลาดไลฟ์สไตล์เอาท์ดอร์ไว้ในบริเวณเดียวกัน พร้อมมอบ “โคราช ริเวอร์ วอล์ค” พื้นที่สีเขียวริมน้ำ ‘วัลยา จิราธิวัฒน์’ ย้ำมอบสิ่งที่ดีที่สุดสมกับรอคอยมากกว่า ๑๖ ปี ใหญ่ที่สุดในอีสานเทียบเท่า กทม. เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ห้องโลตัส ๕-๖ ชั้น ๒๒ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น นำโดยนายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO), นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการก่อสร้าง, ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด และคณะผู้บริหาร ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการ “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการก่อสร้างบนทำเลแห่งใหม่ บนที่ดินกว่า ๖๕ ไร่ ริมถนนมิตรภาพ เยื้องกับศูนย์จัดการธนบัตรนครราชสีมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ขาเข้าตัวเมืองนครราชสีมา นับเป็นศูนย์การค้าลำดับที่ ๓๑ ของซีพีเอ็น ในรูปแบบ Mixed-Use Project ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และยังเป็น “เซ็นทรัลพลาซา” สาขาที่ ๔ ของภูมิภาคนี้ นับจากสาขาอุดรธานี ขอนแก่น และอุบลราชธานี หลังจากตัวแทนของเซ็นทรัลเข้าพบนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ณ ห้องปฏิบัติราชการ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยยืนยันว่าจะเปิด “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ผู้บริหารเซ็นทรัล พลาซา ‘โคราช’ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญ นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและบริหารโครงการก่อสร้าง ของซีพีเอ็น กล่าวว่า ซีพีเอ็นตั้งเป้าหมายธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแผนของบริษัทฯ ที่วางไว้ เราเดินหน้าลงทุนบนทำเลศักยภาพครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการลงทุนและเงินหมุนเวียน รวมทั้งยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจการค้า และการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังจัดพื้นที่ “มาร์เก็ต มาร์เก็ต” ไว้สำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อเป็นการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ตามนโยบายสานพลังประชารัฐอีกด้วย ในส่วนของภาคอีสานนั้น ถือได้ว่าจังหวัดนครราชสีมาเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว การลงทุนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นประตูสู่ภาคอีสาน เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยัง ๒๐ จังหวัดในภาคอีสาน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ และยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ ซึ่งจะทำให้จังหวัดนี้กลายเป็นศูนย์กลางในการเดินทางและการขนส่งสินค้าผ่านระบบราง ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา จ.สระบุรี – ชุมทางจิระ จ.นครราชสีมา มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-ปากช่อง-นครราชสีมา และถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี ๒๕๖๓-๒๕๖๘ โดยการลงทุนในโครงการเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ถือว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงศักยภาพของนครราชสีมาได้เด่นชัดขึ้น มิกซ์ยูส’โปรเจ็กต์ยักษ์ นางสาววัลยา กล่าวต่อไปว่า เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา มีขนาดพื้นที่โครงการ ๓๕๕,๐๐๐ ตารางเมตร นับเป็นศูนย์การค้าลำดับที่ ๓๑ ของซีพีเอ็น ในรูปแบบ Mixed-Use Project ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม คอนโดมิเนียม ตลาดไลฟ์สไตล์เอาท์ดอร์ และสวนสาธารณะ มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการรวม ๑๐,๕๙๖ ล้านบาท ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพ รองรับการขยายของเมืองอยู่ในทำเลศักยภาพแหล่งที่พักอาศัยระดับไฮเอนด์ ใกล้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม), สถานีขนส่งนครราชสีมาแห่งที่ ๒ (บขส.ใหม่) และสถานศึกษาหลายแห่ง อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งภาคอีสาน เชื่อมต่อใจกลางโคราช และจังหวัดใกล้เคียง การจราจรสะดวก สามารถเดินทางเข้า-ออกศูนย์การค้าได้หลายเส้นทาง สะดวกสบายด้วยอาคารจอดรถเชื่อมตรงเข้าศูนย์การค้า รองรับรถยนต์ได้มากกว่า ๓,๕๐๐ คัน และรถมอเตอร์ไซค์กว่า ๑,๕๐๐ คัน สร้างพื้นที่สีเขียวริมน้ำ ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมของ “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” นางสาว วัลยา ระบุว่า ได้ผสานเอกลักษณ์ประจำภาคอีสาน กับความทันสมัยเข้าด้วยกันอย่างลงตัว สร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้โคราช เพิ่มความโดดเด่นด้วยฟาซาด(Facade) ที่ออกแบบโดยแรงบันดาลใจจากรูปทรงของกลีบดอกสะเลเต หรือมหาหงส์ ราชินีดอกไม้แห่งอีสาน พร้อมตกแต่งศูนย์การค้าในธีม “ซีซั่น ออฟ ไลฟ์” เพิ่มสีสัน ๕ ฤดูกาลให้ภาคอีสาน เสริมด้วยอินเตอร์แอคทีฟ ฟีเจอร์ ที่มอบประสบการณ์บันเทิงที่แปลกใหม่ แห่งแรกและแห่งเดียวในภาคอีสาน นางสาววัลยา กล่าวเสริมว่า การเข้ามาลงทุนทำโครงการขนาดใหญ่ในโคราชครั้งนี้ นอกจากจะช่วยกระตุ้นการเติบโตในเชิงธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพของจังหวัดแล้ว ซีพีเอ็นยังได้สร้าง “โคราช ริเวอร์ วอล์ค” สวนสาธารณะ และไลฟ์สไตล์เดสติเนชั่นแห่งใหม่ แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และศูนย์กลางกิจกรรมทุกประเภท ตอบสนองไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ของคนมหานคร ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียวในบรรยากาศริมน้ำ พร้อมลู่วิ่ง ไบค์เลน วอเตอร์เพลย์กราวด์ โซนสำหรับสัตว์เลี้ยง ตลาดไลฟ์สไตล์ และลานกิจกรรมเอาท์ดอร์ บนพื้นที่กว่า ๕,๐๐๐ ตารางเมตร ขนาดเทียบเท่ากับลานเซ็นทรัลเวิลด์ สแควร์ มอบเป็นของขวัญให้กับชาวโคราชทุกคน ตกแต่ง ๕ โซน ๕ ฤดูกาล ไม่เพียงเท่านี้ยังตกแต่งด้วยพรรณไม้ดอกท้องถิ่นจากสวนพฤกษศาสตร์ แบ่งโซนออกเป็น ๕ โซน ๕ ฤดูกาล ตามแนวคิด “ซีซั่น ออฟ ไลฟ์” โดยแต่ละโซนรองรับกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันไป มีความหลากหลายเหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัว ได้แก่ โซนสปริง เป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกาย วิ่ง หรือปั่นจักรยาน วอเตอร์ เพลย์กราวด์ สำหรับเด็ก, โซนซัมเมอร์ ซึ่งประกอบด้วย มาร์เก็ต มาร์เก็ต ตลาดไลฟ์สไตล์ อินดอร์ และเอาท์ดอร์ พื้นที่สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยท้องถิ่น ไบค์คาเฟ่ ซึ่งเป็นทั้งคาเฟ่และร้านขายอุปกรณ์สำหรับจักรยาน ร้านขายต้นไม้, โซนสัตว์เลี้ยง และลานกิจกรรมเอ้าท์ดอร์, โซนเรนฟอร์เรสต์ เพลิดเพลินกับตลาดนัดวันหยุดในบรรยากาศร่มรื่น, โซนออทัมน์ แหล่งแฮงค์เอ้าท์ที่รวมร้านอาหารประเภทบาร์ แอนด์ บิสโทร ในบรรยากาศสนุกสนานยามค่ำคืน และโซนวินเทอร์ ซึ่งเป็นทรานซ์ปอร์ตเตชั่น เซ็นเตอร์ ศูนย์กลางสำหรับรถประจำทางและจุดจอดรถรับ-ส่งขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ ภายในศูนย์การค้าแต่ละชั้นจะได้รับการตกแต่งให้สวยงามและโดดเด่นไม่ซ้ำกัน ตามคอนเซ็ปต์ “ซีซั่น ออฟ ไลฟ์” ในบรรยากาศตามฤดูกาลที่ต่างกันไป เสริมความน่าตื่นตาตื่นใจด้วยอินเตอร์แอคทีฟ ฟีเจอร์ สร้างบรรยากาศและประสบการณ์แปลกใหม่ไม่ซ้ำที่ไหนอีกด้วย ยกระดับมหานครแห่งอีสาน “จึงกล่าวได้ว่า “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” คือ มหานครแห่งอีสาน เพราะเป็นไลฟ์สไตล์ ฮับที่สมบูรณ์แบบที่สุดของนครราชสีมา ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการและทุกไลฟ์สไตล์ของคนโคราช ด้วยการผนึกกำลังครั้งใหญ่ที่สุดในภาคอีสานของกลุ่มเซ็นทรัล ครั้งแรกกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ท็อป ซูเปอร์สโตร์ บีทูเอสในคอนเซ็ปต์โคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัด ภายใต้ชื่อ “ThinkSpace (ธิงค์สเปซ)” ซูเปอร์สปอร์ตพร้อมสปอร์ตซีมูเลเตอร์และพื้นที่จัดการแข่งขันกีฬาอินดอร์ ร่วมด้วยพาวเวอร์บาย ออฟฟิศเมท แบรนด์แฟชั่นและอาหารชั้นนำกว่า ๕๐๐ ร้าน ฟู้ดเดสติเนชั่น บนพื้นที่ ๒๐,๐๐๐ ตารางเมตร ใหญ่และครบครันที่สุดในภาคอีสาน รวมร้านอาหารหลากหลายสไตล์ตอบรับทั้งไลฟ์สไตล์ แฮงเอาท์ กิน ดื่ม ชิลล์ ร้านอาหารแนวครอบครัว คาเฟ่ เบเกอรี่ และเทคโฮมฟู้ด ครบครันเทียบเท่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว” นางสาววัลยา กล่าว ศูนย์รวมความสนุก-บันเทิง นางสาววัลยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีศูนย์รวมความสนุก และความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน โดยเอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่ากับ ๙ โรงภาพยนตร์ มาตรฐานระดับโลก ระบบโรงภาพยนตร์ Mx4D และโรงภาพยนตร์รูปแบบพิเศษที่จะสร้างมิติใหม่แห่งการชมภาพยนตร์สำหรับทุกคนในครอบครัว และ Fun Planet (ฟัน แพลเน็ต) สวนสนุกอินดอร์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในธีมการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดัง มูลค่าลงทุนกว่า ๑๐๐ ล้านบาท เสริมด้วยลานจัดกิจกรรม และคอนเว็นชั่นฮอลล์พื้นที่รวมกว่า ๗,๐๐๐ ตารางเมตร มาตรฐานะรางวัล MICE AWards 2016 ที่รองรับการจัดกิจกรรมตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับภูมิภาค หรือแม้กระทั่งการจัดประชุม/สัมมนาหน่วยงานราชการในภาคอีสาน คอนเสิร์ต การแข่งขันวอลเลย์บอล มันนี่เอ็กซ์โป เป็นต้น ‘โรงแรม-คอนโด’ เฟสถัดไป สำหรับธุรกิจโรงแรมและคอนโดมิเนียมในเครือนั้น นางสาววัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยด้วยว่า จะเป็นโปรเจ็กต์ที่ตามมาในการลงทุนเฟส ๒ และ ๓ ตามลำดับ เหตุที่ต้องดำเนินการก่อสร้างศูนย์การค้าก่อน เพราะต้องการนำพาเศรษฐกิจให้มีการเติบโต อาจจะมีประชากรย้ายมาอยู่โคราชมากขึ้น สร้างความเจริญมากขึ้น เมื่อมีการลงทุนในธุรกิจการค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น ความพร้อมของแผนการลงทุนในเฟส ๒ และ ๓ ก็จะตามมา ที่เรารอมานานมากขนาดนี้ เพราะต้องรอให้โคราชมีความพร้อม ต้องการให้เศรษฐกิจของโคราชทะยานขึ้น ไม่ใช่ไปสร้างวิกฤติทางเศรษฐกิจให้โคราช เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ของซีพีเอ็นในการลงทุนและพัฒนา ที่ผ่านมาซีพีเอ็นได้ศึกษากำลังซื้อ ความเจริญ และเศรษฐกิจในพื้นที่ กระทั่งเวลานี้มีความพร้อมลงทุนสำหรับเปิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ส่วนโรงแรมและคอนโดมิเนียมนั้น แน่นอนเราต้องการสร้างความเจริญให้โคราชเช่นเดียวกัน เมื่อพร้อมเราต้องประกาศเปิดโครงการในเฟส ๒ และ ๓ เพราะขณะนี้อยู่ในมาสเตอร์แพลนแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเมืองโคราชพร้อม เศรษฐกิจพร้อม คนโคราชพร้อม เราก็พร้อม ที่ดินผืนเก่าเก็บไว้รอพัฒนา ส่วนที่ดินผืนใหญ่กว่า ๕๒ ไร่ ซึ่งติดปั๊มน้ำมัน ปตท. ริมถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) ช่วงกม.ที่ ๓ ใกล้จุดลงมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มุ่งหน้าไปสู่ภาคอีสาน ซึ่งเซ็นทรัลซื้อมาจากนายบุญชัย พรมนะกิจ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุญชัยราชสีมา นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนนทางหลวง ด้วยราคาซื้อขายประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ กว่าล้านบาท เพื่อเตรียมก่อสร้างเซ็นทรัลพลาซา สาขานครราชสีมา ซึ่งได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับซีพีเอ็นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสามของปี ๒๕๕๖ เรียบร้อยแล้วนั้น ก่อนจะเปลี่ยนมาปักธงสร้างในทำเลแห่งใหม่ ริมถนนมิตรภาพนางสาววัลยา กล่าวว่า “พื้นที่เดิมยังคงเก็บไว้อยู่ เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนในอนาคต เมื่อมีความพร้อมสำหรับเมืองโคราช ก็มีโอกาสพัฒนาเป็นศูนย์การค้าได้” ส้มตำพิเศษ! ใส่หอยเป๋าฮื้อ ด้านดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด ของซีพีเอ็น กล่าวเสริมว่า ทุกๆ ครั้งที่ซีพีเอ็นต้องการเปิดการลงทุนอะไร เราต้องการสร้างแลนด์มาร์คใหม่ขึ้นมา ทำศูนย์การค้าที่คนอื่นไม่ทำมาก่อน เรียกว่าต้องการสร้างมหานครอีสานขึ้นมา เห็นศักยภาพของโคราชแล้วว่าเป็นจังหวัด Gateway (ประตู) ของภาคอีสาน พิจารณานานแล้ว กระทั่งมาเลือกทำเลบริเวณดังกล่าว และคอนเซ็ปต์นี้ซีพีเอ็นภูมิใจนำเสนออย่างมาก และเราต้องการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชาวโคราช ถ้าเปรียบเป็นส้มตำก็ต้องเป็นส้มตำพิเศษ คือ ใส่หอยเป๋าฮื้อเข้าไปด้วย” พร้อมเปิดไตรมาส ๓ ปี ’๖๐ นางสาววัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของซีพีเอ็น กล่าวสรุปว่า “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา มหานครแห่งอีสาน พร้อมรองรับกำลังซื้อมหาศาลทั้งในจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ พร้อมเปิดอย่างยิ่งใหญ่สมการรอคอย ในไตรมาสที่ ๓ ปี ๒๕๖๐ ให้สมกับการรอคอยมานานมากกว่า ๑๖ ปี เป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่เราภูมิใจนำเสนอ โดยจัดทัพความครบครันด้านต่างๆ มาอย่างเต็มที่ เพื่อให้คนโคราชภูมิใจจริงๆ และมีของดีที่สุดให้กับคนโคราช อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาซีพีเอ็นของเรานำพาความเจริญมาให้กับหัวเมืองในหลายจังหวัดของประเทศไทย ซึ่งในการทำงานครั้งนี้เรามุ่งมั่นตั้งใจ ปรับเปลี่ยน สร้างนวัตกรรมครั้งใหญ่ให้กับชาวโคราช ด้วยการมอบสิ่งที่ดีที่สุดซึ่งซีพีเอ็นทำมาตลอดกว่า ๓๘ ปี จึงอยากให้ชาวโคราชรอคอยในปีหน้าไตรมาส ๓ พร้อมเปิดตัว เซ็นทรัลพลาซา สาขานครราชสีมา และพบกับสิ่งที่ดีที่สุดที่ทางซีพีเอ็นจะนำมามอบให้” ๓ ศูนย์การค้าลั่นกลองรบ สภาวการณ์เมืองโคราชภายใน ๑ ปีจากนี้ไป จะเต็มไปด้วยความตื่นตัวทางธุรกิจ เพราะภายในเดือนกรกฎาคมเดียวกันนี้ ทั้ง ๓ ศูนย์การค้า ได้แก่ เดอะมอลล์ นครราชสีมา, เทอร์มินอล ๒๑ โคราช และเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ได้เริ่มประกาศสงครามการแข่งขัน โดยเริ่มจากเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่กำลังเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ครั้งสำคัญ ในการ Renovate (ปรับปรุง) “เดอะมอลล์ นครราชสีมา” เป็นครั้งที่ ๒ ด้วยงบประมาณนับพันล้านบาท ซึ่งรวมพื้นที่ดำเนินการ ๘๐ ไร่ หรือ ๓๒ เอเคอร์ และจะทำให้ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา มีพื้นที่ค้าปลีกทั้งสินค้า บริการ และความบันเทิงต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็น ๓๕๐,๐๐๐ ตารางเมตร โดยนายไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป พร้อมด้วยนายสุทธิพงษ์ อัมพุช รองประธานกรรมการอาวุโส นายปรีชา ลิ้มอั่ว ผู้จัดการทั่วไปปฏิบัติการ เดอะมอลล์ราชสีมา และคณะผู้บริหาร ได้จัดงาน “ผนึกกำลังรับโฉมใหม่เดอะมอลล์นครราชสีมา ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมในภูมิภาค ณ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช โดยเชิญนักธุรกิจและผู้จัดกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมหารือถึงแนวทางการยกระดับกิจกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาด้านต่างๆ ของจังหวัดนครราชสีมา ก่อนประกาศความพร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๙ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ของภาคอีสานต่อไปในอนาคต ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด บริษัทในเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ผู้พัฒนาศูนย์การค้า ๔ แห่ง ได้แก่ แฟชั่น ไอส์แลนด์, เทอร์มินอล ๒๑, เดอะ พรอมานาด และไลฟ์ เซ็นเตอร์ เปิดตัวโครงการ “Young Brander” เพื่อยกระดับและสนับสนุนผู้ประกอบการค้าปลีกรุ่นใหม่ในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอื่นในภาคอีสาน โดยมีนายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เทอร์มินอล ๒๑ เป็นประธานเปิดตัวโครงการฯ พร้อมแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการ “เทอร์มินอล ๒๑ โคราช” ร่วมด้วยคณะผู้บริหาร บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด นายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ, นางสาวสิรีน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ และผู้บริหารศูนย์การค้าในเครือ โดยมีผู้ประกอบการค้าปลีกรุ่นใหม่ในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดในภาคอีสานที่เตรียมเข้าร่วมลงทุนกับเทอร์มินอล ๒๑ โคราช จำนวน ๓๐๐ คนเข้าร่วม ภายใต้คำขวัญ GROW TOGETHER ซึ่งขณะนี้โครงสร้างอาคารเสร็จ ๑๐๐% พร้อมที่จะเปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่ “Terminal 21 Korat (เทอร์มินอล ๒๑ โคราช)” ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองโคราช ริมถนนมิตรภาพ (บริเวณสามแยกบิ๊กซีฯ ทางไปจังหวัดขอนแก่น) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา บนเนื้อที่ ๓๒ ไร่ นับเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ด้วยขนาดพื้นที่อาคาร ๒๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ซึ่งได้เตรียมพื้นที่จอดรถยนต์รองรับไว้ ๒,๕๐๐ คัน และรถจักรยานยนต์อีก ๑,๘๐๐ คัน โดยใช้เงินลงทุนก่อสร้างศูนย์การค้าแห่งนี้ ๖,๐๐๐ ล้านบาท และยังมีแผนในเฟส ๒ ที่จะลงทุนก่อสร้างโรงแรมในเครืออีกประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท และล่าสุดบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ได้เปิดแถลงข่าวประกาศเดินหน้า “เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ขนาด ๓๕๕,๐๐๐ ตารางเมตร เป็นศูนย์การค้าลำดับที่ ๓๑ ของซีพีเอ็น ในรูปแบบ Mixed-Use Project ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ประกอบด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม ศูนย์ประชุม คอนโดมิเนียม ตลาดไลฟ์สไตล์เอาท์ดอร์ และสวนสาธารณะ บนที่ดินกว่า ๖๕ ไร่ มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการรวม ๑๐,๕๙๖ ล้านบาท มีกำหนดเปิดให้บริการในไตรมาสที่ ๓ ปี ๒๕๖๐ ย้อนความหลัง... สำหรับการขยายสาขามายังภาคอีสานของเซ็นทรัลพลาซา มีแผนมาตั้งแต่ก่อนเดอะมอลล์ นครราชสีมา เปิดบริการในปี พ.ศ.๒๕๔๓ โดยเล็งทำเลไว้ที่บริเวณสามแยกนครราชสีมา ถนนมิตรภาพ ตรงข้ามห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขานครราชสีมาในปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นของนายบรรยงค์ หล่อธราประเสริฐ กลุ่มไทยสงวน ผู้แทนจำหน่ายน้ำมันเอสโซ่ และผู้ประกอบการสถานีขนส่งนครราชสีมาแห่งที่ ๒ (บขส.ใหม่) เนื้อที่ประมาณ ๓๐ กว่าไร่ ซึ่งขณะนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวเปิดบริการปั๊มน้ำมันเอสโซ่ แต่หลังจากมีข่าวว่าเซ็นทรัลจ่ายเงินมัดจำก้อนหนึ่งให้กับไทยสงวนและเซ็นสัญญาแล้ว นายบรรยงค์จึงตกลงรื้อปั๊มน้ำมันที่สร้างรายได้มหาศาล แต่เรื่องนี้ต้องล้มพับไป และมีการฟ้องร้องไปมาทั้งสองฝ่าย แต่ที่สุดก็เลิกราต่อกัน ส่วนที่ดินบริเวณนั้น ภายหลังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบธุรกิจโรงแป้งมันสำปะหลังในจังหวัดชัยภูมิ คือ นางสาวทองเล็ก แซ่เฮง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แป้งมันแสงเพชร จำกัด ต่อมานางสาวทองเล็กอนุญาตให้หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ใช้พื้นที่ดังกล่าวจัดงาน “หอการค้าโคราชแฟร์ และเทศกาลอาหารย่าง ครั้งที่ ๘” ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ และในภายหลังที่ดินบริเวณนี้ได้ขายให้กับกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” แล้ว โดยนายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แลนด์ แลนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้นำที่ดินดังกล่าวจำนวน ๓๒ ไร่ ไปพัฒนาก่อสร้างเป็นศูนย์การค้าแห่งใหม่ “Terminal 21 Korat (เทอร์มินอล ๒๑ โคราช)” ภายใต้บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ด้วยมูลค่าการลงทุน ๖,๐๐๐ ล้านบาท โดยเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ ทำให้ทางเซ็นทรัลต้องมองหาทำเลใหม่ โดยตกลงซื้อที่ดินผืนใหญ่กว่า ๕๒ ไร่ ของนายบุญชัย พรมนะกิจ หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.บุญชัยราชสีมา นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างถนนทางหลวง ซึ่งติดปั๊มน้ำมัน ปตท. ริมถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (By Pass) ช่วงกม.ที่ ๓ ใกล้จุดลงมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ที่มุ่งหน้าไปสู่ภาคอีสาน ด้วยมูลค่าการซื้อขาย ๕๐๐-๖๐๐ กว่าล้านบาท และมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับซีพีเอ็นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสามของปี ๒๕๕๖ เรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังเทศบาลตำบลปรุใหญ่ได้อนุมัติแบบก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ ซีพีเอ็นก็ไม่ขยับการก่อสร้างแต่อย่างใด จากกำหนดเดิมจะก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ และเปิดให้บริการภายในปี ๒๕๕๙ กระทั่งมีกระแสข่าวการย้ายทำเลใหม่ ริมถนนมิตรภาพ เยื้องศูนย์จัดการธนบัตรนครราชสีมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยกว้านซื้อที่ดินรวม ๖๐ กว่าไร่ เริ่มจากเจรจาซื้อที่ดินแปลงแรกจำนวน ๕ ไร่ ของร้านนิวเซียงกง มอเตอร์ ซึ่งประกอบกิจการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ และธุรกิจในเครือ คือ เอ็น. เอส. เค. อินเตอร์ โปรดักส์ ซึ่งดำเนินกิจการประกอบตัวถังรถ และอู่เอ็นจีวี พร้อมกับกว้านซื้อที่ดินอีก ๒ แปลง คือ ที่ดินของนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.สมุทรปราการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับตามคำพิพากษาจำคุกในคดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จำนวน ๕๓ ไร่ ติดกับธัญญะปุระ บูติค โฮเต็ล และที่ดินซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ จำนวน ๘ ห้อง และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับเซ็นทรัลแล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ ต่อมากลุ่ม ซีพีเอ็น ในนามบริษัท โคราช แลนด์ โอนเนอร์ จำกัด ที่มีนายคุณายุธ เดชอุดม หรือยุธ ลูกชายของนางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา และเป็นหลานชายตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้ยื่นขอแบบก่อสร้าง Shopping Mall (ศูนย์การค้า) ต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ และเทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมทั้งก่อสร้างสะพานข้ามคลองชลประทานด้านหลังโรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช รวมพื้นที่ใช้สอย ๓๕๘,๙๑๕ ตารางเมตร ขณะนี้ได้รับอนุญาตแบบก่อสร้างทั้งหมดแล้ว และอยู่ระหว่างเร่งก่อสร้าง “เซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา” ให้เสร็จทันภายในไตรมาส ๓ ของปี ๒๕๖๐

 

ที่มา : koratdaily.com

14/8/2016

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร