Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ฉะเชิงเทรายกเครื่องอินฟราฯ 31 โครงการ 2.7 หมื่นล้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่อยู่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor Development : EEC) ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ด้วยศักยภาพของพื้นที่ และความพร้อมต่าง ๆ จึงมีนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมาก เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น จังหวัดฉะเชิงเทราจึงวางแผนพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ที่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน

ข้อมูลจากหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทราระบุว่า โครงการพัฒนา EEC ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปี 2560-2562 รวมทั้งสิ้น 31 โครงการ โดยปี 2560 อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมด 5 โครงการ งบประมาณ 4,404 ล้านบาท ขณะนี้คืบหน้าไปแล้ว 30% คือ กรมทางหลวงดำเนินการ 2 โครงการ งบประมาณ 681 ล้านบาท ได้แก่ 1.เส้นทาง ทล. 315-พนัสนิคม ขยาย 4 เลน และยกระดับคันทาง ระยะทาง 27.74 กิโลเมตร 2.เส้นทาง ทล. 304 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ตอน 2 ขยาย 6 เลน ระยะทาง 9.6 กิโลเมตร ขณะที่กรมทางหลวงชนบท2 โครงการ งบประมาณ 3,712 ล้านบาท ได้แก่ 1.ถนนสาย ฉช.30001 แยก ทล.314-ลาดกระบัง จ.ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ (สัญญาที่ 1) งบประมาณ 1,871 ล้านบาท 2.ถนนสาย ฉช.3001 แยก ทล.314-ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ (สัญญาที่ 2) งบประมาณ 1,841 ล้านบาท

กรมโยธาธิการและผังเมือง 1 โครงการ งบประมาณ 10 ล้านบาท ได้แก่ โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองตามแนวระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)

โครงการปี 2561 มีส่วนที่เสนอขอดำเนินการ 22 โครงการ งบประมาณ 21,120 ล้านบาท คือ กรมทางหลวง (แขวงทางหลวงฉะเชิงเทรา) 7 โครงการ งบประมาณ 18,200 ล้านบาท ได้แก่ 1.ทล.304 มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ตอน 3 ขยาย 6 เลน ระยะทาง 4 กิโลเมตร 2.ทล.304 ฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ตอน 1 (ฉะเชิงเทรา-บางคล้า) ขยาย 8 เลน ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร 3.ทล.304 ฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ตอน 2 (บางคล้า-พนมสารคาม) ขยาย 6 เลน และสร้างสะพานข้ามแยก ทล.3551 ระยะทาง 24.5 กิโลเมตร

4.ทล.304 ฉะเชิงเทรา-เขาหินซ้อน ตอน 3 (พนมสารคาม--เขาหินซ้อน) ขยาย 6 เลน และสร้างสะพานข้ามแยก ทล.319 ระยะทาง 21.5 กิโลเมตร 5.ทล.365 ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทราด้านใต้ ขยาย 8 เลน และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ ระยะทาง 4.995 กิโลเมตร 6. ทล.3 บางปู-อำเภอบางปะกง ระยะทาง 32.43 กิโลเมตร และ 7.ทล.34 สะพานลอยกลับรถ กม.53+000 ขาเข้า และขาออก รวม 2 แห่ง แยกเข้าพานทอง

ด้านการประปาส่วนภูมิภาค 1 โครงการ งบประมาณ 1,890 ล้านบาท คือ โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ขยาย กปภ.สาขาพนมสารคาม-บางคล้า-(แปลงยาว)-(คลองนา)-(เทพราช) เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และอำเภอพนมสารคาม-บางคล้า-แปลงยาว-เมืองฉะเชิงเทรา-บ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยจะวางท่อขยายเขตประปา ต.แปลงยาว คลองนา และเทพราช ก่อสร้างสถานีผลิตน้ำ ขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ที่ฝายท่าลาด และก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบที่อ่างเก็บน้ำแควระบมสียัด

กรมชลประทาน 4 โครงการ งบประมาณ 270 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการศึกษาเพื่อเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองสียัด 2.โครงการศึกษาความเหมาะสมระบบส่งน้ำลุ่มน้ำคลองท่าลาด-อ่างเก็บน้ำคลองสียัด 3.โครงการศึกษาเพิ่มเติมระบบการป้องกันน้ำเค็มแม่น้ำบางปะกงทั้งระบบ เพื่อลดระยะเวลาน้ำเค็มรุกล้ำจาก 6 เดือน เหลือ 4 เดือน และ 4.โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองระบม ระยะที่ 1 กรมโยธาธิการและผังเมือง 3 โครงการ งบประมาณ 78 ล้านบาท ได้แก่ โครงการวางแผนและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2.โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนสุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ 3.โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนพนมสารคาม-เกาะขนุน จังหวัดฉะเชิงเทรา

รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข 7 โครงการ งบประมาณ 862 ล้านบาท คือ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและโรคหัวใจ พร้อมครุภัณฑ์การแพทย์ โรงพยาบาทพุทธโสธร 2.โครงการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุ แบบเลขที่ 8728 เป็นอาคาร คสล. 10 ชั้น โรงพยาบาลบางคล้า และ 3.โครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารอำนวยการ โรงพยาบาลบางปะกง ขณะที่การลงทุนด้านครุภัณฑ์การแพทย์ ได้แก่ 1.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์ 15 รายการ 2.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ โรงพยาบาลสนามชัยเขต และ 3.โครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โรงพยาบาลบางปะกง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประเภทอาคารสนับสนุน คือ โครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารสนับสนุนบริการ โรงพยาบาลบางปะกง

และโครงการปี 2562 มีส่วนที่ขอดำเนินการ 4 โครงการ งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ดังนี้ กรมทางหลวง (แขวงทางหลวงชนบทฉะเชิงเทรา) ดำเนิน 3 โครงการ งบประมาณ 1,420 ล้านบาท ได้แก่ 1.ทล. 34 สะพานกลับรถเกือกม้า บางวัว (กม.39) 2.ทล. 319 ปราจีนบุรี-พนมสารคาม ตอน 2 ศรีมโหสถ-พนมสารคาม ขยายเป็น 4 เลน ระยะทาง 13.146 กิโลเมตร และ 3.ทล.3304 บ้านโพธิ์-แปลงยาว ระยะทาง 20.279 กิโลเมตร รวมถึงกรมชลประทาน ดำเนินการ 1 โครงการ งบประมาณ 180 ล้านบาท คือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองระบม ระยะที่สอง โดยจะเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำอย่างน้อย 10 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ ทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา ระยะทาง 50.638 กิโลเมตร โดยมีลักษณะเป็นวงแหวนทางเลี่ยงเมือง มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่บ้านคลองวังตะเคียน ต.วังตะเคียน อ.เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 18 ตำบล 4 อำเภอ โดยจะเป็นถนน 4 เลน ในช่วง กม.0+000-กม.20+900 และ กม.38+500-กม.50+638 และเป็นถนน 6 เลน ช่วง กม.20+900-กม.38+500

ทั้งนี้การประมาณราคาเบื้องต้นของโครงการ แยกเป็น ค่าก่อสร้าง 13,377 ล้านบาท ค่าสำรวจและออกแบบรายละเอียด 234 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 234 ล้านบาท ค่าเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 3,579 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 17,444 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อแล้วเสร็จ จะเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ 3 ด้าน ในระยะเวลา 20 ปี คือ ประหยัดเวลาในการเดินทาง 34,049 ล้านบาท ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ 17,316 ล้านบาท และลดความสูญเสียด้านอุบัติเหตุ 75 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ คือ การขับเคลื่อนของภาครัฐเพื่อเตรียมรับการลงทุนครั้งใหญ่ในอนาคต

ที่มาและภาพประกอบ : prachachat
 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร