Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

Better City, Better Living for Better Life: ความโปร่งใสกับโครงการระดับชาติ

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เจอข่าวหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความโปร่งใสในการก่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นที่กำลังเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ซึ่งออกแบบโดย Kengo Kuma โดยถูกกล่าวหาว่ามีการใช้ไม้ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและละเมิดสิทธิมนุษยชน



เดิมทีตอนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก 2020 คณะกรรมการจัดงานได้เลือกแบบของ Zaha Hadid สถาปนิกหญิงชาวอิรัก-อังกฤษ เป็นตัวชูโรงในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ จนเมื่อได้เป็นเจ้าภาพแบบสนามกีฬาแห่งนี้ถูกคัดค้านจากประชาชน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณก่อสร้างที่สูงเกินไปรวมถึงการถูกวิพากษ์ในแง่ลบจากสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงว่า เป็นอาคารที่ใหญ่โตและไม่เหมาะสมกับบริบท จนรัฐบาลญี่ปุ่นโดยนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ยกเลิกแบบโดยแถลงว่ามาจากความต้องการของประชาชน จนได้แบบสนามกีฬาที่ถูกเลือกออกแบบโดย Kengo Kuma สถาปนิกชาวญี่ปุ่น (เป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ออกมาวิพากษ์งานของ Zaha Hadid)





กลุ่มเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่ามีการใช้ไม้อัดที่มาผิดกฎหมาย เพื่อใช้เป็นแบบหล่อคอนกรีตในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติซึ่งออกแบบโดย Kengo Kuma มีคำร้องที่มีลายเซ็น 140,000 ชื่อรับรองถูกส่งไปยังสถานทูตญี่ปุ่นในสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนี เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการใช้ไม้เขตร้อนราคาประหยัด ด้าน Bilong Oyoi อดีตหัวหน้าหมู่บ้านป่าดงดิบใน Sarawak, Borneo ได้ยื่นคำร้องต่อสถานทูตในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เขาอ้างว่า ไม้ที่ใช้ในการสร้างสนามกีฬาโอลิมปิกกำลังทำลายวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองของเกาะพีนัน

นอกจากนั้นการสืบสวนโดยกลุ่มองค์กรการกุศลกว่า 40 แห่งพบว่า มีการใช้ไม้อัดเขตร้อนเพื่อสร้างสนามกีฬาโอลิมปิก กองทุน Bruno Manser Fund ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อ้างว่า ไม้สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังนายหน้าชาวมาเลเซียที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนการลักลอบตัดไม้และทำลายป่าฝน

สำหรับข้อมูลอีกด้าน สภากีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Sport Council - JSC) ซึ่งดูแลการก่อสร้างสนามกีฬาได้รายงานไปยังคณะกรรมการจัดงาน Tokyo 2020 ว่า ไม้อัดได้รับการรับรองโดยโครงการเพื่อการรับรองป่าไม้ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร ส่งเสริมการจัดการป่าอย่างยั่งยืน พวกเขายืนยันเพิ่มเติมว่าสอดคล้องกับด้านกฎหมายและความยั่งยืนของมาตรฐานการจัดหาที่กำหนดโดยคณะกรรมการจัดงาน Tokyo 2020

ความโปร่งใสจะมีจริงหรือไม่!?

ก็ต้องติดตามบทสรุปของโครงการนี้กันต่อไปครับ ที่นำข่าวนี้มาเล่าสู่กันฟังเพราะเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการออกแบบและการก่อสร้างโครงการระดับชาติที่เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียออกมาวิพากษ์วิจารณ์ โต้แย้ง เสนอข้อเท็จจริงเพื่อความโปร่งใส เพราะงานสถาปัตยกรรมนั้นอยู่กับเราไปอีกนาน



ขอบคุณภาพประกอบจาก: dezeen.com, japantimes.co.jp, thestar.com

 


เขียนโดย: มนต์ชัย บุญยะวิภากุล 
นักคิด นักเขียน นักเดินทาง นักธุรกิจ
ผู้เชียวชาญด้านการบริหารจัดการหลักสูตรสถาปัตยกรรม
อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร