นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market sounding) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 63,998 ล้านบาทว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการผลักดันให้โครงการนี้สามารถเริ่มกระบวนการหาตัวเอกชนผู้ร่วมลงทุนภายในปี 60 เพื่อให้ทันแผนที่จะเปิดให้บริการในปี 65
สำหรับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย 8 เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่มีความสำคัญ ที่จะกลายเป็นประตูสู่พื้นที่เศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่นั้น จำเป็นต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เงินลงทุน และการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพของภาคเอกชน
โครงการนี้คาดว่าจะเปิดให้ภาคเอกชนยื่นข้อเสนอประมูลในรูปแบบ PPP เป็นหนึ่งในเส้นทางตามแผนระยะเร่งด่วน ที่มีความพร้อมในการดำเนินงานสูง ปัจจุบันได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จทั้งหมด และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ขณะนี้กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการออก พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน
ทั้งนี้ จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนตั้งแต่การก่อสร้างงานโยธา งานระบบด่านเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร งานที่พักริมทาง (Service Area) จนถึงการบริหารโครงการซ่อมบำรุง โดยรัฐจะรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยบรรจุโครงการไว้ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ปี 60 จะสรุปการศึกษาภายในเดือน ธ.ค.นี้ และเสนอคณะกรรมการ PPP ภายในปี 60 เปิดประมูลช่วงปลายปี 60 และเปิดให้บริการในปี 65
นายชาติชาย กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินเบื้องต้น พบว่ามีความจำเป็นที่รัฐต้องสนับสนุนมากกว่าการเวนคืนที่ดิน ซึ่งได้มีการพิจารณาแนวทางการสนับสนุนผู้ลงทุนเพิ่มเติม เช่น 1.รัฐรับผิดชอบงานโยธาบางส่วน เช่น ก่อสร้าง ช่วงที่เป็นทางต่างระดับ หรือ ทางเชื่อมเข้าสู่ถนนโดยรอบ 2.ประกันรายได้ขั้นต่ำ 3. อุดหนุนในระยะแรก 4. อุดหนุนเป็นรายปีตามระยะเวลาที่ตกลงกัน 5. อุดหนุนเพิ่มเติมจากค่าผ่านทางที่เรียกเก็บ โดยเบื้องต้นแนวทางการลงทุน PPP Net Cost หรือให้สัมปทาน ระยะเวลา 30 ปี
อนึ่ง มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ มีระยะทางประมาณ 109 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 63,998 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือกรมทางหลวงจะเป็นผู้เวนคืนที่ดิน มูลค่ากว่า 9,488 ล้านบาท และให้เอกชนเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินทุน ก่อสร้างโยธาและงานระบบ ดำเนินงานและซ่อมบำรุงรักษาเส้นทาง รวมถึงการก่อสร้างและบริหารจัดการที่พักริมทางทั้งหมด มูลค่าประมาณ 54,510 ล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการในปี 65 จะมีปริมาณรถยนต์เฉลี่ยประมาณ 43,673 คัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 122,108 คัน/วันในปี 94 โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปี
โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 นครชัยศรี-นราธิวาส (สุไหงโก-ลก) มีจุดเริ่มต้นเชื่อมกับโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ผ่านไปยัง จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม และสิ้นสุดที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ออกแบบเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร มีด่านเก็บค่าผ่านทางด้วยระบบปิดทั้งหมด 9 ด่าน ตลอดแนวเส้นทางกำหนดให้มีที่พักริมทางทั้งหมด 5 แห่ง แบ่งเป็นศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) 1 แห่ง สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) 2 แห่ง และสถานที่พักริมทางหลวง (Rest Area) 2 แห่ง
ที่มา : ryt9