"อัตราดอกเบี้ย" คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสำหรับคนไทยที่คิดอยากจะมีบ้านสักหลังเป็นของตัวเอง เพราะมีผลต่อภาระการผ่อนรายเดือน ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันภาระการผ่อนก็จะลดลง โอกาสในการซื้อบ้านก็จะง่ายขึ้น แต่ยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำในขณะนี้ กำลังถึงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับขึ้นกันบ้าง ตามทิศทางของดอกเบี้ยโลกที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจน และเศรษฐกิจไทยที่กำลังขยายตัวดี
ดังนั้นทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยจะเป็นอย่างไร จะขยับเร็วหรือช้าแค่ไหนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต่างจับตามองเพราะแน่นอนว่าจะส่งผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ตามมา และมีผลต่อผู้กู้ หรือลูกหนี้รายย่อยอย่างเรา ๆ ท่านๆ ให้ต้องตั้งสติและพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น
จากการประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมามีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้ น่าจะคงไว้ที่อัตรา 1.50% ต่อเนื่อง และน่าจะได้เห็นการปรับขึ้นของดอกเบี้ยในปี 2562 และเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
จากมุมมองดังกล่าวน่าจะทำให้ผู้ที่เป็นลูกหนี้แบงก์อยู่แล้วยังพอหายใจหายคอได้โล่งมากขึ้น และไปลุ้นกันต่อในปีหน้า แต่สำหรับผู้ที่กำลังคิดจะเป็นลูกหนี้คงกำลังพิจารณาว่าจะเป็นจังหวะเหมาะในการตัดสินใจหรือไม่
ในด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่าครึ่งปีแรกสินเชื่อยังคงมีการเติบโต แต่ยังเป็นการเติบโตในลักษณะระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่ง ณ สิ้นปี 2560 เอ็นพีแอลในกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินทั้งระบบเร่งตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 3.48% ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังใช้นโยบายคัดกรองลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และหันไปเน้นกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านระดับกลางถึงบน หรือราคา 4 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเปลี่ยนไปจากก่อนหน้านี้ที่แข่งขันกันมากในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 4 ล้านบาทลงมา
ขณะเดียวกันมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 แสดงความคิดเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ควรระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
หากพิจารณาถึงการแข่งขันด้านดอกเบี้ยกลับพบว่าการแข่งขันลดลงจากก่อนหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ต่างออกแคมเปญดอกเบี้ย 0% ในระยะ 1-2 ปีแรก แต่ปัจจุบันแทบจะไม่มี หรือหากมีในช่วงจังหวะพิเศษ แคมเปญดอกเบี้ย 0%ก็จะกำหนดระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้นส่วนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่จะอยู่ในช่วง 3 ปีแรก หลังจากนั้นจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ตลอดอายุของสัญญา
ยกตัวอย่างแคมเปญสินเชื่อบ้านในแบบปกติของสถาบันการเงิน
1.โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก ปี 2561 (ดอกเบี้ย MRR เท่ากับ 6.75%)
ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ย MRR-3.32% ต่อปี
ปีที่ 4 ดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี
ปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญาสำหรับลูกค้ารายย่อย ดอกเบี้ย MRR-0.5% ต่อปี
2.สินเชื่อเคหะ ธนาคารออมสิน (กรณีไม่ทำประกันชีวิตคุ้มครอง)
แบบที่ 1 ปีที่ 1 ดอกเบี้ย 1.50%
ปีที่ 2 ดอกเบี้ย MRR-1.75%
ปีที่ 3 ดอกเบี้ย MRR-0.75%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR-0.75%
แบบที่ 2 ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ย 5%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR-0.75%
3.สินเชื่อบ้านกรุงไทย ผ่อนสบาย(ไม่ทำประกันชีวิตคุ้มครอง)
ปีที่ 1 เดือนที่ 1-9 ดอกเบี้ย 0.99%
เดือนที่ 10-12 ดอกเบี้ย MRR-1.50%
ปีที่ 2 ดอกเบี้ย MRR-1.25%
ปีที่ 3 ดอกเบี้ย MRR-1.50%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR-1.75%
4.สินเชื่อบ้านกสิกรไทย (แบบไม่ทำประกันชีวิต หรืออยู่นอกเงื่อนไข)
ปีที่ 1 เดือนที่ 1-8 ดอกเบี้ย 0.60%
เดือนที่ 9-12 ดอกเบี้ย 4.45-4.50%
ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ย 4.45-4.85%
ปีที่ 4 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR-1.50%
จากสถานการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้นนี้ มีคำแนะนำจาก“วสุกานต์ วิศาลสวัสดิ์” กรรมการและผู้จัดการ บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) กล่าวว่า ผู้ที่กำลังตัดสินเชื่อจะซื้อบ้าน หรือเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยบ้านในช่วงนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นในอนาคต ควรเลือกอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากต้นทุนดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นซึ่งจะกระทบกับค่างวดผ่อนบ้านที่ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
ส่วนผู้ซื้อบ้านที่ใกล้ถึงเวลาที่จะต้องขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ควรตรวจสุขภาพการเงินกันให้ดีๆ เพราะธนาคารยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อยิ่งมีคำเตือนจากแบงก์ชาติอย่างนี้ อาจจะยิ่งคุมเข้มมากยิ่งขึ้น สุขภาพการเงินต้องดีจริงๆ แบงก์ถึงจะโอเค
Baania มี Line แล้วนะ
ติดตามเรื่องราวอสังหาริมทรัพย์แบบอินเทรนด์ ได้ทุกวันผ่าน Line ID @baania