Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

กู้ง่าย ระวังโดนหลอก! เปิด 6 ทริคคิดให้ดีก่อนกู้เงินด่วน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ยุคที่เงินทองหายาก หลายคนต้องประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทันใช้ ผ่อนจ่ายหนี้ที่ค้างไม่ไหว จะไปหากู้กับสถาบันการเงินก็ดันขาดความสามารถในการกู้ การพึ่งบริการเงินด่วนทันใจจากบริษัทให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือกู้นอกระบบต่างๆ จึงกลายเป็นทางออก เพราะเพียงนำหลักทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด โฉนดที่ดิน หรือแม้แต่รถยนต์มาเป็นหลักประกันง่ายๆ ก็ได้เงืนทันใจแล้ว

แต่รู้หรือไม่ อะไรที่ได้มาง่ายๆ มักมาพร้อมความเสี่ยงเสมอ หลายคนคงจะเห็นข่าวกรณีบริษัทให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการทวงหนี้นอกระบบกันมาบ้างแล้ว วันนี้ Baania จึงรวบรวมข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่มาให้ความรู้เรื่องกลโกงที่อาจเจอจากบริษัทหรือกลุ่มคนให้กู้เงิน พร้อมเทคนิคและวิธีป้องกันความเสี่ยงที่อาจโดนโกงมาแนะนำกัน

1. ไม่ส่งมอบสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับ รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้บริโภคทันทีเมื่อลงนามในสัญญา ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ตามกฎหมายกำหนดโทษของผู้ประกอบการที่ไม่นำส่งคู่ฉบับไว้ คือ จำคุกไม่เกิน 1  ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

2.การขายประกันพ่วง โดยพนักงานขายประกันที่ไม่มีใบอนุญาต   

3. คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน

4. ได้เงินไม่ครบจำนวน ทั้งที่โฆษณาว่าฟรีค่าธรรมเนียม ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง โดยผู้ให้กู้อาจอ้างว่า เป็นค่าธรรมเนียมประกันอัคคีภัย ประกันชีวิตกลุ่ม และประเมินหลักประกัน สำหรับ “สินเชื่อบ้านและที่ดินไม่จดจำนอง” 

5. การจำกัดการชำระเงินต้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้บริโภคต้องมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งยังทำให้ผู้บริโภคไม่สามารปิดหนี้ได้โดยง่าย 

6. กำหนดให้ผู้กู้ชำระเงินให้ครบภายใน 12 เดือน โดยอ้างว่าต้องบริหารความเสี่ยง ทำราคาประเมินบ้านและที่ดินใหม่ รวมถึงประเมินสภาพแวดล้อมของบ้านและที่ดินใหม่ ทั้งนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลผิดพลาด ที่จริงแล้วโดยส่วนใหญ่บริษัทมักมีการวางแผนบริหารความเสี่ยง จำกัดวงเงินกู้ ไว้ที่ 200,000 บาทและไม่เกินร้อยละ 40 ของมูลค่าทรัพย์ที่ประเมินจากกรมที่ดิน จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องเก็บค่าประเมินดังกล่าว

6 วิธีกันเสี่ยงจากการกู้เงินที่ไม่เป็นธรรม

เห็นกลวิธีการให้กู้ยืมเงินที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ตัวเราในฐานะผู้บริโภคจะป้องกันอย่างไร มาดูวิธีการป้องกันตัวเองเบื้องต้นในการลดความเสี่ยงที่อาจจะถูกเอารัดเอาเปรียบการการกู้ยืมเงินได้ครับ

1. ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการสินเชื่อ

ตรวจสอบข้อมูลของบริษัทที่เราจะกู้ยืมเงิน โดยอาจค้นหาข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตว่าเคยมีข่าวเสียหายอย่างไรหรือไม่ และปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและทำระบบค้นหารายชื่อบริษัทให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่อยู่ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมบริการที่บริษัทนั้นๆ สามารถทำได้ไว้ โดยคลิก : https://www.bot.or.th/app/BotLicenseCheck หรือ https://www.bot.or.th/Thai/ConsumerInfo/Fraud/Pages/BOTLicensedLoan.aspx ซึ่งหากไม่พบชื่อข้อมูล หรือให้บริการไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ เราอาจมีความเสี่ยงหากกู้เงินกับผู้ให้กู้รายนั้น

2. ก่อนเซ็นต้องอ่านสัญญาอย่างละเอียด 

สิ่งสำคัญในการกู้เงินคือสัญญากู้ยืมเงิน เราจะต้องอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วนทุกครั้งก่อนลงลายมือชื่อ ทั้งชื่อผู้ให้กู้ยืม เลขที่สัญญา จำนวนเงิน และข้อตกลงต่างๆ

3. ห้ามเซ็นชื่อในกระดาษเปล่า

การทำสัญญาที่โปร่งใสและปลอดภัยจะต้องมีรายละเอียดให้สัญญาให้กู้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง หากเราเซ็นกระดาษเปล่าไป ผู้ให้กู้อาจนำไปเติมข้อความในสัญญาทีหลัง และทำให้เราถูกเอารัดเอาเปรียบจากการยืมเงินได้

4.ไม่ควรกู้ยืมเงินกับผู้ให้กู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี

เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ให้กู้เงินจะต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หากผู้ให้กู้ยืมคิดดอกเบี้ยเกินถือว่าผิดกฎหมาย และเราอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบ

5.สอบถามกับผู้ให้กู้ก่อนลงลายมือชื่อ ว่าจะได้สัญญากู้ยืมคู่ฉบับทันทีหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ไม่ควรกู้ยืม

ตามกฎหมายการไม่ส่งมอบสัญญากู้ยืมเงินคู่ฉบับ รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับผู้บริโภคทันทีเมื่อลงนามในสัญญา ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มีกำหนดโทษของผู้ประกอบการที่ไม่นำส่งคู่ฉบับไว้ คือ จำคุกไม่เกิน 1  ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.ตรวจสอบและสอบถามค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และประกันพ่วงที่อาจต้องจ่ายก่อนลงลายมือชื่อ

โดยควรตกลงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมก่อนที่จะลงลายมือชื่อ เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนและได้เงินไม่ครบตามจำนวนที่คิดไว้


เมื่อเกิดปัญหาทำอย่างไรดี

หากเราคือหนึ่งในผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อนเรียกร้องความเป็นะรรมให้กับตนเอง

1. แจ้งตำรวจ 

เมื่อทราบว่าเราคือหนึ่งในคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบที่สุดเท่าที่จะหาได้ ไปแจ้งความกับตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ

2. ร้องทุกข์ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 

ให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบที่สุดเท่าที่จะหาได้ ไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยสามารถแจ้งเรืองร้องทุกข์ได้โดยโทรสายด่วน 1166 หรือร้องทุกข์ผ่าน https://complaint.ocpb.go.th แล้วรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ แต่หากเกิน 15 วัน ยังไม่ได้รับการติดต่อจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ติดตามเรื่องและควรมีการติดตามเรื่องที่ร้องเรียนทุกเดือน 

3. สภาองค์กรของผู้บริโภค

ให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบที่สุดเท่าที่จะหาได้ ไปร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) โดยสามารถโทรสอบถามได้ที่ 0-2239-1839 หรือติดต่อผ่านทาง https://www.facebook.com/tccthailand

ใครที่กำลังหากู้เงินด่วนทันใจ ต้องเช็กให้ดีก่อนตัดสินใจลงลายมือชื่อในการกู้ยืมนะครับ เพราะก่อนกู้คงดูไม่มีปัญหา แต่เมื่อได้เงินมาแล้วอาจมีปัญหาตามมาภายหลังก็เป็นได้


ขอบคุณข้อมูลจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค 


บทความแนะนำ

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร