Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เมกะโปรเจค ดันภาคอสังหาฯ ขยายตัว

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

กระทรวงคมนาคมเร่งเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า เพื่อผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ ด้านผู้ประกอบการแนะรัฐกำหนดแผนการดำเนินการให้ชัดเจน ป้องกันความเสี่ยงเอกชนลงทุนแต่โคงการไม่เกิด

ในงานสัมมนา "โอกาสลงทุนอสังหาฯในเมกะโปรเจคภาครัฐ" จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 ร่วมกับพันธมิตร วานนี้ ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และตัวแทนภาคเอกชนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงนักวิชาการ และที่ปรึกษาอสังหาฯ เข้าร่วมงาน เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และโอกาสการลงทุนของอสังหาฯจากความชัดเจนของโครงการขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจค

นายอาคม ระบุว่า การลงทุนเมกะโปรเจค ของรัฐบาลมีผลในการสร้างทางเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงผลักดันให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโต แต่ยอมรับว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเรื่องดังกล่าวมีการดำเนินการล่าช้า ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้พยายามผลักดันให้มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่มากขึ้นตั้งแต่ปี 2558 และจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในปี 2562

กระทรวงฯ เตรียมจะนำโครงการคมนาคมสำคัญ ทั้ง 2 ส่วน คือ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายต่างๆ และโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ดอนเมือง เสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง จากจำนวนทั้งหมด 9 เส้นทาง ที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ภายในระยะเวลา 2 เดือน

สำหรับรายละเอียดเส้นทางการเชื่อมต่อของโครงการรถไฟฟ้าข้างต้น ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม ตลิ่งชัน สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน ราษฎร์บูรณะ สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค พุทธมณฑลสาย 4 สายสีเขียวช่วงฝั่งเหนือ ใต้ของสถานี ฝั่งละ 4 สถานี แบ่งเป็น ช่วงคูคต ลำลูกกา และสมุทรปราการ -บางปู ซึ่งคาดว่าระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการใหม่ๆ จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในปี 2562

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ที่จะนำเสนอ ครม.ภายใน 2 เดือนนี้ ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพฯ เชียงใหม่, บ้านไผ่ นครพนม และเด่นชัย เชียงราย -เชียงของ หลังจากปีที่ผ่านมา ครม.อนุมัติแล้ว 5 เส้นทาง และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาแล้ว เช่น เส้นทาง หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์

ในด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อเสริมศักยภาพโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกก (อีอีซี) ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษากับพันธมิตรญี่ปุ่นภายในระยะเวลา 3 เดือน ทั้งยังได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอีอีซี ให้มาศึกษาการเชื่อมต่อ 3 เส้นทาง

กระทรวงฯ มองว่า การลงทุนโครงการต่างๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนเข้าไปลงทุนตามโครงการภาครัฐ อีกทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างมาก โดยที่ผลประโยชน์และผลตอบแทนจากโครงการเหล่านี้จะส่งผลต่อการเติบโตในเชิงธุรกิจและการเงิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านที่อยู่อาศัย ตลอดจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ ระยอง เพิ่มศักยภาพกับโครงการอีอีซี ด้วยการเพิ่มจุดเชื่อมต่อสนามบินผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูง เช่น สนามบินอู่ตะเภาที่ในอนาคตจะกลายเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเชื่อมต่อท่าเรือ และรถไฟความเร็วสูงอีกสาย คือ กรุงเทพฯ หัวหิน ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษากับญี่ปุ่นในเรื่องเชื่อมต่อ East West Corridor เช่น เส้นทางแม่สอด มุกดาหาร ต่อไป

โครงการจะสำเร็จได้มี3ขั้นตอน คือ เริ่มตั้งแต่นำเสนอให้ ครม.อนุมัติโครงการก่อน ต่อมาคือ ขั้นตอนการประกวดราคา หาผู้รับเหมา และขั้นตอนเริ่มดำเนินการ ตัวอย่างเช่น ในปี 2558 -2559 อยู่ในช่วงขออนุมัติ ปี 2560 เริ่มทยอยประกวดราคาหลายโครงการ เช่น รถไฟทางคู่ โครงการมอเตอร์เวย์

จากนั้นจะทยอยดำเนินโครงการก่อสร้างไปจนถึงปี 2566 -2567 ซึ่งในปี 2558 -ปี 2559 คือ ช่วงแอคชั่นแพลนที่ 1-2 ของกระทรวงคมนาคม และในปี 2560 เป็นแอคชั่นแพลน ที่ 3 ของกระทรวงคมนาคม รวมการลงทุนเมกะโปรเจค มูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท ที่ครอบคลุมในโครงการคมนาคม คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการในปี 2565 -2567ที่ผ่านมา ถนนหลายเส้นทางที่ต้องปรับปรุง หรือไม่เคยขยายการก่อสร้างก็เริ่มสร้างแล้วในปีนี้

ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์ 3 สายสำคัญ เช่น พัทยา มาบตาพุด, บางใหญ่ -กาญจนบุรี และบางปะอิน โคราช ได้รับการอนุมัติแล้วในปี 2558 ปัจจุบัน รถไฟทางคู่มี 40 สัญญาลงนามไป 38 สัญญาแล้ว เหลืออีก 2 สัญญา คือ บางปะอิน -โคราช ที่ต้องดูเรื่องการจัดหาที่ดินต่างๆ ที่จะดำเนินการต่อไป ทำให้การเดินทางใช้ระยะเวลาสั้นลงสำหรับโครงการต่างๆ ได้รับการอนุมัติแล้ว เช่น สีส้มตะวันตก มีนบุรี ศูนย์วัฒนธรรม

ส่วนสายสีเขียว ช่วงส่วนต่อแบริ่ง สำโรง ก็เปิดให้บริการแล้ว สายสีเขียวเข้ม หมอชิต คูคต เริ่มสร้างแล้วกว่า 20% ด้านโครงการต่างๆ 10 สาย ที่เป็นโครงข่ายหลักจะเริ่มเกิดขึ้นแล้ว สำหรับ บขส.ใช้ 2 สถานที่ โดยจะย้ายจากเดิมจตุจักรขยับขยายไปจากที่เดิมเล็กน้อย เนื่องจากที่ดินในบริเวณดังกล่าวยังมีศักยภาพพัฒนาได้มากกว่าสถานีขนส่ง

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท พรีเมียม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า ภาครัฐควรต้องมีช่วงเวลา หรือไทม์ไลน์ ของแผนงานโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจคต่างๆที่ชัดเจนและแม่นยำ เพื่อที่จะช่วยสร้างความชัดเจนให้แก่ภาคเอกชนในการลงทุนมากขึ้น

หลังจากที่ผ่านมา บางโครงการเมกะโปรเจคแม้ว่าจะมีกระแสข่าวมา แต่เมื่อเอกชนไปดักซื้อที่ดินลงทุนรอรับโครงการภาครัฐแล้ว แต่ภายหลังโครงการกลับไม่เป็นไปตามแผน ทำให้การลงทุนภาคเอกชนเกิดปัญหาตามมา

นอกจากนี้ ยังอยากให้มีหน่วยงานติดตาม หรือ Monitoring Center ที่จะเข้ามาช่วยสื่อสารกับภาคเอกชนให้รับทราบถึงขั้นตอน หรือความคืบหน้าโครงการเมกะโปรเจคว่าช้า หรือเร็วอย่างไรบ้าง เพื่อให้ภาคเอกชนปรับตัวได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนอยากให้ปรับโครงสร้างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ของเมกะโปรเจคของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การปรับแก้กฎหมายผังเมือง กฎกระทรวงต่างๆ ให้สอดรับกับการพัฒนาเมืองที่จะเกิดขึ้น

โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ยังมีผลต่อการปรับตัวของราคาที่ดิน เช่น ที่ดินย่านรัชดาภิเษกปรับไปถึงตารางวาละ1ล้านบาทแล้ว จากอิทธิพลของรถไฟฟ้าสายหลัก (Black bone line) คือสายสีเขียว และสีน้ำเงิน ส่วนรถไฟฟ้าสายที่ส่งผู้ใช้บริการเข้าระบบ (Feeder line) จะคึกคักเป็นบางช่วง เช่น ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ก็มีผลต่อความต้องการที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด สะท้อนอิทธิพลของโครงการระบบขนส่งมวลชนอย่างมาก

ขณะที่ภาพรวมตลาดอสังหาฯในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าปีนี้จะเติบโตได้ 3-5% โดยจะมีแรงหนุนจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เหลือง มาเป็นตัวขับเคลื่อนที่ชัดเจน
 

ที่มา: nationtv

ขอบคุณรูปภาพ: wikipedia

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร