ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดพังงา นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดพังงา (อจร.จังหวัดพังงา) ครั้งที่ 1/2561 เพื่อร่วมหารือและรับทราบความคืบหน้า โครงการการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทาง สุราษฎ์ธานี-พังงา-ภูเก็ต โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายศิริเกษ อภิรัตน์ ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทาง สุราษฎ์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ทางกระทรวงคมนาคม วางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมในภาคใต้ เชื่อมโยงการเดินทางในฝั่งอ่าวไทยมายังพื้นที่หลัก คือ จังหวัดพังงา , ภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ ซึ่งการออกแบบทางรถไฟสายใหม่ เส้นทางจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเริ่มที่สถานีทุ่งโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาที่จังหวัดพังงา เป็นการขยายเส้นทางสายหลักของภาคใต้ เพื่อที่จะเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2561 เริ่มดำเนินการในเฟสแรก คือ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต หลังจากนั้นดำเนินการเส้นทางรถไฟสายใหม่สุราษฎร์ธานี-จังหวัดพังงา ควบคู่ไปกับการดำเนินงานเส้นทางรถไฟสายใหม่ เส้นทางดอนสักเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายใต้
สำหรับสรุปผลการดำเนินงาน การศึกษา ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางรถไฟสายใหม่เส้นทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี-จังหวัดพังงา มีระยะทางรวม 157.2 กิโลเมตร เป็นทางคู่ มีระบบราง เป็นทางกว้าง 1 เมตร แนวเส้นทางรองรับการเดินรถที่ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รองรับน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน ป้องกันอุบัติเหตุ ณ จุดตัดเสมอระดับและทางหลักผ่าน ให้บริการโดยสารตามรูปแบบของ รฟท. ในปัจจุบัน และเพิ่มเติมขบวนรถท่องเที่ยวเป็นบริการรูปแบบใหม่ มีการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ท่านุ่น ลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) 2 แห่ง คือ สถานีทับปุด และสถานีท่านุ่น 12 สถานี 18 ที่หยุดรถ รองรับการพัฒนาเป็นระบบรถไฟฟ้า (Electrification) ในอนาคต รองรับการพัฒนาไปสู่ระบบควบคุมการเดินจากศูนย์กลาง (Centralized Traffic Control : CTC)
รายละเอียดผลการศึกษาด้านความเหมาะสมของโครงการ ระยะเวลาการก่อสร้าง 36 เดือน มูลค่าการลงทุน 36,128 ล้านบาท มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) 866 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน (B/C ratio) 10.4 และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สถานะปัจจุบันของโครงการ มีดังนี้ การศึกษาออกแบบแล้วเสร็จ (เดือนพฤษภาคม 2560) กระทรวงคมนาคม เห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินการในขั้นตอนการลงทุน และ ครม. ในคราวที่จังหวัดสงขลา 28 พ.ย. 60 ให้เร่งรัดการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเซ็นสัญญาก่อสร้างในปี 2562 น่าจะเปิดใช้บริการในปี 2564-2565
ที่มา : thainews