นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง บรรยายพิเศษหัวข้อ "พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์" ในงานสัมมนา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใต้กรอบ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคาดว่าสามารถบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2561
โดยเนื้อหาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะครอบคลุมถึงอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ
1. ที่ดินเกษตรกรรม มีอัตราการจัดเก็บไม่เกิน 0.2% โดยอ้างอิงกับเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์หรือไม่ และมีการทำเกษตรกรรมที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่
2. บ้านพักอาศัย อัตราไม่เกิน 0.5%
3. พาณิชยกรรม อัตราไม่เกิน 2%
4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า อัตราจัดเก็บไม่เกิน 5% โดยเริ่มต้นจากปีแรก 2% และจากนั้นถ้ายังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ จะมีการปรับเพิ่ม 0.5% ในทุก 3 ปี
ทั้งนี้กรมธนารักษ์จะสำรวจพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด และแจ้งไปยังกรมที่ดิน จากนั้นกรมธนารักษ์จะแจ้งไปยังเจ้าของแปลงที่ดินเพื่อประเมินอัตราจัดเก็บ โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่ามีภาระภาษีเท่าไหร่ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของเจ้าของที่ดิน รวมทั้งสร้างความโปร่งใส ในส่วนขององค์กรปกครองท้องถิ่นก็จะได้ทราบว่าจะมีรายรับภาษีที่จะนำมาใช้พัฒนาพื้นที่มากน้อยแค่ไหนอย่างไร นายพรชัยกล่าว
ในส่วนของการบรรเทาภาระภาษีนั้น นายพรชัยเปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวมีการยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินบางประเภท อาทิ สาธารณสมบัติ ทรัพย์สินของรัฐ ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ สหประชาชาติ สถานทูต ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร สถาบันการศึกษา และบ้านพักอาศัยหลัก 1 หลัง โดยมีอัตราลดหย่อนสูงสุด 90% และอำนาจในการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้นๆ
นายพรชัย เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีส่วนกระตุ้นให้เจ้าของที่ดิน หันมาใช้ประโยชน์จากที่ดินเปล่า โดยสามารถนำไปให้เกษตรกรเช่าปลูกพืชต่างๆ เช่น อ้อย ซึ่งเมื่อได้ผลผลิต จะมีการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงาน ผลิตสินค้าออกมาเป็นไบโอโปรดักส์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนในด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจะมีการนำที่ดินเปล่ามาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยนายพรชัยกล่าวว่า ในฐานข้อมูล 14 ล้านคน เป็นผู้มีที่อยุ่อาศัยราว 5 ล้านคน มีประมาณ 1 แสนคนที่เช่าบ้านอยู่ และอีก 4 ล้านคนเป็นผู้ที่อาศัยในบ้านคนอื่น ซึ่งในอนาคตเมื่อคนกลุ่มนี้มีความพร้อมก็จะเริ่มซื้อบ้านเป็นของตนเองกลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพต่อไป
ในขณะเดียวกันเมื่อสำรวจจำนวนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ พบว่ากระจุกในภาคอีสานเยอะที่สุดถึงกว่า 40% คำถามคือต้องทำอย่างไรให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาที่ดินจะก่อให้เกิดนิคมสร้างตนเองหรือมีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อให้เกิดการจ้างงาน
"อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับอัตราภาษีว่าจะจัดเก็บมากน้อยแค่ไหน และมีกระแสข่าวว่าจะปรับลดอัตราจัดเก็บในกลุ่มบ้านพักอาศัย ขอบอกว่าอย่าตื่นตระหนกและอย่าไปเชื่อ ทุกวันนี้ยังเป็นอัตรานำเสนอ ขอให้รอการประกาศอัตราจัดเก็บที่จะใช้จริงจากรัฐบาล" นายพรชัยกล่าว
บทความที่เกี่ยวข้อง