คจร.เร่ง รฟม.-กทม.เจรจาโอนหนี้สินและทรัพย์สินสายสีเขียว พร้อมเร่งเปิดเดินรถ 1 สถานี จากแบริ่ง-สำโรง โดยให้ กทม.เช่าใช้จาก รฟม.ไปก่อนระหว่างการเจรจาโอนหนี้ยังไม่เรียบร้อยเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก พร้อมไฟเขียวสร้างสีส้มแค่บางขุนนนท์ รฟม.ประหยัด 1.5 หมื่นล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคม รฟม. และ กทม. ในการมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และมอบหมายให้คณะกรรมการประเมินทรัพย์สินฯ เร่งรัดดำเนินการโอนหนี้สินและทรัพย์สินโครงการ
รวมทั้งมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเดินรถเชื่อมต่อจากสถานีแบริ่งไปสถานีสำโรงเพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งทาง กทม.ได้ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTS เข้าไปติดตั้งระบบ พร้อมทั้งบริหารการเดินรถ โดยในระหว่างการโอนหนี้ยังไม่เรียบร้อยให้ใช้วิธีการเช่าใช้จาก รฟม.ไปก่อน เพื่อเร่งรัดการเปิดเดินรถในส่วน 1 สถานี
พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ กทม. รฟม. กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางในการเดินรถและการลงทุนในอนาคตของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่ง กทม. รายงานว่าสภากรุงเทพมหานครรับทราบ และการหาแหล่งเงินลงทุนเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร กทม. ทั้งส่วนที่ต้องชำระให้ รฟม. จำนวน 3,500 ล้านบาท และส่วนหนี้สินเงินกู้ โดยมูลค่าทั้งสายสีเขียวเหนือและใต้รวมกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ จะต้องพิจารณารวมถึงกรณีที่ รฟม.มีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายของสายสีเขียว เหนือ จากคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.75 กม. จำนวน 4 สถานี และสีเขียวใต้ จากสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. จำนวน 4 สถานี
“ให้ รฟม. กทม.ไปเจรจากัน เพราะ รฟม.ลงทุนไปแล้ว ดูว่า กทม.จะมีขีดความสามารถในการรับได้หรือไม่ หาก กทม.รับไม่ไหว ทาง รฟม.ยังมีแผน 2 และพร้อมที่จะเดินรถเอง” นายอาคมกล่าว
***ไฟเขียวสร้างสีส้มแค่บางขุนนนท์ รฟม.ประหยัด 1.5 หมื่นล้าน
ที่ประชุม คจร.ยังเห็นชอบให้ รฟม.ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชัน โดยกำหนดให้แนวเส้นทางสิ้นสุดที่สถานีบางขุนนนท์ (ถนนจรัญสนิทวงศ์) ก่อนในระยะแรก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าลงทุนไปได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท เพื่อลดการซ้ำซ้อนกับแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน จากสถานีศาลายา-สถานีศิริราช ซึ่งเชื่อมต่อที่สถานีบางขุนนนท์ด้วยสามารถรองรับการเดินทางได้ โดยสถานีบางขุนนนท์ตจะเป็นสถานีร่วมของสายสีส้ม, เชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยมีแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ขณะที่ สถานีศิริราช จะเป็นสถานีร่วมของสายสีแดงอ่อนกับสายสีส้ม
***เห็นชอบยกระดับสายสีทอง
คจร.ยังเห็นชอบให้การก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่องพื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน เนื่องจากหากก่อสร้างเป็นระบบใต้ดิน ระยะทางเพียง 2 กม.เศษจะใช้เงินลงทุนสูง ไม่คุ้มค่า และพื้นที่ดังกล่าวไม่อยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ อีกทั้งในแนวดังกล่าวซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวมีโครวการรถไฟฟ้า BTS ซึ่งเป็นระบบลอยฟ้าอยู่ ซึ่ง BTS เกิดก่อนมติ ครม.ดังกล่าว จะเกิดการควบคุมได้ยาก ขณะที่สายสีทองเป็นฟีดเดอร์การขนส่งไม่มากนัก แต่ถือว่ามีความสำคัญในการส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่ระบบหลัก
ทั้งนี้ ตามข้อเสนอระบุว่า ตามที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่องพื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน ในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีรูปแบบที่ไม่เหมาะสมสำหรับการลงทุนก่อสร้างในรูปแบบใต้ดิน และมีข้อจำกัดทางกายภาพในการก่อสร้างเป็นระบบใต้ดินในแนวเส้นทางถนนเจริญนคร แต่สามารถจะเป็นระบบสนับสนุน (Feeder) ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น เป็นการวางแผนแก้ไขปัญหาการจราจรเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่บริเวณถนนเจริญนคร และจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณผู้โดยสารให้กับโครงข่ายหลักตามแผนแม่บท
อีกทั้งโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีทอง ระยะที่ 2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา-ถนนประชาธิปก มีแนวเส้นทางอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความอ่อนไหวและตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดอนงคารามวรวิหาร วัดพิชยญาติการามวรวิหาร วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร และอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี ซึ่งขณะนี้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ (คชก.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาต่อไป
ที่มา : manager