Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ป่วนไม่เลิก! รับเหมาสายสีแดง ติดรื้อท่อขอชดเชยพันล้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

รถไฟฟ้าสายสีแดง "บางซื่อ-รังสิต" ป่วนไม่เลิก สองยักษ์รับเหมา "ยูนิค-อิตาเลียนไทย" ขอขยายเวลา 1-3 ปี พร้อมค่าชดเชย 1 พันล้าน ติดรื้อท่อก๊าซ ผู้บุกรุก หวั่นกระทบแผนเปิดใช้ปี การรถไฟฯผนึก วสท.คลอด 10 กฎเหล็กคุมมาตรฐานความปลอดภัย แก้ปัญหาอุบัติเหตุซ้ำซาก

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าในวันที่ 19 พ.ค. 2560 จะเสนอให้คณะอนุกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯพิจารณาการขยายเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. หลังผู้รับเหมาก่อสร้างทั้ง 2 สัญญาขอขยายเวลาและค่าชดเชย เป็นวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

ยูนิคฯ-ITD ขอต่อเวลาเพิ่ม

แยกเป็นสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ อาคารซ่อมบำรุงและสถานีจตุจักรของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอสยู ประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ได้ขอขยายเวลาออกไปอีก 3 ปี พร้อมค่าชดเชย 700 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.พ. 2560 เป็นเดือน ก.พ. 2563 เนื่องจากติดรื้อย้ายท่อขนส่งน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 60% ยังล่าช้าจากแผนงานอยู่ 40%

ส่วนสัญญาที่ 2 งานทางวิ่งรถไฟยกระดับ และระดับดิน พร้อมอาคารสถานี 6 สถานี ได้แก่ บางเขน ทุ่งสองห้อง หลักสี่ การเคหะฯ ดอนเมือง และรังสิต มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง ขอขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี พร้อมค่าชดเชยประมาณ 300 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.พ. 2560 เป็นเดือน ก.พ. 2561 เนื่องจากติดปัญหารื้อย้ายผู้บุกรุก ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 80% ล่าช้าจากแผนงานประมาณ 20%

"หลังอนุบอร์ดเห็นชอบแล้วจะเสนอให้บอร์ดใหญ่พิจารณา คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งการขยายเวลาครั้งนี้เกิดจากการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาไม่ทัน แต่ทั้งโครงการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จปี 2562 และเปิดใช้บริการปี 2563" แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ออกกฎ 10 ข้อคาดโทษรับเหมา

อย่างไรก็ตาม จากกรณีของอิตาเลียนไทย ที่เกิดอุบัติเหตุเครนก่อสร้างตกลงมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายนั้น ปัจจุบันได้สั่งให้บริษัททำมาตรการด้านความปลอดภัยตามข้อเสนอแนะของสมาคม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) จำนวน 10 ข้อ ให้การรถไฟฯพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ 1. เพื่อความแข็งแรงของการยึดชุดล้อเลื่อน คานเหล็ก และขายึด ให้ติดกับเสาตอม่อให้แข็งแรงขึ้น ให้สามารถรับแรงแนวราบทั้งเดินหน้าและถอยหลังได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักโครงเหล็ก ด้วยวิธีที่เหมาะสม 2. ติดตั้ง Limit Switch เพื่อจำกัดแรงดันและแรงดึงที่ควบคุมการเดินหน้าและถอยหลัง 3. อบรมพนักงาน ช่างเทคนิค และคนงานที่ติดตั้งน้ำหนักชิ้นส่วนคอนกรีตให้เข้าใจถูกต้อง 4. จัดให้มีวิศวกรหรือช่างเทคนิค ตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มงวด 5. ให้มีการรัดหัวเสาเหล็กโดยรอบทุกตัว 6. ในกรณีระหว่างการปฏิบัติงาน หากเครื่องจักรเกิดขัดข้องต้องหยุดทันที แล้วแจ้งต่อวิศวกร 7. กั้นพื้นที่ไม่อนุญาตให้คนทำงานอยู่บริเวณเสาตัวแรกของการยกอุปกรณ์ 8. กั้นพื้นที่ไม่ให้มีรถสัญจรไปมาขณะยกแท่นเหล็ก 9. ติดตั้งวัสดุทึบป้องกันวัสดุตกหล่นจากที่สูง 10. ต้องตรวจ Launching Truss ทุกตัว พร้อมกับลงโทษด้วยการสั่งหยุดงานก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวกับติดตั้งคาน ทั้งหมด จนกว่าจะปฏิบัติการตามมาตรการด้านความปลอดภัยที่กำหนด และไม่ใช่เฉพาะงานก่อสร้างของอิตาเลียนไทยยังรวมถึงงานก่อสร้างของยูนิคฯ ด้วย

"ยอมรับว่าการสั่งให้อิตาเลียนไทยหยุดงานก่อสร้าง และต้องทำมาตรการความปลอดภัยตามที่กำหนด จะส่งผลให้งานก่อสร้างล่าช้าจากแผนที่ปรับใหม่ตามที่บริษัทขอขยายเวลาไปเป็น ก.พ.ปีหน้าเพราะจะไม่ขยายเวลาให้อีกแล้ว ถือว่าเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง เพราะตามกฎหมายเราไม่มีอำนาจไปแบล็กลิสต์ได้ ซึ่งได้รายงานให้ไจก้าหรือองค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ทราบแล้ว ทั้งนี้อยู่ที่นโยบายของไจก้าจะดำเนินการกับอิตาเลียนไทยอย่างไรต่อไป"

สภาวิศวกรรอสรุป

ด้าน ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากกรณีรถไฟฟ้าสายสีแดงมีเหตุการณ์เครนถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย สภาได้นำคณะผู้ชำนาญการพิเศษลงพื้นที่เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560 พบว่า เป็นงานวิศวกรรมควบคุมตาม พ.ร.บ.วิศวกร 2542 ออกแบบโครงเหล็กและควบคุมงานก่อสร้างที่สถานที่ก่อสร้าง หากพบว่ากระทำผิดจะเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และหากไม่มีวิศวกรควบคุมการก่อสร้างจะมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

"การตรวจสอบอยู่ระหว่างรอเอกสารและประวัติการทำงานของวิศวกร คาดว่าจะได้ข้อสรุปถึงสาเหตุใน 6 เดือนนี้"

การดำเนินการจรรยาบรรณของสภาวิศวกร จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยตั้งไว้ 4 ประเด็นคือ 1. การออกแบบยึดโครงเหล็กเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากพบการขาดของเหล็ก PT Bar จำนวน 3 เส้น ระหว่างการเคลื่อนที่ของเครน ซึ่งเครนถูกออกแบบมาให้เคลื่อนที่ไปและกลับ หรือเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเดียว ช่วงที่เกิดถล่ม เป็นช่วงที่มีการลดระดับมีการคำนึงถึงการเลื่อนตัว และแรงที่ต้องใช้มากกว่าปกติ ในการขยับขึ้นหรือลงหรือไม่ 2. การก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ มีการขันยึด PT Bar ให้เข้ากับหัวเสาอย่างหนาแน่นหรือไม่ ขั้นตอนการก่อสร้างถูกต้องตามที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่ 3. มีการกำหนดระบบป้องกันอื่นหรือระบบสำรองที่จะยึดโครงเหล็กไม่ให้ตกลงมา และ 4. วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นวัสดุที่ได้มาตรฐาน มีกำลังรับน้ำหนักตามที่ออกแบบหรือไม่

เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ได้เตรียมตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน ภายใน 1 เดือน เพื่อให้ข้อเสนอแนะและขอความร่วมมือให้ทำระบบสำรอง หากระบบหลักมีปัญหา เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น

 

ขอบคุณข่าวจาก: ประชาชาติธุรกิจ

ขอบคุณรูปภาพจาก: skyscrapercitynewsfreelancercoe

บทความที่แนะนำ:

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร