‘การจัดโต๊ะอาหาร’ นั้นถือเป็นมารยาทที่สำคัญในการเป็นเจ้าบ้านและเลี้ยงอาหารแก่แขกผู้มาเยือน ฉะนั้นหากเรามีความรู้ความเข้าใจในการจัดโต๊ะแบบต่าง ๆ จะทำให้แขกที่มาเยี่ยมบ้านเกิดความประทับใจต่อมื้ออาหารนั้นซึ่งเต็มไปด้วยความพิถีพิถันในการจัดเตรียมโต๊ะและอุปกรณ์ เสริมภาพลักษณ์ให้กับเจ้าของบ้านและเป็นการให้เกียรติแก่ผู้มาเยือนด้วย
โดยทั่วไปแล้วหลักของการจัดโต๊ะอาหารตะวันตกเบื้องต้น จะต้องเรียนรู้การเรียงลำดับความสำคัญในการวางอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารเป็นอันดับแรก ทั้งนี้การทานอาหารในแบบต่าง ๆ หรือในแต่ละช่วงเวลานั้นจะมีมารยาทของการใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่หลักสำคัญที่ต้องปฏิบัติคือการจัดวางอุปกรณ์จะต้องเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้นั่นเอง
สำหรับอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่จำเป็นคือภาชนะในการใส่อาหารและอุปกรณ์ในการตักอาหารประเภทต่าง ๆ อันประกอบด้วย ส้อม ช้อน มีด จานและแก้วน้ำ ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถแยกย่อยลงไปอีกตามประเภทการใช้งาน เช่น จานสำหรับใส่เนื้อสัตว์ จานสำหรับใส่ปลา หรือหากเป็นอาหารเช้าก็ต้องมีจานสำหรับใส่เนยเพื่อทากับขนมปัง เป็นต้น
ในส่วนของช้อนและส้อม เราก็ต้องจัดชุดแยกประเภทตามการใช้งานเอาไว้เช่นกัน อาทิ ช้อนสำหรับตักซุป ช้อนสำหรับตักข้าว และช้อนสำหรับตักของหวาน เป็นต้น ข้อสำคัญคือ ไม่ควรนำแต่ละอุปกรณ์มาใช้งานซ้ำกัน
ศิลปะของการจัดโต๊ะอาหารนั้นอยู่ที่รูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบจะมีวิธีการจัดโต๊ะที่ต่างกันตามวัฒนธรรมและลักษณะของอาหาร ซึ่งมีหลายแบบเช่น
สำหรับการจัดโต๊ะอาหารแบบสากล ในแต่ละมื้ออาหารยังจะมีการจัดโต๊ะที่แตกต่างกันไปตามประเภทของอาหารอีกด้วย ซึ่งแยกย่อยได้เป็น 6 ประเภทดังนี้
1. การจัดโต๊ะอาหารเช้า (Breakfast Table Setting)
อุปกรณ์หลักได้แก่ ส้อมหลัก มีดหลัก ช้อนชา จานขนมปังและจานเนย จานอาหารหลัก ถ้วยชาหรือกาแฟ จานรองถ้วย แก้วน้ำ แก้วน้ำผลไม้ และผ้าเช็ดปากแบบพับทแยงมุมโดยจะวางให้มุมสามเหลี่ยมอยู่ด้านนอก
2. การจัดโต๊ะอาหารกลางวัน (Lunch Table Setting)
อุปกรณ์หลักได้แก่ ส้อมสลัด มีดหลัก ช้อนชา จานขนมปังและจานเนย จานสำหรับอาหารกลางวัน แก้วน้ำดื่ม แก้วไวน์ และผ้าเช็ดปากพักแบบสี่เหลี่ยมวางด้านซ้ายมือสุด
3. การจัดโต๊ะอาหารค่ำทั่วไป (Dinner Table Setting)
อุปกรณ์หลักได้แก่ มีดเนย (วางไว้บนจานขนมปังและเนย) มีดสลัด มีดหลัก ช้อนชา จานขนมปังและเนย จานหลัก จานสลัด แก้วน้ำขาสูง แก้วไวน์ และผ้าเช็ดปากซึ่งจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมวางซ้อนไว้บนจานหลัก
4. การจัดโต๊ะอาหารค่ำแบบทางการ (Formal Dinner Setting)
อุปกรณ์หลักได้แก่ มีดเนย (วางไว้บนจานขนมปังและเนย) ส้อมสลัด ส้อมหลัก มีดหลัก ช้อนชา ช้อนซุป จานสลัด จานขนมปังและเนย จานบริการ ถ้วยชาหรือกาแฟพร้อมจานรอง แก้วน้ำขาสูง แก้วไวน์หรือแก้มแชมเปญซึ่งจะวางไว้นอกสุด แก้วน้ำขาสูง และผ้าเช็ดปากซึ่งสามารถพับได้อย่างอิสระเน้นรูปทรงที่สวยงามแล้ววางซ้อนไว้บนจานสลัด
5. การจัดโต๊ะอาหารค่ำแบบยุโรป (European Dinner Setting)
อุปกรณ์หลักได้แก่ มีดเนย (วางไว้บนจานขนมปังและเนย) ส้อมอาหารค่ำขนาดยุโรปหรือขนาดอเมริกัน ส้อมปลา มีดปลา มีดอาหารค่ำขนาดยุโรป มีดอาหารหวาน ช้อนซุป ช้อนชา จานขนมปังและเนย จานบริการ จานสลัด (วางซ้อนบนจานบริการ) แก้วน้ำขาสูง แก้วไวน์แดง แก้วไวน์ขาว แก้วแชมเปญ และผ้าเช็ดหน้าพับรูปแบบอิสระเน้นความสวยงาม โดยจะวางซ้อนไว้บนจานสลัดเหมือนกับรูปแบบมื้อค่ำแบบทางการ
6. การจัดโต๊ะจัดเลี้ยงอาหารค่ำ (Banquet Dinner Setting)
อุปกรณ์หลักได้แก่ มีดเนย (วางไว้บนจานขนมปังและเนย) ส้อมสลัด ส้อมหลัก มีดหลัก ช้อนซุป ช้อนชา จานขนมปังและเนย จานหลัก จานสลัดวางบนจากหลัก ถ้วยชาหรือกาแฟพร้อมจานรอง แก้วน้ำขาสูง แก้วไวน์แดง แก้วไวน์ขาว และผ้าเช็ดปากพับรูปสี่เหลี่ยมวางซ้อนไว้บนจานหลัก
ในส่วนของการจัดโต๊ะอาหารแบบตะวันออกนั้นจะมีเอกลักษณ์ที่ต่างออกไป อย่างเช่น
สำหรับการจัดโต๊ะอาหารแบบบุฟเฟต์นั้นจะเน้นการปริมาณของอาหารและอุปกรณ์ โดยการจัดโต๊ะบุฟเฟต์แบ่งออกได้เป็น 3 แบบดังนี้
1. มีการวางอาหารทุกชนิดพร้อมอุปกรณ์ในการรับประทานไว้อย่างครบครันบนโต๊ะ ซึ่งแต่ละโต๊ะจะมีเก้าอี้ที่เหมาะสมตามจำนวนแขก โดยทุกคนสามารถเลือกอาหารและโต๊ะในการนั่งรับประทานได้เอง สำหรับอาหารจานไหนที่ตักไม่ถึงก็จะสามารถยกส่งต่อให้กันได้ การจัดโต๊ะบุฟเฟต์ประเภทนี้นิยมใช้ในบ้านและใช้กับงานที่มีแขกจำนวนน้อย
2. มีการจัดอาหารลงในถาดหรือจานขนาดใหญ่ โดยจะมีพนักงานมาบริการให้ถึงโต๊ะ แขกที่นั่งอยู่สามารถตักอาหารได้ตามใจชอบ หากเป็นส่วนเครื่องดื่มหรือของร้อน จะใช้รถเข็นในการเสิร์ฟ ในส่วนของอุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องเตรียมไว้บนโต๊ะเพื่อให้แขกเลือกใช้อย่างสะดวก
3. มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้บนโต๊ะอาหาร แขกสามารถเดินตักอาหารผ่านถาดหรือจานไว้ที่จัดเตรียมไว้ได้ การจัดโต๊ะแบบนี้เป็นที่นิยมมากเพราะแขกได้บริการตนเอง
การจัดโต๊ะอาหารถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องเน้นความสวยงามชวนนั่งและต้องมีบรรยากาศที่ดีเพื่อการเจริญอาหาร โดยมีเทคนิคดังนี้
1. การคุมสีให้อยู่ในโทนเดียวกัน
ภาพรวมของโต๊ะอาหารควรเป็นสีในโทนเดียวกันทั้งอุปกรณ์ สีโต๊ะ เก้าอี้รวมไปถึงผ้าปูโต๊ะและแผ่นรองจาน หากไม่ใช่โทนเดียวกันก็จะต้องเป็นสีที่เข้ากัน ไม่ดูโดดจนเกินไป ส่วนใหญ่มักนิยมใช้สีขาวและสีครีม
2. วางภาชนะเป็นชุดให้ดูรับประทาน
แม้จะเป็นมื้ออาหารธรรมดา ๆ รับประทานกันเองในครอบครัวก็สามารถจัดภาชนะให้ดูสวยงามได้ ให้ลองนำจานใบเล็กมาซ้อนใบใหญ่เอาไว้และเลือกในโทนเดียวกันเช่น ขาว-เทา, ดำ-น้ำเงินเป็นต้น หรือหากนำผ้าเช็ดปากสวย ๆ มาพับเป็นสามเหลี่ยมเรียงไว้ข้างจานก็จะทำให้โต๊ะอาหารดูดีขึ้นมากทีเดียว
3. ใช้แสงไฟในการเพิ่มบรรยากาศ
บรรยากาศก็เป็นส่วนสำคัญไม่น้อยที่ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น ฉะนั้นลองจัดแสงให้สลัวลง หากเป็นมื้อพิเศษก็ลองใช้เทียนจุดเพื่อสร้างบรรยากาศโรแมนติก เปลี่ยนมื้ออาหารเดิม ๆ ให้ดูพิเศษขึ้นในทันที
มารยาทบนโต๊ะอาหารนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทราบ โดยเมื่อเรารับประทานอาหารในมื้อพิเศษที่มีอุปกรณ์หลากหลาย จะต้องมีขั้นตอนในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนี้
1. การใช้ผ้าเช็ดปาก
ก่อนทานอาหารจะต้องนำผ้าเช็ดปากมาวางไว้ที่ตักก่อนเสมอ หากมีความจำเป็นต้องลุกออกจากโต๊ะก็ใช้วางผ้าเช็ดปากลงบนเก้าอี้ และเมื่อใช้เสร็จแล้วให้พับแล้วนำมาวางไว้ด้านซ้ายของโต๊ะเสมอ
2. วิธีถือส้อมและมีด
เป็นมารยาทที่รู้กันว่าจะถือส้อมไว้ในมือซ้ายและถือมีดไว้ในมือขวา โดยจะต้องห่างจากจานหลักประมาณ 2 นิ้ว ส่วนของนิ้วชี้จะอยู่ที่ด้านบนสุดของด้ามจับเพื่อยึดส้อมในการจิ้มอาหาร
3. ลำดับของการใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร
หากพบว่าบนโต๊ะอาหารมีชุดมีดและส้อมมากกว่าหนึ่งชุด ก็ให้เลือกชุดที่อยู่ด้านนอกสุดไล่ลำดับเข้ามาด้านในเสมอ
4. เริ่มรับประทานอาหารเมื่อคนครบ
การเริ่มรับประทานนั้นจะต้องรอให้สมาชิกครบโต๊ะเสียก่อน และรอให้บริกรเสิร์ฟอาหารให้ครบทุกคนอย่างเรียบร้อย จึงจะเริ่มลงมือรับประทานอย่างเป็นทางการได้
5. การวางมีดและส้อมหลังทานเสร็จ
ถือเป็นอีกหนึ่งมารยาทที่ควรเรียนรู้ สำหรับสไตล์คอนติเนนทอลนั้นจะวางมีดและส้อมบนจานในลักษณะเป็นรูปตัว V และสำหรับสไตล์อเมริกันนั้นให้วางมีดและส้อมเฉียงไปทางขวาของจานคล้ายลักษณะทแยงมุม เพื่อเป็นการบอกกับบริกรว่ารับประทานเสร็จแล้ว และสามารถจัดเก็บจานพร้อมอุปกรณ์ชุดนั้นไปได้ทันที
สำหรับ ‘การจัดโต๊ะอาหาร’ ถือเป็นศิลปะและมีความละเมียดละไมในแต่ละรูปแบบที่มีเสน่ห์ต่างกันไป ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้