Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

3 ลักษณะ "เมืองเดินได้" ของเชียงใหม่

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เชียงใหม่ ถือเป็นเมืองขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การปกครอง และการท่องเที่ยวของภาคเหนือ รวมถึงเป็นเมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรม ศิลปะ สถาปัตยกรรมที่หลากหลาย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เมืองเชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว รวมถึงจุดหมายของการอยู่อาศัยอีกด้วย

หนึ่งในปัญหาสำคัญของเมืองขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย หรือในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาคงหนีไม่พ้นปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนภายในเมือง (Urban Mobility) ปัญหารถติด และระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น แนวความคิดในการพัฒนาเมืองด้วยการใช้รูปแบบการเดินทางภายในเมืองโดยไม่ใช้รถยนต์ หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนจึงถูกพัฒนาขึ้น และเป็นกระแสหลักในการพัฒนาเมืองทั่วโลก

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองได้พัฒนา “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ซึ่งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับการเดินเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเมืองหลักทั่วประเทศไทย สำหรับบทความนี้จะขอยกตัวอย่างผลการศึกษาเกี่ยวกับ “เชียงใหม่ เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” มาเล่าสู่กันฟัง ...

เชียงใหม่เมืองเดินได้?
แผนที่ด้านบน คือ แผนที่เมืองเดินได้ ซึ่ง "เมืองเดินได้ หรือ พื้นที่เดินได้ หมายถึง พื้นที่ที่เราสามารถอยู่อาศัยได้ในชีวิตประจำวันโดยการเดินเท้า หรือไม่ต้องพึ่งพาการใช้รถยนต์ เพราะสาธาธารณูปการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในระยะที่เดินถึง" เมื่อพิจารณาจากแผนที่จะพบว่า สภาพโดยทั่วไปของเมืองเชียงใหม่มีลักษณะที่สามารถเป็นเมืองเดินได้ตามผลการศึกษานี้ โดยจะเห็นได้ว่าพื้นที่เดินได้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเณศูนย์กลางเมือง (แนวคูเมืองเชียงใหม่) และบริเวณรอบๆ เมืองภายในถนนวงแหวนรอบที่ 1 ซึ่งมีการแผ่ขยายไปเกือบทุกทิศทาง ยกเว้นทางด้านทิศใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเชื่อมกับสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งกีดขวางการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ทางด้านทิศใต้ อย่างไรก็ตามลักษณะของเมืองเดินได้ของเมืองเชียงใหม่ สามารถตีความและจำแนกลักษณะของกลุ่มพื้นที่เมืองเดินได้ออกเป็น 3 รูปแบบที่น่าสนใจดังนี้

3 ลักษณะทางพื้นที่เมืองเดินได้ ของเชียงใหม่

ลักษณะที่ 1


พื้นที่เมืองเดินได้ภายในพื้นที่เขตคูเมืองเดิม ซึ่งมีลักษณะทางสัณฐานเมืองที่เอื้อต่อการสัญจรด้วยการเดินเท้า ด้วยการมีโครงข่ายการสัญจรเกือบเป็นระบบกริด (Grid System) ที่สมบูรณ์ มีบล๊อกขนาดเล็ก และมีสาธารณูปการกระจุกตัวอยู่อย่างหนาแน่น
 

ลักษณะที่ 2


พื้นที่เมืองเดินได้บริเวณย่านเศรษฐกิจหลักของเมือง (CBD) ซึ่งเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีลักษณะพิเศษ คือเมืองเกิดจากการรวมตัวของความเป็นย่านเล็กๆ หลายย่าน ซึ่งแต่ละย่านมีลักษณะที่เฉพาะตัว โดยย่านที่มีลักษณะเป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองกระจายตัวโดยรอบเขตคูเมืองเก่า คือ

2.1 ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจดั้งเดิม บริเวณตลาดวโรโรส ตลาดต้นลำใย ถนนเจริญเมือง
2.2 ย่านเศรษฐกิจด้านทิศเหนือ "ย่านช้างเผือก" ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัย ย่านเศรษฐกิจระดับย่าน ระดับเมือง และเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งด้านทิศเหนือ
2.3 ย่านเศรษฐกิจใหม่ของเมืองด้านทิศตะวันตก "ย่านนิมมานเหมินห์" ศิริมังคลาจารย์ แนวคันคลองชลประทาน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจใหม่ของเมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์รวมของร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกินดื่ม แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ
2.4 ย่านเศรษฐกิจด้านทิศใต้ บริเวณย่านวัวลายและทิพยเนตร ศูนย์กลางเศรษฐกิจ และการค้า รวมถึงเป็นย่านวัฒนธรรมเครื่องเงินของเมืองเชียงใหม่

ลักษณะที่ 3


พื้นที่เมืองเดินได้ตามแนวถนนรัศมีของเมือง เช่น ย่านเศรษฐกิจตามแนวถนนเชียงใหม่-หางดง เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด เชียงใหม่-แม่ริม และเชียงใหม่-สันกำแพง เป็นต้น นอกจากนี้การพัฒนาของเมืองในลักษณะของ Ribbon Development ในบริเวณแยกถนนทำให้เกิด Node ของย่านขนาดเล็กบริเวณมุมถนน เช่น แยกศาลเด็ก เเยกสนามบิน และแยกคำเที่ยง เป็นต้น

เชียงใหม่ "เมืองเดินได้" แต่ไม่เสมอไปว่าจะ "เดินดี"
แม้ว่าเชียงใหม่ จะมีศักยภาพที่จะเป็น “เมืองเดินได้” แต่ความท้าทายของเมืองเชียงใหม่คือการสร้างพื้นที่เดินได้เหล่านั้นให้มีคุณภาพการเดินเท้าเท้าที่ดี นั่นคือการสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เอื้อและสนับสนุนต่อการเดินเท้า ทั้งลักษณะทางกายภาพและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเมือง เพื่อจะนำไปสู่การเป็น เชียงใหม่เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี ในอนาคต

ผลการศึกษาของ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่เกือบ 45 % ของพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยการเดินเท้า แต่อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาในปัจจุบันที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวต้องเผชิญอยู่คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนและทางเท้าที่ยังไม่ดีเพียงพอ รวมถึงสภาพปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ตลอดจนช่วงฤดูกาลของการท่องเที่ยว ทั้งนี้อาจจะด้วยข้อจำกัดบางประการของระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ที่ยังต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานอันจะช่วยส่งเสริม “วิถีการเดินเท้า” ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในเมืองเชียงใหม่ต่อไป



สุดท้ายนี้ การจะเป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดีหรือไม่นั้น คงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนให้เมืองเชียงใหม่ไปสู่เป้าหมายสุดของการเป็นเมืองวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับการเดินเท้าได้ในที่สุด

 
 

 


เขียนโดย: อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ 

นักผังเมืองรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้าน Urban Planning and  Analytics โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนและวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี (Good Walk) ดำเนินการศึกษาโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้จากการนำเสนอบทความทางวิชาการในหัวข้อ “ศักยภาพการเข้าถึงสาธารณูปการที่ส่งเสริมการเดินเท้าของเชียงใหม่” ในงานการประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ประจำปี 2560 หรือ GEOINFOTECH 2017 

สามารถดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

ขอบคุณภาพประกอบจาก: followingourfeet.com, SkyscraperCity

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร