ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่มีการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากพื้นที่ในตัวเมืองเริ่มมีความแออัดประกอบกับการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยเริ่มเกาะทำเลรอบวงแหวนมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกสบาย ไม่ไกลจากตัวเมืองแถมราคาที่ดินไม่สูงนัก การพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้ระบบสาธารณูปโภคมีการพัฒนาไปพร้อมกัน เช่นการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ที่รับผิดชอบและดูแลเรื่องน้ำให้คนเชียงใหม่ วันนี้ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาในหลายด้านเพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการอย่างประสิทธิภาพขึ้น โดยคุณมงคล วัลยะเสวี ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ให้ข้อมูลพร้อมเผยถึงแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2557 ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
การดำเนินงานของ กปภ.เชียงใหม่ปีงบประมาณ 2556 เป็นอย่างไร
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 94,000 ราย ในปี 2556 มีผู้ขอรับการติดตั้งประปาใหม่ 6,300 ราย แบ่งเป็นกลุ่มโครงการจัดสรรร้อยละ 70 เป็นที่พักอาศัยสร้างเอง อีกร้อยละ 30 สำหรับปี 2557 จนถึงมิถุนายน 2557 มีผู้ขอรับการติดตั้งประปาใหม่จำนวน 5,300 ราย และคาดว่าจะมีผู้ขอรับติดตั้งประปาในปี 2557 ทั้งสิ้นจำนวน 5,500 รายในปีงบประมาณ 2557 โดยอาจลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 20จากแนวโน้มการขยายตัวโครงการจัดสรรใหม่ลดลงโดยเฉพาะบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ประกอบกับเศรษฐกิจในช่วงต้นปีชะลอตัว ทำให้การขอรับติดตั้งประปาใหม่ลดลง
ทั้งนี้ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีสถานีผลิตน้ำจำนวน4 แห่ง ได้แก่ สถานีผลิตน้ำแม่กวง, สถานีผลิตน้ำป่าตัน, สถานีผลิตน้ำอุโมงค์, สถานีผลิตน้ำแม่วาง มีกำลังการผลิตประมาณ 4,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงหรือกว่า 115,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ส่วนอัตราน้ำสูญเสียในระบบ เช่น ท่อน้ำรั่วหรือท่อแตกร้อยละ 30.79 อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าปี 2556 ร้อยละ 35 เป็นไปตามเป้าหมายอัตราน้ำสูญเสียที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 31.70
กปภ.เชียงใหม่มีแผนลดอัตราน้ำสูญเสียทุกเดือน โดยมีการทดสอบระบบ, เดินสำรวจหาน้ำสูญเสียตามแหล่งชุมชนทุกอาทิตย์ พร้อมบริหารจัดการแรงดันน้ำให้เหมาะสม รวมถึงขอความร่วมมือจากผู้ใช้น้ำแจ้งจุดที่มีปัญหาถือเป็นการช่วยให้อัตราน้ำสูญเสียลดลง
แผนการดำเนินงานปี 2557 ของ กปภ.เชียงใหม่เป็นอย่างไร
ในปีงบประมาณ 2557 กปภ.เชียงใหม่มีแผนการดำเนินงานอยู่ 3 เรื่องคือ
1.1 โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายงานก่อสร้างระบบสูบน้ำดิบและระบบผลิตน้ำ งบประมาณ 918 ล้านบาท บริเวณตำบลแม่แฝกบนพื้นที่กว่า 50 ไร่อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 25 กิโลเมตรเป็นการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำขนาดกำลังการผลิต 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคาดว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถขยายการก่อสร้างสถานีสูบน้ำขนาด 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงได้ในอนาคต
1.2 โครงการวางท่อและก่อสร้างสถานีจ่ายน้ำแม่โจ้ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการที่ 1.1 โดยวางท่อส่งน้ำเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1 เมตรและขนาด 300-500 เซนติเมตร ตั้งแต่สี่แยกแม่คาวสะอาดใสมาตามถนนวงแหวนรอบกลางถึงสี่แยกแม่เหียะรวมระยะทางกว่า 55 กิโลเมตร งบประมาณ 368 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2556 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โครงการดังกล่าวจะช่วยผันน้ำไปยังโซนหางดง ต้นยางให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียงเนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาน้ำไหลอ่อน
1.3 โครงการก่อสร้างสถานีผลิตน้ำ (Mobile Plant) ขนาดกำลังการผลิต 500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง บริเวณใกล้วัดใหม่ท่าอิ ตำบลป่าแดด งบประมาณกว่า 147 ล้านบาทคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2558 ทั้งนี้เนื่องจากทางตอนใต้ของเมือง (ย่านป่าแดด) ไม่มีสถานีผลิตน้ำจึงประสบปัญหาขาดน้ำอยู่บ่อยครั้ง โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังผลิตให้เพียงพอและยังช่วยเสริมปริมาณน้ำให้กับจังหวัดลำพูนได้ ทั้งนี้หาก 3 โครงการเสร็จสมบูรณ์คาดว่าในปี 2558 กปภ.เชียงใหม่จะสามารถผลิตน้ำจากเดิม 4,800 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพิ่มเป็น 7,300 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงและลดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้
2.1 โครงการก่อสร้างปรับปรุงเพิ่มอัตราการสูบน้ำดิบ งบประมาณ 33.8 ล้านบาทของสถานีเพิ่มแรงดันบ้านพักนักกีฬา 700 ปี และสถานีผลิตน้ำอุโมงค์ โดยมีการปรับปรุงท่อ เปลี่ยนเครื่องสูบน้ำและปรับปรุงระบบไฟฟ้าเพื่อเพิ่มศักยภาพการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิงได้ดีขึ้น
2.2 โครงการจัดการน้ำสะอาด (Water Safety Plant) งบประมาณ 9.6 ล้านบาท ปรับปรุงเครื่องสูบน้ำดิบจากคลองชลประทานให้สามารถสูบน้ำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.3 โครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแรงดันสูงพร้อมปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระบบควบคุมของโรงกรองน้ำอุโมงค์ งบประมาณ 10.67 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2557 นี้
คุณมงคล วัลยะเสวี ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ)
ทิศทางการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่กับการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างไร
ในช่วงปี 2555-2556 จังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกลุ่มบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ทั้งจากลุ่มทุนท้องถิ่นและส่วนกลาง ทำให้ราคาที่ดินในบางทำเลสูงขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ถนนวงแหวนรอบกลาง ด้านหน้าและหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผุดโครงการคอนโดมิเนียมราวดอกเห็ด ทั้งนี้ตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงต้นปี 2557 เศรษฐกิจของประเทศรวมถึงจังหวัดเชียงใหม่เกิดชะลอตัว ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ทางการเมืองและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงและยังคาดว่าจะชะลอตลอดปี 2557
ด้านทำเลที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการขยายการพัฒนาออกไปนั้น คิดว่าเป็นถนนเส้นดอนจั่น-สันกำแพงสายใหม่ เนื่องจากยังมีที่ดินอยู่อีกจำนวนมากและราคาที่ดินยังไม่สูงจนถึงขั้นเตะต้องไม่ได้ รวมถึงมีแผนการขยายสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ที่คาดว่าจะตั้งอยู่ในทำเลดังกล่าว ดังนั้นการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่ง กปภ.เชียงใหม่จึงมีแผนรองรับในเส้นทางนั้นดังที่กล่าวไว้
ส่วนเส้นทางอื่น อาทิ ถนนเชียงใหม่-แม่ริม การพัฒนาค่อนข้างจำกัดเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของราชการ ถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ดและเชียงใหม่-ลำพูน การพัฒนามีต่อเนื่องแต่ไม่มากนักเนื่องจากราคาที่ดินค่อนข้างสูงเพราะอยู่ติดกับถนนสายหลัก และถนนเชียงใหม่-หางดง การพัฒนาที่อยู่อาศัยก็ขยายมาที่เส้นทางนี้เช่นกัน เนื่องจากใกล้สนามบิน เดินทางสะดวก แม้ราคาที่ดินจะค่อนข้างสูงแต่ก็เป็นทำเลที่นักลงทุนยังให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย
กปภ.เชียงใหม่ให้ความช่วยเหลือชุมชนที่มีปัญหาเรื่องน้ำอย่างไรบ้าง
ในกรณีที่ชุมชนมีปัญหาเรื่องน้ำใช้ ผู้ที่ต้องการใช้น้ำจะเป็นผู้ยื่นความประสงค์ไปยังผู้นำชุมชนนั้นๆ แล้วแจ้งต่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลทาง อบต.หรือเทศบาลจะทำหนังสือแจ้งต่อ กปภ.เชียงใหม่ เพื่อเสนอเรื่องของบประมาณจากส่วนกลางในการขยายเขตจำหน่ายน้ำต่อไปแต่ขั้นตอนการพิจารณานั้นค่อนข้างล่าช้าแนวทางแก้ไข อบต.หรือเทศบาลที่มีงบประมาณอยู่แล้วก็สามารถจัดสรรงบส่วนนี้ให้ กปภ.เชียงใหม่ดำเนินการขยายเขตจำหน่ายน้ำ หรืออาจใช้รูปแบบการร่วมมือของสองฝ่ายเช่น อบต.หรือเทศบาลมีงบประมาณส่วนหนึ่งนำมาสมทบกับ กปภ.เชียงใหม่ โดยใช้เงินรายได้ส่วนหนึ่งช่วยขยายเขตจ่ายน้ำ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนนั้นๆ ได้รับความสะดวกสบาย
ทั้งนี้กรณีโครงการหมู่บ้านจัดสรรเก่าที่ไม่มีนิติบุคคลดูแลอาจมีความเดือดร้อนเรื่องน้ำประปา สามารถรวมตัวแล้วแต่งตั้งประธานหมู่บ้านหรือตัวแทนมายื่นความประสงค์ที่ กปภ.เชียงใหม่ให้ดำเนินการติดตั้งน้ำประปาในโครงการได้เช่นกัน
การเตรียมความพร้อมของ กปภ.เชียงใหม่ในการให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำเป็นอย่างไร
กปภ.เชียงใหม่มักได้รับข้อร้องเรียนเรื่องน้ำไม่ไหล ท่อน้ำรั่ว ท่อประปาแตก น้ำไหลอ่อนหรือน้ำขุ่นบริเวณที่พบมากที่สุดจะอยู่ย่านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เนื่องจากสภาพของท่อส่งน้ำค่อนข้างเก่าชำรุดง่ายประกอบกับทาง กปภ.เชียงใหม่ได้ปรับปรุงระบบเพิ่มแรงดันน้ำอาจทำให้ท่อน้ำเกิดการชำรุดเสียหายได้
ทั้งนี้ในพื้นที่เขตเชียงใหม่นอกจาก กปภ.เชียงใหม่แล้วยังมีประปาหมู่บ้าน, ประปาเอกชน, ประปาเทศบาลที่ให้บริการทับซ้อนกันเบื้องต้นประชาชนผู้ใช้น้ำจะต้องทราบว่าน้ำที่ตนเองใช้อยู่นั้น อยู่ในเขตการดูแลของประปาใด เมื่อมีเหตุขัดข้องจะได้แจ้งหรือร้องเรียนได้ถูกต้องและควรหมั่นสังเกตมาตรน้ำว่ามีน้ำไหลหยดหรือไม่ มิเตอร์หมุนเร็วผิดปกติหรือไม่ สามารถแจ้ง กปภ.เชียงใหม่และจะจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ
ด้าน กปภ.เชียงใหม่มีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการอยู่หลายด้าน เช่น การชำระค่าน้ำปัจจุบันมีหลายช่องการชำระค่าบริการ เช่น การชำระ ณ ที่ทำการ กปภ.เชียงใหม่โดยตรง ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลา 07.30-16.30 น. วันเสาร์ เวลา 08.30-12.00 น., บริการช่องทางด่วนชำระเงิน (Drive Thru) เปิดทุกวันที่ 15-22 ของทุกเดือน เวลา 08.30-12.00 น., เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ที่ทำการไปรษณีย์, หักบัญชีเงินฝาก 13 ธนาคารทุกสาขาทั่วประเทศ และชำระผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร
นอกจากนี้ยังมีโครงการเพิ่มความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำในการใช้บริการชำระค่าน้ำและรับข้อมูลข่าวสารอันอาจเป็นประโยชน์และน่าสนใจเกี่ยวกับภารกิจของ กปภ.เชียงใหม่ จึงมีโครงการ “SMS สะดวกบวกความสุข สร้างความเข้าใจ” ให้บริการข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยส่ง SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือทุกระบบ สามารถลงทะเบียนได้ที่ กปภ.เชียงใหม่หรือหน้าแฟนเพจของ กปภ.เชียงใหม่ได้ฟรี ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่าหมื่นราย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่งานลูกค้าสัมพันธ์ การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) หมายเลขโทรศัพท์ 0-5323-3476-80 ต่อ 120, 149 ในวันและเวลาปฏิบัติงาน
การพัฒนาบ้านเมืองที่รุดหน้าทำให้หลายหน่วยงานลุกขึ้นมาเตรียมพร้อมรองรับความเจริญ โดยเฉพาะหากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่จะเกิดขึ้นก็ยิ่งต้องพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคที่ต้องเข้าถึงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้อาศัยและผู้มาเยือน เพื่อให้สมกับที่เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของภาคเหนืออย่างเต็มภาคภูมิ...