การสร้างบ้านโดยทั่วไป หลายคนคิดว่าเมื่อไหร่ที่มีการวางแปลน วางงบประมาณ เลือกการออกแบบ เลือกวัสดุ เลือกช่างผู้รับเหมาที่รู้ฝีมือและเข้าใจความต้องการของเจ้าของบ้านครบถ้วนแล้วนั้น น่าจะช่วยให้การสร้างบ้านลงตัวได้ไม่ยาก แต่อันที่จริงแล้ว ในแต่ละขั้นตอนของการสร้างบ้านมักจะมีปัญหาต่าง ๆ ให้เจ้าของบ้านและผู้รับเหมาต้องคอยแก้ปัญหากันตลอดไม่มากก็น้อย ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยหลีกเลี่ยงความปวดหัวในการสร้างบ้านได้ คือ การให้ความสำคัญในการวางแผนขั้นตอนการสร้างบ้าน
วันนี้ทาง Baania ได้รวบรวมเคล็ดลับดีๆ ในการก่อสร้างบ้านพร้อมแนวทางประกอบการตัดสินใจในขั้นตอนต่าง ๆ มาฝากทุกท่าน รายละเอียดจะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
ในแต่ละขั้นตอนของการวางแผนการสร้างบ้าน และการคำนวณถึงงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง จำเป็นต้องมีการประเมินที่ดิน และพื้นที่ในการก่อสร้าง เพื่อให้การวางแผน และการคำนวณค่าใช้จ่าย สามารถดำเนินไปได้ตามแบบแผนอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงควรมีการคำนวณพื้นที่ทุกตารางวาที่จะใช้ในการก่อสร้างให้ดี เพื่อที่คุณจะได้ทราบถึงบริเวณ และขอบเขตในการสร้างสิ่งปลูกสร้าง
การออกแบบแปลนบ้าน คือเรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านไม่ควรละเลย การออกแบบแปลนบ้าน อาจเป็นไปได้ถึงการออกแบบส่วนต่าง ๆ ของบ้านให้ออกมาอย่างเหมาะสม และมีความสมบูรณ์ในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดขนาดของบ้าน รูปแบบลักษณะสไตล์ของบ้าน และสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายใน เพื่อให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนการออกแบบง่าย ๆ เพียงไม่กี่ขั้นตอน ดังนี้
เป็นสิ่งแรกที่เจ้าของบ้านควรคำนึงถึง เพราะคุณจะได้เลือกกำหนดรูปแบบของบ้านทั้งภายนอก และภายใน รวมไปถึงสไตล์การออกแบบต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น สไตล์โมเดิร์น สไตล์ลอฟท์ สไตล์ทาวน์เฮาส์ ที่เป็นที่นิยมในการออกแบบในตอนนี้ หลังจากที่คุณเลือกสไตล์ของบ้านเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรมีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม และการใช้งานจริงในปัจจุบัน เพื่อให้การออกแบบ และก่อสร้างเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนนี้ ให้คุณลองวางแผน และวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นในบ้าน ยกตัวอย่างการวิเคราะห์ตามความต้องการเช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องเก็บของ ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน โรงรถ ห้องต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่มีความสำคัญเป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้น ควรออกแบบวางแปลนให้เพียงพอสำหรับสมาชิกภายในบ้าน เช่น หากคุณมีสมาชิกในครอบครัว 4-5 คน ก็อาจจะมีห้องน้ำ 2 ห้อง และห้องนอน 3 – 4 ห้อง เป็นต้น
ออกแบบการวางแปลนโดยการกำหนดขนาดของบ้านที่คุณต้องการจะสร้าง วิเคราะห์แต่ละห้องว่าควรจะมีความกว้าง ความยาว ความสูง เท่าไหร่ และนำมาสรุปพื้นที่รวมกันในแต่ละห้องว่าบ้านหลังนี้ควรใช้พื้นที่เท่าไหร่ในการสร้าง โดยผ่านการคำนวณทั้งพื้นที่การใช้สอยในแต่ละห้อง และรูปแบบของบ้าน ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนสำคัญ เพราะหากคุณทราบขนาดพื้นที่ที่ต้องการ จะง่ายต่อการประเมินที่ดิน และงบประมาณในการสร้างอีกด้วย
หลังจากที่คุณได้คำนวณพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้านเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนดตำแหน่งบ้านอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดทิศทางในการสร้างบ้าน เช่น ทิศทางที่เหมาะสำหรับการสร้างบ้านคือ ทิศเหนือ โดยอาจมีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบบ้านด้วย เช่น ทิศทางลม หรือ ทิศทางของแสง เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดีต่อผู้อยู่อาศัย
หากคุณวิเคราะห์สิ่งที่ต้องการ รวมไปถึง รูปแบบต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ให้นำแบบทุกอย่างที่กำหนดไว้ มาเขียนลงในกระดาษเขียนแบบ หรือ โปรแกรมการเขียนแบบวิเคราะห์แบบบ้าน เพื่อวิเคราะห์ดูภาพรวม และองค์ประกอบต่าง ๆ ของบ้าน ว่ามีความเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้งานที่สมควรหรือไม่ โดยขั้นตอนนี้นอกจากจะทำให้คุณเห็นแปลนบ้านที่สวยงามแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความถูกต้องของการออกแบบบ้านอีกด้วย เพื่อให้การก่อสร้างสามารถเป็นไปได้อย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง
ระบบน้ำประปา และระบบไฟฟ้า เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เจ้าของบ้านไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในงานก่อสร้างอีกสิ่งหนึ่ง ดังนั้น ทาง Baania จึงได้นำข้อมูลของระบบน้ำประปา และระบบไฟ มาฝากทุก ๆ ท่านกัน ดังนี้
ระบบน้ำประปา
ส่วนมากระบบของน้ำประปาที่ใช้ภายในบ้านจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
ระบบประเภทนี้ เป็นระบบที่หลายท่านมักเลือกใช้กันมากที่สุด เป็นระบบน้ำแบบแรงดันต่ำมีปั๊มน้ำ และ แท็งก์น้ำอยู่ชั้นล่าง
ข้อดี: ราคาถูก ประหยัดน้ำ
ข้อเสีย: เปลืองไฟ
อีกหนึ่งระบบประปาภายในบ้านที่จะช่วยคุณประหยัดไฟฟ้าในการทำงาน เหมาะสำหรับบ้านที่มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่มากในแต่ละวัน หรือ มีสมาชิกภายในบ้านเยอะ โดยมีแท็งก์น้ำถึง 2 แท็งก์ใน 1 เครื่องปั๊มน้ำ
ข้อดี: ประหยัดไฟ ประหยัดน้ำ
ข้อเสีย: ราคาแพง
ระบบไฟฟ้าภายในบ้าน แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ดังนี้
ระบบไฟฟ้าประเภทนี้ จัดเป็นประเภทที่หลายบ้านมักเลือกใช้กันเป็นอันดับแรก ๆ มีจำนวนกระแสไฟ 220 V กระแสไฟมีความเหมาะสมต่อการใช้งานภายในบ้าน จากการคำนวณเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้งานที่เสถียร และมีการติดตั้งสายดินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วไหลไปยังบริเวณสายไฟเส้นต่าง ๆ ปลอดภัยต่อการใช้งาน
ข้อดี: ราคาถูก ติดตั้งง่าย
ข้อเสีย: อาจเกิดการลัดวงจร
หากจะกล่าวถึงการใช้งานของเฟส 3 นั้น มักนำไปใช้ในสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความต้องการกำลังไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างสถานที่เช่น โรงงาน โรงเรียน โรงแรม สถานที่ราชการ โดยมีจำนวนกระแสไฟมากกว่าประเภท 1 เฟส จำนวน 380 V ซึ่งมีกำลังไฟมาก สามารถใช้งานได้ในปริมาณที่สูง
ข้อดี: กำลังไฟฟ้าเสถียร ใช้ไฟได้ในปริมาณมาก ไม่ลัดวงจร
ข้อเสีย: ราคาสูง ติดตั้งยาก
นอกจากจะต้องวางแผน และเตรียมจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างแล้ว ยังต้องมีการเลือกใช้วัสดุที่ดี และมีประสิทธิภาพ เพื่อบ้านที่สวยได้มาตรฐาน ดังนั้น วัสดุต่าง ๆ มีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างบ้าน โดยอุปกรณ์สร้างบ้านที่ควรมี ได้แก่
เปรียบเสมือนหลังคาเป็นผ้าห่ม เพราะวัสดุชนิดนี้มีความจำเป็นในการก่อสร้างเป็นอย่างมาก ถ้าหากขาดหลังคาไป จะทำให้บ้านของคุณไม่ได้มาตรฐาน และไม่สามารถกันแดด กันฝนได้
สองสิ่งนี้ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับบ้านมาอย่างช้านาน ทุกบ้านมีความจำเป็นต้องมีประตู เพื่อสะดวกต่อการเข้าออก และการใช้งานในด้านอื่น ๆ รวมไปถึงการป้องกันอันตรายจากผู้บุกรุกได้อีกด้วย
วัสดุประเภทนี้จะช่วยคุณในเรื่องของการระบายอากาศภายในบ้าน เพื่อให้บ้านของคุณมีอากาศที่เหมาะสม ไม่ร้อน หรือเย็นมากจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยเป็นสีสันของบ้าน เป็นต้น
อีกหนึ่งวัสดุเล็ก ๆ ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสร้างบ้าน เพื่อเป็นตัวช่วยยึดเหนี่ยว และเสริมสร้างความแข็งแรงของผนังบ้าน และส่วนต่าง ๆ ให้คงรูป
เรียกได้ว่า เป็นหัวใจของการสร้างบ้านเลยก็ว่าได้ สำหรับตระกูลเสริมสร้างความแข็งแรงอย่างคอนกรีต ไม่ว่าจะเป็น เสาหลัก คาน เสาเอ็น ต่างก็ทำหน้าที่รับน้ำหนักของวัสดุส่วนอื่น ๆ ภายในบ้าน
อิฐมวลเบา อิฐมอญ ต่างก็ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างเป็นผนังของบ้าน โดยวัสดุเหล่านี้ มีความแข็งแรง และทนทานต่อแรงกระแทก อีกทั้งยังช่วยรับน้ำหนักรองจากคานเช่นเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการสร้างบ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการออกแบบแปลนของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่จำเป็น ห้องต่างๆ ภายในบ้าน หรือการคำนวณพื้นที่ในการก่อสร้างภายในบ้าน ต่างก็ต้องมีการออกแบบให้เพียงพอสำหรับสมาชิกภายในบ้าน รวมไปถึงการคำนึงถึงงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์การสร้างบ้าน เพื่อให้ได้รูปแบบบ้านที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมต่อราคา