Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

Foresight กับเทรนด์ใหม่ของการใช้ชีวิตของคนกรุง (ตอนที่ 2)

23/4/2017
x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

จากคราวที่แล้วเราได้พาคุณไปรู้กจักกับ 5 เทรนด์หลักของการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ของคนกรุงเทพฯ จากการ  "Foresight" หรือการมองภาพอนาคต ที่เป็นกระบวนการคาดการณ์ภาพอนาคตร่วมกันของคนหลากหลายกลุ่ม ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ถึงสิ่งที่จะเกิด และไม่เกิดขึ้นในอนาคต จึงทำให้อคติจากความคิดเห็น และผลประโยชน์ส่วนตัวลดลง การได้มาซึ่งภาพอนาคตจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง โดยตอนที่แล้วมี 5 เทรนด์ที่เราได้กล่าวถึงไปดังนี้

1. ชีวิตเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous life)
2. รางเชื่อมเมือง (Connected track)
3. อิสระแห่งการทำงาน (Freedom of work)
4. การบริการสาธารณะที่สะดวก (Convenient public service) และ
5. บูรณะการของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Integrated Cultural Tourism)

ในครั้งนี้จะขอกล่าวถึงเทรนด์หลัก 5 ประการที่เหลือที่ได้จากกระบวนการ Foresight หรือการมองภาพอนาคต ได้แก่

6)  การผลิตใหม่กลางเมือง (New Urban Industry)



ที่ผ่านมามีการจำกัดเขตอุตสาหกรรมและสร้างเงื่อนไขต่างๆ มากมายสำหรับกิจกรรมการผลิตในพื้นที่เมือง เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองให้ห่างไกลจากมลพิษ แต่ในอนาคตอันใกล้ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคมในอนาคต จะส่งผลโดยตรงกับระบบการผลิตที่จะตอบสนองวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบันมากขึ้น กล่าวคือ การผลิตยุคใหม่จะสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมน้อยลง การผลิตยุคใหม่จะใช้พื้นที่ในการผลิตน้อยลง ดังนั้น พื้นที่สำหรับการผลิตในอนาคตจึงไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่นอกเมืองแล้วให้คนงานต้องเดินทางวันละหลายชั่วโมงเพื่อไปทำงานอีกต่อไป ในอนาคตอันใกล้นี้ การผลิตบางประเภท อาทิ การปลูกผักไร้สารพิษ จะกลับเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองด้วยเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงจากการพัฒนาระบบขนส่งคมนาคมสาธารณะที่มีความเชื่อมโยงถึงกัน จะส่งผลให้การขนส่งสินค้าและการติดต่อระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

7)  แหล่งพลังงานหลากหลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Diversified Environmental-Friendly Energy Sources)



ความตื่นตัวในการเป็นสังคมปลอดมลพิษและการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต จะส่งผลให้เกิดการลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน มาเป็นการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย โดยเทคโนโลยีหน่วยเก็บพลังงาน (Battery) ที่ดีขึ้น จะช่วยลดขีดจำกัดด้านต่างๆ ทำให้เกิดภูมิทัศน์เมืองที่สัมพันธ์กับพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้แบตเตอรี่ลิเธียมในรถยนต์ จะส่งผลให้ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลค่อยๆ ลดจำนวนลงไป โดยมีสถานีจ่ายพลังงานทางเลือกใต้อาคารเข้ามาแทนที่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดพลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นในระดับชุมชน อาทิ พลังงานจากขยะ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานที่ได้จากการออกกำลังกายซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการฟื้นฟูทางเท้าในอนาคต เป็นต้น

8)  โครงสร้างประชากรใหม่ (New Bangkokian)



แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรภายในพื้นที่เขตเมืองชั้นในกรุงเทพฯ จะส่งผลให้เกิดความต้องการปรับปรุงการใช้ที่ดินและอาคารในเขตเมืองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในอนาคตอันใกล้นี้ มีแนวโน้มว่าประมาณของประชากรผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ จะมีสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้เกิดแนวโน้มในการใช้ที่ดินในรูปแบบของที่อยู่อาศัยแนวตั้งมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดการปรับปรุงและดัดแปลงอาคารเก่าเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน รวมถึงสาธารณูปการ และพื้นที่สาธารณะของเมืองจะถูกผลักดันให้เกิดทางแนวตั้งมากขึ้น อาทิ หอศิลป์ลอยฟ้า โบสถ์ลอยฟ้า สวนสาธารณะลอยฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ดินของพื้นที่หน่วยราชการเดิมภายในเมือง สู่การใช้ประโยชน์ในด้านอื่นที่เหมาะสมกับบริบทการพัฒนาร่วมสมัย พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงย่านเก่าและสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยจะมีการแทนที่ของกิจกรรมใหม่และคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีบทบาทในสังคมเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มศิลปิน ชาวต่างชาติ เป็นต้น

9)  ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง (Urbanite’s New Normal)



การรวมกันของวัฒนธรรมหลากหลายจากการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน และเทคโนโลยีที่ก้าวไกล คือปัจจัยสำคัญในการก่อให้เกิดความสัมพันธ์ของสังคมรูปแบบใหม่ โดยรูปแบบการดำเนินชีวิตจะมีความแตกต่างกันมากขึ้นตามระดับรายได้ รสนิยม และอุดมคติ มุ่งสู่การแสวงหาและพัฒนาพื้นที่เฉพาะของตัวตน มีความปัจเจกในระดับที่สูงขึ้น ปัญหาความขัดแย้งจากการกีดกัน ความเหลื่อมล้ำ และความผูกพันที่ลดน้อยลงระหว่างกลุ่มคนกับพื้นที่ จะนำไปสู่การแสวงหาความสมดุลเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

10)  การพัฒนาอย่างทั่วถึง (Inclusive Development)



เพื่อตอบรับความเท่าเทียมกันที่เข้มข้นขึ้น การพัฒนาไม่ได้จำกัดอยู่แค่การพัฒนาในเชิงตัวหนังสือบนกระดาษอีกต่อไป แต่การพัฒนาในอนาคตจะสะท้อนออกมาในเชิงกายภาพ บนพื้นฐานของการสร้างโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคน เพื่อลดปัญหาทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า โดยเฉพาะการให้สิทธิประชาชนต่อพลเมืองพลัดถิ่นในระดับที่เท่าเทียมกับพลเมืองไทย

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการกรุงเทพฯ250 โดยสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร ดำเนินการศึกษาโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

ขอบคุณภาพประกอบจาก:  clem-e.com, huffpost.com, eco-business.com, structuresxx, Nataliia Sokolovska

บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

23/4/2017

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร