Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัว คาดปี 61 GDP เติบโตได้อีก ส่งสินเชื่อธนาคารฟื้นตัวตาม

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

เวลาช่างผ่านไปเร็วเสมอ เผลอแป๊บเดียวก็ใกล้จะหมดปี 2560 แล้ว เศรษฐกิจไทยก็ส่งสัญญาณของการฟื้นตัวมาเรื่อยๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าตลอดปี 60 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเราช่วงที่ผ่านมานั้นมีการขยายตัวไม่มากนัก แต่รัฐบาลก็ได้ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ไว้ GDP มีผลต่อระบบเศรษฐกิจในหลายๆส่วน เช่นแหล่งสินเชื่อของธนาคาร , อัตราการจ้างงาน เพราะเมื่อเศรษฐกิจเดิบโตดีต่อเนื่อง ก็ทำให้อัตราการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และหากดูตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวได้ตาม ที่รัฐบาลอยากเห็นในการเติบโตเกิน 3.5% ซึ่งได้การส่งออกและการ ท่องเที่ยวเข้ามาช่วยสนับสนุนเพิ่มเติม จากเดิมที่คาดว่า แรงขับเคลื่อนจะมาจากภาครัฐเป็นสำคัญ และขณะนี้มีลุ้นว่าจีดีพีจะสามารถแตะ 4% ได้หรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการ ช็อปช่วยชาติมากระตุ้นการใช้จ่าย ในช่วงปลายปี

การขยายตัวของจีดีพี มักมีผลโดยตรงกับอัตราการเติบโตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จากการขยายธุรกิจและการลงทุนย่อมมีความต้องการเงินทุนเพิ่ม และแหล่งเงินที่สำคัญก็คือ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ส่วนเศรษฐกิจที่เติบโตดี ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น  ก็จะมีความต้องการสินเชื่อรายย่อยประเภทต่างๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรวมทั้งระบบชะลอการเติบโตลงเมื่อเทียบกับ จีดีพี เพราะในอดีตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในแต่ละปีจะขยายตัวประมาณ 1.5-2 เท่า เมื่อเทียบกับ จีดีพี แต่พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สินเชื่อรวมทั้งระบบมีอัตราเติบโตลดลงเหลือ 1 เท่าของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่า รูปแบบการปล่อยสินเชื่อเปลี่ยนไป มีความระมัดระวังมากขึ้น ไม่หลงไปกับตัวเลขการเติบโตที่ยังไม่มี ความแน่นอน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2560 ว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.3% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี ยังกระจุกตัวในธุรกิจบางประเภท ประกอบกับมีการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภค ขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ ส่วนเอ็นพีแอลโดยรวมเริ่มทรงตัวที่ 2.97%

จากภาพรวมที่ ธปท. รายงานมา พอจะคาดคะเนแนวโน้มของสินเชื่อรวมทั้งปี 2560 อาจจะไม่ต่างไปจากนี้สักเท่าไหร่ แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้บ้างจากปัจจัยในช่วงไตรมาสสุดท้าย ซึ่งจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักกว่าไตรมาสอื่น ทั้งการส่งออกและการ ท่องเที่ยว เมื่อมีมาตรการช็อปช่วยชาติเข้ามาช่วยอีกแรง แม้จะมีผลเพียง 23 วัน แต่ก็ช่วยสร้างบรรยากาศ ให้คึกคักได้

หากมองข้ามช็อตไปยังปี 2561 แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่ออาจจะยังเป็นภาพที่ไม่แตกต่างกับปี 2560 มากนัก คือ ยังเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และสถาบันการเงินเลือกการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย ไม่ได้ดูเฉพาะรายอุตสาหกรรม แต่อาจจะพิจารณาลึกไปถึงรายบริษัท หรือรายบุคคล ด้วยซ้ำ ประเมินว่าการเติบโตสินเชื่อรวมจึงคงเฉลี่ย 1 หลักกลางๆ ไม่พุ่งไปถึง 2 หลักแน่นอน

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ให้มุมมองจีดีพีในปี 2561 คาดว่าเติบโต 3.7% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2560 โดยปัจจัยบวกของปีหน้า ได้แก่ การลงทุนภาครัฐ ที่จะเริ่มเห็นการเดินเครื่องเป็นรูปธรรม ช่วยดันให้การลงทุนภาคเอกชนเติบโตได้อย่างชัดเจน การส่งออกเติบโตได้ต่อเนื่อง และประเทศไทยยังเป็นจุดหมาย ปลายทางของนักท่องเที่ยว

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ กำลังซื้อชะลอตัว โดยเฉพาะรายได้ภาคเกษตรลดลงประกอบกับหนี้ครัวเรือนสูง ยังมีความเสี่ยงต่อการบริโภคภาคเอกชนต่อเนื่องต่อไปในปี 2561
ตลาดเงินตลาดทุนโลกมีความผันผวนมากขึ้นจากนโยบายการเงินประเทศยักษ์ใหญ่ และความเสี่ยงใหม่จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ให้ตัวเลขประมาณการจีดีพี ปี 2561 ว่า จีดีพีที่โต 3.7% มาจากการลงทุนรวมที่เติบโต 4.4% แบ่งเป็นลงทุนภาครัฐโต 8% และการลงทุนภาคเอกชนโต 3% ส่วนการส่งออกเติบโต 3.5% และการบริโภคภาคเอกชนเติบโต 2.8% ซึ่งทำให้พอเห็นภาพว่า ในปีหน้า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จะฟื้นตัวได้อยู่ในกลุ่มใด
จากการที่รัฐบาลอัดฉีดเศรษฐกิจและการลงทุนเต็มที่ รวมทั้งมีความชัดเจนทางด้านการเมือง สินเชื่อธุรกิจที่ไปได้ก็จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการภาครัฐ ส่วนกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ จะทำให้สินเชื่อรายย่อยไม่เติบโตเท่าที่ควรเพราะคน ไม่อยากก่อหนี้เพิ่ม และจากการบริโภคอ่อนแอก็ส่งผลต่อธุรกิจเอสเอ็มอีทำให้สินเชื่อกลุ่มนี้มีแนวโน้มชะลอตัวอยู่
สินเชื่อรายใหญ่ มีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีนี้สินเชื่อรายใหญ่ค่อนข้างเติบโตโดดเด่น ซึ่งมาจากโครงการลงทุนภาครัฐบางโครงการที่เริ่มเดินเครื่องแล้ว และยังมีอีกหลายโครงการที่จะเริ่มลงทุนในปี 2561 เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู มูลค่ารวมแสนล้านบาท ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นผู้นำร่วมปล่อยสินเชื่อกับธนาคารกรุงไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ในวงเงิน 63,360 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มทยอยเบิกใช้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

ส่วนแนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอี  ยังคงเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินมองว่ามีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ในประเทศไทย จะเป็น เอสเอ็มอีค้าขาย ซึ่งกลุ่มนี้ยังได้รับ ผลกระทบจากกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวช้า แต่เริ่มเห็นภาพการเติบโตในบางภาคธุรกิจ เช่น เอสเอ็มอีในภาคการส่งออกอาจมีแนวโน้มดีตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว หรือเอสเอ็มอีจากการ ท่องเที่ยว ก็ยังได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเอสเอ็มอีในกลุ่มก่อสร้างและผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ก็น่าจะได้อานิสงส์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ
ด้านสินเชื่อรายย่อย ต้องลุ้นกันหน่อยโดยเฉพาะสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่น่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2561 หลังหลักเกณฑ์การควบคุมสินเชื่อของ ธปท. บังคับใช้เมื่อ 1 ก.ย. 2560 ซึ่งทำให้การขยายสินเชื่อมีข้อจำกัดในกลุ่มผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 3 หมื่นบาท ซึ่งสินเชื่อบุคคล กำหนดให้ได้วงเงินไม่เกิน 1.5 เท่า และเป็นหนี้กับสถาบันการเงินได้ไม่เกิน 3 แห่ง ขณะที่บัตรเครดิต ให้วงเงินเป็นขั้นบันได 1.5-5 เท่า จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน ต้องดูการปรับแผนของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะนันแบงก์ ในการขยายสินเชื่อกลุ่มนี้

ดังนั้น สินเชื่อบ้าน จะเป็นตัวหลักที่ขับเคลื่อนสินเชื่อรายย่อยอย่างแท้จริง เพราะภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่แท้จริง (เรียลดีมานด์) กลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง โดยธนาคารส่วนใหญ่ก็มุ่งเติบโตสินเชื่อบ้านมาโดยตลอด เพราะเป็น สินเชื่อมีหลักประกัน ไม่เสื่อมราคา  จึงมีความเสี่ยงต่ำ

ณัฐพล ลือพร้อมชัย

ด้าน ณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สินเชื่อบ้าน ปีหน้าจะเติบโตสูงกว่าปีนี้ โดยมีโอกาสเห็นอัตราเติบโตใกล้เลข 2 หลัก เนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้นมาตลอด 2-3 ไตรมาส ซึ่งต้องใช้เวลาส่งผ่านจาก รายใหญ่ ก่อนมาถึงเอสเอ็มอี และ รายย่อย ซึ่งคาดว่าผลดีจะส่งผ่านมาถึงผู้บริโภครายย่อยในช่วงกลางปีหน้า
ในภาพรวมจึงมองได้ว่า ปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่ สินเชื่อลูกค้ารายใหญ่  จะนำการเติบโตของสินเชื่อรวม เพราะมีโครงการรองรับชัดเจน ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีเริ่มนิ่งและเห็นภาพรวมว่าลูกค้ารายใดไปต่อได้ และรายใดไป ไม่ไหว การขยายสินเชื่อน่าจะมาใน รูปแบบเลือกโตบางกลุ่ม ส่วนสินเชื่อรายย่อย อาจจะไปเติบโตที่สินเชื่อที่มีหลักประกันคือบ้านและรถยนต์ที่น่าจะแข่งขันสูงต่อไป โดยสินเชื่อไม่มีหลักประกันจะเติบโตแบบระมัดระวังอยู่

อย่างไรก็ตามถือว่าสัญญาณบวกครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นสัญญาณการเติบโตเล็กๆ แต่เป็นสัญญาณที่ดีในการให้เราได้รู้และเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเรากำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : reic
ภาพประกอบ : kasikornbank , businesslineandlife

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร