สำหรับพื้นที่ในบ้านแล้ว ขนาดห้องนอนเป็นห้องที่ถูกใช้พื้นที่และใช้งานเป็นเวลายาวนานที่สุด ตั้งแต่เตรียมตัวเข้านอน เวลานอนหลับ และหลังตื่นนอนรวมแล้วคงไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงยังเป็นห้องที่มีกิจกรรมอเนกประสงค์ ทั้งนั่งเล่น ทำงาน ส่วน แต่งตัว และมีห้องน้ำในตัวเข้าไปอยู่รวมกันในห้องเดียว เมื่อห้องนอนสำคัญและมีหลากหลายกิจกรรมอยู่ในพื้นที่เดียว กฎหมายจึงกำหนดขนาดห้องนอนไว้เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 20 ระบุไว้ว่า
“ห้องนอนในอาคารให้มีความกว้างด้านแคบที่สุดไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร”
ฉะนั้น 1 ห้องควรเท่ากับกี่ตารางเมตร ก็เท่ากับว่าขนาดห้องนอนเล็กที่สุดไม่รวมห้องน้ำ จะอยู่ที่ขนาด 2.50 x 3.20 เมตร จึงจะได้พื้นที่ 8 ตารางเมตรตามกฎหมาย ทำให้เตียงเดี่ยวที่มีขนาดมาตรฐานมีความกว้าง 1.10 เมตร ยาว 2.00 เมตร วางลงไปก็แทบไม่เหลือที่ทำอะไรแล้วล่ะ ดังนั้น ถ้าอยากได้ห้องนอนที่ดีก็ควรจะมีห้องนอนที่ขนาดใหญ่กว่านั้น แต่ควรจะใหญ่กว่าเท่าไหร่กันล่ะ มาตรฐานการออกแบบสถาปัตยกรรมภายในระบุไว้ว่า ขนาดห้องนอนที่จะใช้สอยได้อย่างสบาย หมายความว่าสามารถวางเฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็นสำหรับห้องนอน เช่น เตียงนอน (คู่) ตู้เสื้อผ้า โต๊ะหัวเตียง และโต๊ะเครื่องแป้ง เมื่อรวมกับพื้นที่สำหรับมนุษย์อาศัยอยู่ ควรมีพื้นที่ไม่เล็กกว่า 11 ตารางเมตร และไม่มีด้านใดด้านหนึ่งแคบกว่า 3.50 เมตร เอาง่ายๆ ว่ามีขนาดไม่เล็กว่า 3.50 x 3.10 เมตรนั่นเอง แล้วโครงการคอนโดและบ้านจัดสรรที่เขาทำออกมาขายกันล่ะ เขาออกแบบ 1 ห้องเท่ากับกี่ตารางเมตรกันบ้าง
คอนโดขนาดเล็ก 1 ห้องนอนขนาดพื้นที่รวม 22.50-28.00 ตารางเมตร จะมีห้องนอนขนาดประมาณ 8-10 ตารางเมตร
โดยเฉพาะคอนโดขนาด 22.50-24.50 ตารางเมตร จะทำขนาดต่ำสุดตามกฎหมายคือ ขนาด 2.50 x 3.20 เมตรพอดีเป๊ะเลยครับ
ถ้าหากเป็นคอนโดขนาดใหญ่ขึ้นมาห้องนอนใหญ่ก็จะขยับเป็น 9 – 10 ตารางเมตร โดยห้องนอนใหญ่ขนาดนี้จะสามารถออกแบบให้ผนังห้องฝั่งนั่งเล่นหรือรับแขกเป็นกระจกใส และเป็นประตูบานเลื่อนกระจก เพื่อให้รู้สึกว่าห้องนอนใหญ่ ไม่อึดอัด และมีความต่อเนื่องทางพื้นที่ใช้สอย ซึ่งห้องแบบนี้มักเหมาะกับคนที่ไม่ต้องการความเป็นส่วนตัวเท่าไรนัก เพราะเป็นแบบห้องนอนที่ไม่มีห้องน้ำในตัว เพราะห้องน้ำจะอยู่นอกห้องนอนเพื่อให้สามารถเข้าได้ทั้งจากห้องนอนและส่วนนั่งเล่นหรือรับแขก
คอนโดแบบ 1 ห้องนอนมีขนาดพื้นที่รวม 29.00-50.00 ตารางเมตร ซึ่งเป็นยูนิตที่แยกสัดส่วนใช้สอยชัดเจน ทำให้ห้องนอนมีขนาดใหญ่ 10-20 ตารางเมตร หรือขนาดตั้งแต่ 3.00 x 3.50 เมตร จนถึง 4.00 x 5.00 เมตร ห้องนอนใหญ่ของคอนโดแบบนี้จะมีผนังทึบกั้นห้องนอนกับห้องอื่นๆ เพื่อให้มีความเป็นส่วนตัว ตัดการรบกวนจากห้องนั่งเล่นหรือรับแขก ห้องครัว และห้องน้ำนอกห้องนอน
คอนโดขนาดใหญ่ตั้งแต่ 55 ตารางเมตรขึ้นไป มักจะเป็นห้องแบบ 2 ห้องนอนขึ้นไป เนื่องจากอยู่กันเป็นครอบครัว จึงมีห้องนอนทั้งแบบห้องนอนใหญ่และห้องนอนเล็ก จากการสำรวจพบว่า ห้องนอนใหญ่สำหรับหัวหน้าครอบครัวจะมีพื้นที่ 23.40-64.00 ตารางเมตร โดยมีขนาดตั้งแต่ 4.50 x 5.20 เมตร ไปจนถึง 8.00 x 8.00 เมตร ส่วนห้องนอนเล็กสำหรับลูกจะมีพื้นที่ 10.50 – 40.00 ตารางเมตร หรือมีขนาดตั้งแต่ 3.00 x 3.50 เมตร ไปจนถึง 5.50 x 7.30 เมตร ห้องนอนใหญ่แบบนี้มีลักษณะเป็นห้องนอนผนังทึบเพื่อความเป็นส่วนตัวเพียงพอระหว่างพ่อแม่กับลูก ทำให้แบบห้องนอนใหญ่มีห้องน้ำในตัว ส่วนห้องนอนเล็กถ้ามีห้องเดียวมักจะต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับส่วนนั่งเล่นหรือรับแขก แต่ถ้าเป็นแบบสามห้องนอน คือ มีห้องนอนใหญ่หนึ่งห้องกับห้องนอนเล็ก 2 ห้อง ส่วนห้องนอนเล็กทั้งสองจะใช้ห้องน้ำร่วมกัน ส่วนห้องนั่งเล่นหรือรับแขก รวมถึงห้องรับประทานข้าวจะมีห้องน้ำแบบที่ไม่มีส่วนอาบน้ำไว้อีกหนึ่งห้อง
บ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป (2 ห้องนอน) ไปจนถึง 600 ตารางเมตร (5 ห้องนอน) จะมีห้องนอนใหญ่พื้นที่ 27.00 ตารางเมตร หรือขนาด 4.50 x 6.00 เมตร ถึง 52.00 ตารางเมตร และมีห้องนอนเล็กตั้งแต่ 12.00 – 36.00 ตารางเมตร หรือขนาด 3.00 x 4.00 เมตร ถึง 4.50 x 8.00 เมตร เป็นห้องนอนแบบที่เป็นสัดเป็นส่วนอย่างมิดชิดและมักจะเป็นแบบห้องนอน ห้องน้ำในตัว
จากข้อมูลขนาดห้องนอนที่สร้างขายกันในตลาดพบว่า ถ้าอยากได้ห้องนอนที่อยู่อาศัยอย่างสบายตามมาตรฐานที่ไม่เล็กกว่า 11 เมตรจะต้องซื้อยูนิตที่มีขนาดตั้งแต่ 35 ตารางเมตรขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากได้ขนาดห้องนอนเล็กกว่านั้น ก็ต้องดูคอนโดที่มีการออกแบบที่สามารถขยายขนาดห้องนอนไปรวมกับส่วนนั่งเล่นหรือรับแขก แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ต้องอยู่คนเดียวหรืออยู่กับแฟนกันสองคนเท่านั้น จะมีลูกหรืออยู่ร่วมกับญาติมิตรก็คงไม่มีความเป็นส่วนตัวได้ตามสมควรอย่างแน่นอน
อ้างอิงหนังสือมาตรฐานการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน:
De Chiara, De Joseph., Panero, Julius., and Zelnik, Martin. Time-Saver Standards for Interior Design and Space Planning .
เขียนโดย : รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา
หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมล : [email protected]