Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

คมนาคมบูมค้าชายแดนภาคใต้ดึงเอกชนลงทุน 30 ปีมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา 5.7 หมื่นล้าน

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

คมนาคมบูมค้าชายแดนภาคใต้ดึงเอกชนลงทุน 30 ปีมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา 5.7 หมื่นล้าน ยักษ์รับเหมา-ค้าปลีกสนใจพรึ่บ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะทาง 62.59 กิโลเมตร อยู่ในแผนปฎิบัติการเร่งด่วนปี 2561 จะเปิดให้เอกชนลงทุนรูปแบบ PPP

มีวงเงินลงทุนโครงการ 57,022 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 37,399 ล้านบาท ประกอบด้วย งานทางและโครงสร้าง 27,424 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,974 ล้านบาท งานระบบ 2,856 ล้านบาท

โดยค่าลงทุนระยะเริ่มต้น 145 ล้านบาท ขณะที่วงเงินค่าบริหารและบำรุงรักษา (O&M) อยู่ที่ 19,623 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าบำรุงรักษา 12,440 ล้านบาท และค่าดำเนินงาน 7,183 ล้านบาท โดยรายได้จะมาจากการเก็บค่าผ่านทางและรายได้เชิงพาณิชย์จากศูนย์บริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 1 แห่ง แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ด้านทิศตะวันออกพื้นที่ 71 ไร่ และด้านทิศตะวันตกพื้นที่ 48.5 ไร่

สำหรับอัตราค่าผ่านทางนั้นจะคิดค่าแรกเข้า 10 บาท และคิดตามระยะทาง 1.25 บาทต่อกิโลเมตร เมื่อรวมตลอดเส้นทางทั้งเส้นจะมีอัตราค่าผ่านทางรวม 88 บาท

นานอาคมกล่าวอีกว่า จะเร่งให้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ PPP และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ ก่อนเปิดประกวดราคาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ก่อนลงนามสัญญาและก่อสร้างช่วงกลางปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เพื่อเปิดให้บริการตามแผนในปี 2565-2566

เมื่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรเริ่มต้นในปี 2567 อยู่ที่ 20,910 คัน รวมรายได้จากค่าผ่านทาง 478 ล้านบาทต่อปี จากนั้นในปี 2596 ปริมาณการจราจรจะเพิ่มเป็น 46,050 คัน คิดเป็นการเติบโต 125% เช่นเดียวกับรายได้ที่จะมีปริมาณการเติบโต 348% รวมทั้งหมด 2,145 ล้านบาท ทั้งนี้รวมรายได้ตลอด 30 ปีของมอเตอร์เวย์สายนี้จะอยู่ที่ 41,767 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้นจะใช้แบบ PPP Net Cost ให้เอกชนลงทุนพร้อมรับความเสี่ยงเองทั้งหมด เบื้องต้นกรมทางหลวงได้แบ่งขอบเขตการลงทุนออกเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 เอกชนเป็นผู้ออกแบบ จัดหาแหล่งเงินทุน และก่อสร้างโครงการทั้งหมด โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน ระยะที่ 2 เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา โดยกำหนดกรอบระยะเวลาร่วมทุนไม่เกิน 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบและก่อสร้างโครงการ 3 ปี และระยะเวลาดำเนินงานและบำรุงรักษาไม่เกิน 30 ปี

นายอาคมกล่าวอีกว่า มอเตอร์เวย์เส้นทางนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ควบคู่ไปกับเพิ่มมูลค่าการค้าด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) ที่มียอดการค้าเกือบ 3.2 แสนล้านบาทต่อปี

แบ่งเป็น ด่านสะเดา 3.25 แสนล้านบาทต่อปี และด่านปาดังเบซาร์ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งยังสามารถลดต้นทุนการขนส่งและระยะเวลาเดินทางได้เกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมดด้วยการออกแบบมอเตอร์เวย์ระบบปิด

จากเดิม 90 นาทีเหลือเพียงไม่ถึง 60 นาที นับว่าเป็นเส้นทางสายใหม่ที่จะกลายมาเป็นเส้นทางสายหลักส่งเสริมการค้าชายแดนและลดปัญหาจราจรแออัดบริเวณด่านชายแดน เนื่องจากปัจจุบันเริ่มปริมาณขนส่งสินค้ามากขึ้น ทำให้รถติดจนต้องลงทุนก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งที่สองที่ด่านชายแดนสะเดา โดยในอนาคตจะแยกเส้นทางรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกรวมถึงรถทัวร์โดยสารสาธารณะออกจากกันแบบด่านชายแดนของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อแก้เรื่องความแออัดดังกล่าว

สำหรับเรื่องการใช้เทคโนโลยีในระบบมอเตอร์เวย์สายนี้จะเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETC) และเป็นแบบไม่มีไม้กั้นและไม่ใช้บัตร (Cardless) เพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าด่านเก็บเงินตลอดจนการเชื่อมต่อระบบการเดินทางด้วยบัตรใบเดียวหรือตั๋วร่วม

แนวเส้นทางมอเตอร์เวย์ สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ประมาณ กม.1242+135 บริเวณอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา มีแนวสายทางมุ่งหน้าลงด้านทิศใต้ และมีจุดสิ้นสุดโครงการ (กม.62+596) ที่ชายแดนไทย-มาเลเซียบริเวณที่ตั้งของด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รวมระยะทางประมาณ 62.60 กิโลเมตร

โดยบริเวณ กม.11+630 จะมีแนว Spur Line ระยะทาง 7.83 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสู่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และทางหลวงหมายเลข 4135 ส่วนการออกแบบจะเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีด่านเก็บค่าผ่านทางด้วยระบบปิดทั้งหมด 4 ด่าน โดยโครงการมีที่พักริมทาง 1 แห่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการสัมมนาครั้งนี้มีเอกชนจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมรับฟังทั้งจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น อาทิ บริษัท Vinci concession, บริษัท UEM grouo berhad บริษัท Sojitz บริษัท Egis บริษัท Mitsubishi

ขณะที่เอกชนจากประเทศไทยนั้นมีกลุ่มทุนใหญ่เข้าร่วม อาทิ บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล็อปเมนต์ (ITD) บมจ.ช.การช่าง (CK) บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รวมถึงกลุ่มยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่าง บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)

ที่มา : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร