Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เปิดประเด็นน่ารู้: การเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าของคนเมือง ส่งผลต่อระยะการเดินอย่างไรบ้าง?

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

โฉมหน้าของระบบขนส่งมวลชนในเมืองหลวงที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราๆ อย่างไรบ้าง? เรามีเกร็ดความรู้ที่ได้จากงานวิจัยที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าที่น่าสนใจมาฝากครับ

รถไฟฟ้ากับการเดินทางที่สะดวกสบาย

แนวคิดเรื่องการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หรือ Transit- Oriented Development (TOD) ในประเทศไทยเริ่มได้รับความสนใจในวงกว้างมาระยะหนึ่งแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบขนส่งมวลชนในตัวเมืองกรุงเทพมหานครกำลังก้าวเข้าสู่การใช้รถไฟฟ้าเป็นการคมนาคมหลักในอัตราที่เร็วขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาที่ต่อยอดจากแนวคิดนี้ในแง่มุมต่างๆ มากมาย

 


 

ถ้าเราพิจารณาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้าเส้นแรกจนถึงปัจจุบัน (หรือเทียบเป็นระยะเวลาประมาณ 18 ปี) รถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการและที่กำลังก่อสร้างอยู่ในบริเวณกรุงเทพและปริมณฑลครอบคลุมระยะทางทั้งหมด 185.14 กิโลเมตร 123 สถานี แต่จากแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ประกาศออกมา ภายในปี พ.ศ. 2572 (หรืออีก 12 ปีที่จะถึงนี้) โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะขยายระยะการให้บริการยาวถึง 330 กิโลเมตร 246 สถานี ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทีเดียว เมื่อเทียบกับจำนวนที่เป็นมาในช่วง 15 ปีรวมกันทั้งหมด

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เราจะมองว่าคนที่สัญจรไปมาในเมืองขณะนี้ก็เลือกใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่เชื่อได้ว่าอีกไม่เกิน 12 ปี พฤติกรรมการเดินทางของผู้คนจะเปลี่ยนไปอีกครั้งอย่างแน่นอนครับ วันนี้เราจึงหยิบงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำแนวคิด TOD มาต่อยอด และทำการศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังมาให้นำเสนอให้คุณครับ

 

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานของอาจารย์อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, อาจารย์ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์, และคุณจักรพันธ์ จุลละโพธิ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ศึกษาพฤติกรรมการเดินทางของผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบัน ผ่านคำถามวิจัยว่า เมื่อคนที่อาศัยอยู่ในเมืองส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนทางรางแล้ว ระยะการเดินเท้าของผู้ใช้บริการเปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือไม่และอย่างไร

 

โดย 4 คำถามหลักที่ถูกตั้งขึ้นมาในการทำงานวิจัยเพื่อหาคำตอบที่เป็นประโยชน์ มีดังนี้

1. ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามีระยะการเดินเพิ่มมากขึ้นหรือลดน้อยลงหลังเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า และหากมีการเปลี่ยนแปลง ผู้ใช้บริการมีการเดินมากขึ้นหรือน้อยลงมากน้อยเพียงใด

2. ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อระยะการเดินเท้าที่เปลี่ยนแปลงไป

3. การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย และ/หรือที่ทำงาน มีผลต่อระยะการเดินเท้าที่เปลี่ยนแปลงไปไหม

4. ประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ที่งานวิจัยค้นพบ

 

กลุ่มตัวอย่างและวิธีการเก็บข้อมูล

ผู้วิจัยได้ไปสัมภาษณ์ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในการเดินทางเป็นประจำ จำนวน 1,020 คน ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน ถึง 9 กรกฎาคม 2557 ในชั่วโมงเร่งด่วน เวลา 7 - 9 โมงเช้า ซึ่งแต่ละสถานีผู้วิจัยจะทำการสุ่มสัมภาษณ์ผู้ใช้บริการในขบวน (On-board Survey) สถานีละ 30 ตัวอย่าง โดยสอบถามข้อมูลการเดินทาง เช่น เวลาการเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ วิธีการเดินทางเข้า-ออกสถานี การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย รวมไปถึงวิธีการเดินทางที่ผู้ใช้บริการเคยเดินทางก่อนที่จะเปลี่ยนมาเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ซึ่งการเดินเท้าเป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้ใช้บริการโดยทั่วไปใช้ในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า ผู้วิจัยได้สอบถามถึงระยะการเดินเท้าโดยประมาณที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ใช้ทั้งก่อนและหลังใช้รถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการเดินจากบ้าน หรือการเดินจากสถานีรถไฟฟ้าไปยังสถานที่ทำงาน

 

 

จากข้อมูลเชิงสถิติจากการสำรวจ เราจึงได้ข้อสรุปผลการวิจัยในประเด็นเกี่ยวกับ ค่าเฉลี่ยของระยะทางเดิน (เมตร) ของกลุ่มคน 4 กลุ่ม ดังตารางด้านล่างนี้

กลุ่มที่ 1 คือ คนที่ไม่ได้เปลี่ยนที่อยู่อาศัยหรืองาน หลังเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า

กลุ่มที่ 2 คือ คนที่เปลี่ยนเฉพาะที่อยู่อาศัย หลังเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า

กลุ่มที่ 3 คือ คนที่เปลี่ยนเฉพาะงาน หลังเปลี่ยนมาใช่รถไฟฟ้า

กลุ่มที่ 4 คือ คนที่เปลี่ยนทั้งที่อยู่อาศัยและงาน หลังเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า

 



 

ทั้งนี้ ผลการวิจัยที่ได้จากการตั้งคำถาม 4 คำถามหลักตอนต้นของบทความ มีดังนี้

1.  จากผลการวิจัย พบว่า ผู้ใช้บริการโดยส่วนใหญ่เดินมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า โดยเดินไกลขึ้นประมาณ 591 เมตรต่อวัน

2. คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะเดินเป็นระยะทางมากขึ้น หากสามารถช่วยร่นเวลาที่ใช้ในการเดินทางและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ระยะเดินเท้าของคนส่วนใหญ่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะการใช้รถไฟฟ้าช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเวลาได้

 


 

จากกราฟแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เดินไกลขึ้น 2 เท่าตัว หลังจากการเปลี่ยนแปลงของระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพที่เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเป็นหลัก

 

3. แม้ว่าโดยรวมคนทุกกลุ่มที่หันมาใช้รถไฟฟ้าจะมีระยะการเดินเพิ่มมากขึ้น แต่งานวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งงานและที่อยู่อาศัยหลังเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า เดินน้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้เปลี่ยนงานหรือที่อยู่อาศัย เป็นไปได้ว่าคนที่ตั้งใจเปลี่ยนงานหรือที่อยู่อาศัยนั้น ตั้งใจเปลี่ยนไปที่ๆ เดินทางสะดวกขึ้นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่คนทุกกลุ่มต้องเดินมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า ก็อาจเป็นเพราะว่าหลังจากกระแสการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รอบสถานีรถไฟฟ้า ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณเหล่านั้นดีดตัวสูงขึ้นมาก จนคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีกำลังซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ราคาสูงดังกล่าวได้ จึงต้องเลือกที่อยู่ซึ่งห่างจากตัวสถานีออกไประยะหนึ่ง และเดินไกลขึ้นแทน

 

4. ข้อสังเกตอื่นๆ จากผลสำรวจที่น่าสนใจมีดังนี้

  • คนที่ใช้รถไฟฟ้า 46% เป็นเจ้าของรถยนต์ด้วย แต่ก็ยังเลือกใช้รถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ซึ่งคนที่มีรถยนต์มักจะเดินไกลกว่าคนที่ไม่มีรถยนต์ อาจเป็นเหตุมาจากข้อกำจัดในเรื่องที่จอดรถ จึงเข้าถึงตัวสถานีได้ลำบากกว่า
  • คนที่ใช้รถไฟฟ้าสายสุขุมวิท ฝั่งตะวันออก (แบริ่ง) โดยเฉลี่ยเดินไกลที่สุด
  • เมื่อคนเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า พบว่าสามารถประหยัดเวลาได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 21 นาที
  • คนที่มีรายได้น้อยและไม่ได้เปลี่ยนที่อยู่อาศัยจะเดินไกลที่สุด

 

งานวิจัยชิ้นนี้มีประโยชน์อย่างไรและจะส่งผลกระทบกับชีวิตเราอย่างไรบ้าง?

 


 

เมื่อเราค้นพบแล้วว่าคนส่วนใหญ่จำเป็นต้อง (หรือยินดีที่จะ) เดินมากขึ้น ประโยชน์อย่างแรกที่เห็นได้ง่ายสุดเลยก็คือ การเดินจะส่งผลให้ประชากรผู้เดินทางอยู่ในกรุงเทพมีสุขภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ นี่ยังไม่รวมไปถึงสุขภาพจิต ที่ไม่ต้องเครียดกับการเผชิญรถติดเหมือนแต่ก่อน ประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และลดเวลาการเดินทางอีกด้วย

ดังนั้น รัฐสามารถนำผลที่ได้จากงานวิจัยนี้ ไปผลักดันให้มีการสร้างทางเดินเท้าที่ดี สะดวก ปลอดภัย และน่าเดิน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถประมาณระยะทางที่จะพัฒนาทางเดินเท้าได้ถูกต้องว่าควรทำถึงระยะห่างจากรถไฟฟ้าแค่ไหนที่ยังมีคนเดินอยู่ และประเมินงบประมาณที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุดได้ดี หรือบริษัทเอกชนเองก็สามารถนำข้อมูลไปพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องเดินเท้าในช่วงก่อนจะไปถึงตัวสถานีหรือระหว่างสถานีได้มากขึ้นว่าพวกเขาต้องการอะไร

ขณะนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังผลักดัน โครงการ “Good Walk เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” เพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ กทม. ที่มีกว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการเดิน  โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างเมืองสุขภาวะ ทำให้คนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ที่ www.goodwalk.org ถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจครับ

 

แล้วคุณล่ะ เป็นหนึ่งในคนที่หันมาเดินมากขึ้นเมื่อใช้รถไฟฟ้าหรือเปล่าครับ?

 

อ้างอิงบทความ:

Ratanawaraha, A., Chalermpong, S. and Chullabodhi, C. (2015) “Walking Distance of Commuters after Modal Shift to Rail Transit in Bangkok” Journal of the Eastern Asia Society for Transportation Studies. 11. 1467-1478.

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร