Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

"ช.การช่าง"ปลุกค้าปลีกรถไฟใต้ดินเต็มสูบ เชื่อมสถานี"ศูนย์วัฒนธรรม-เพชรบุรี"ทะลุตึกสิงห์คอมเพล็กซ์

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

รถไฟฟ้าได้รับความนิยม ดันรายได้สื่อโฆษณา-ค้าปลีกใต้ดินเครือ ช.การช่างโต โกยยอด 500 ล้าน คาดสิงห์คอมเพล็กซ์เปิดดันคนเพิ่ม ตั้งเป้าปี′60 รายได้พุ่ง 8% ลุยประมูลพัฒนาพื้นที่สถานีสายสีม่วง 16 แห่ง คัดแบ่งเป็น 2 เฟส ประเดิม "เตาปูน-ตลาดบางใหญ่" หลังคนไม่มาตามนัด ส่วนสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เจาะพัฒนารายสถานี ปักหมุด 2 สถานี "วังบูรพา-อิสรภาพ" นำร่อง รอจังหวะผู้โดยสารเพิ่ม

นายณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) บริษัทลูก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บมจ.ช.การช่าง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รายได้รวมของปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อยู่ที่ 470 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักมาจากธุรกิจโฆษณา โทรคมนาคม และพื้นที่เชิงพาณิชย์เมโทรมอลล์ตามลำดับ ส่วนปี 2560 ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 8% หรืออยู่ที่ 530 ล้านบาท

ปี′60 เนรมิตเพิ่ม 2 สถานี 

"ปี′59 เราเปิดพื้นที่รีเทลในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว 6 สถานี ล่าสุดเพิ่งเปิดสถานีคลองเตย ในปี′60 จะเปิดเพิ่มอีก 2 สถานี ประมาณเดือน มี.ค.จะเปิดที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม จากนั้นประมาณไตรมาส 4 จะเปิดสถานีเพชรบุรี ยังเหลือสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีรัชดาภิเษก และสถานีลาดพร้าว ซึ่งรอดูผลศึกษารูปแบบที่เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับธุรกิจในทำเลนั้น ๆ รวมถึงปริมาณผู้โดยสารด้วย"

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบการพัฒนาสถานีศูนย์วัฒนธรรม ขนาดพื้นที่ประมาณ 600-700 ตร.ม. จะเน้นทีรูปแบบไลฟ์สไตล์เพื่อตอบโจทย์ความสะดวก สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินที่ส่วนใหญ่จะมีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ภายในสถานีจะมีร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทมาทุกสถานี เช่น ร้านกาแฟอเมซอน, ลอว์สัน ร้านสะดวกซื้อ ร้านตัดผม ดอกไม้ เป็นต้น

สิงห์เจาะอุโมงค์เชื่อมออฟฟิศใหม่

ขณะที่สถานีเพชรบุรี มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ตร.ม. รูปแบบการพัฒนาจะเป็นแบบเดียวกัน เนื่องจากเป็นแหล่งคนทำงาน มีอาคารสำนักงานเกิดใหม่จำนวนมาก ช่วงต้นถนนอโศก ซึ่งปลายปีนี้จะมีอาคารสำนักงานของสิงห์คอมเพล็กซ์เปิดให้บริการบริเวณทางแยกติดกับสถานีเพชรบุรี ซึ่งทางเจ้าของโครงการได้ขอทำทางเดินใต้ดินเจาะทะลุกับอุโมงค์สถานีรถไฟฟ้าเหมือนกับสถานีพระราม 9 ทำให้คนมาใช้บริการสามารถจะเดินเข้าอาคารได้สะดวกมากขึ้น

"ธุรกิจสื่อโฆษณาและพื้นที่รีเทลเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆหลังคนหันมาให้ความสนใจใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นตอนนี้ผู้ใช้บริการอยู่ที่ประมาณ3แสนเที่ยวคน/วัน บางวันพีกสุดแตะ 3.5 แสนเที่ยวคน/วัน"
แต่งตัวรอสีม่วง-น้ำเงินต่อขยาย ด้านการลงทุนใหม่ในปี 2560 นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หาก BEM ได้เดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยายบางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ในส่วนของ BMN จะได้รับสัมปทานต่อจากบริษัทแม่ด้วย ในการบริหารพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 21 สถานี รวมถึงพื้นที่โฆษณาในสถานีและขบวน จะทำให้รายได้ BMN มีการเติบโตก้าวกระโดด เนื่องจากงานเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

"ในแง่รายได้คงไม่ดีเท่ากับสีน้ำเงินปัจจุบัน เพราะสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย แนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่นอกเมืองมากกว่า รายได้คงจะไม่ดับเบิล ถึงแม้ว่าพื้นที่โฆษณาต่าง ๆ จะดับเบิลก็ตาม เนื่องจากศักยภาพของการทำรายได้พื้นที่โฆษณาส่วนต่อขยายอยู่นอกเมือง จะโตเหมือนย่านรัชดาภิเษก สุขุมวิทคงไม่ได้"

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่า ดังนั้นในตลอดเส้นทางมี 21 สถานีจากการทำรายละเอียดแล้ว คงไม่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ทุกสถานี โดยจะสามารถพัฒนาพื้นที่รูปแบบเมโทรมอลล์ได้จำนวน 2 สถานีที่เป็นสถานีใต้ดิน คือ สถานีวังบูรพากับสถานีอิสรภาพ ส่วนสถานีที่เหลือจะเป็นแบบลอยฟ้า รูปแบบการพัฒนาจะเป็นลักษณะร้านค้าขนาดเล็กเหมือนสถานีของรถไฟฟ้าบีทีเอส

ขณะเดียวกันจะเข้าประมูลพัฒนาพื้นที่สถานีของสายสีม่วง(คลองบางไผ่-เตาปูน)ระยะทาง23กม.จำนวน 16 สถานี ได้แก่ สถานีเตาปูน บางซ่อน วงศ์สว่าง แยกติวานนท์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ราชการนนทบุรี ศรีพรสวรรค์ แยกนนทบุรี 1 สะพานพระนั่งเกล้า ไทรม้า ท่าอิฐ บางรักใหญ่ บางพลู สามแยกบางใหญ่ ตลาดบางใหญ่ และคลองบางไผ่

ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกประกาศร่างทีโออาร์โครงการ ซึ่งบริษัทได้ศึกษาพื้นที่ไว้หมดแล้วว่าทั้ง 16 สถานีจะพัฒนารูปแบบไหน และจะต้องแบ่งการพัฒนาเป็นเฟส เช่น เฟสแรกจะเริ่มที่สถานีเตาปูน และสถานีตลาดบางใหญ่ใกล้กับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต ที่มีความเหมาะสม สามารถพัฒนาได้ทันที เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางและมีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก ส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการ เนื่องจากต้องรอปริมาณผู้โดยสารที่มาใช้บริการ

ด้านแหล่งข่าวจาก บมจ.บีอีเอ็ม กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังทำรายละเอียดการพัฒนาพื้นที่สถานีของสายสีม่วงให้ รฟม.พิจารณา คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทในการก่อสร้างพื้นที่ร้านค้าและโฆษณาบนสถานี ซึ่งรูปแบบร้านค้าจะเหมือนกับรถไฟฟ้าบีทีเอส
รฟม.เปิดประมูล PPP
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า มติบอร์ดวันที่ 16 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ รฟม.เปิดประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานี 16 สถานีของสายสีม่วงรูปแบบ PPP (รัฐและเอกชนร่วมลงทุน) แทนเจรจาตรงกับ BEM ที่รับจ้างเดินรถ 30 ปีอยู่แล้ว ซึ่งบอร์ดให้ไปดูว่าขั้นตอนไหนที่ทำให้รวดเร็วได้ และเสนอบอร์ดโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2560 นี้

"ที่ต้องประมูลเพื่อความโปร่งใส เกรงว่าเจรจารายเดิมจะมีประเด็นด้านข้อกฎหมาย ส่วนระยะเวลาเจรจารายเดิมกับประมูลไม่ต่างกันมากประมาณ 6-8 เดือน ส่วนจะเป็น PPP แบบไหนต้องศึกษารายละเอียด ก็มีความเป็นไปได้จะเป็น PPP Net Cost รวมถึงมูลค่าการลงทุนโครงการจะต้องรอผลศึกษาก่อนถึงรู้ว่าจะเป็น PPP ขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ หากมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาทจะดำเนินการได้เร็ว แต่ถ้าเกิน 5,000 ล้านบาทจะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่า จะพยายามเปิดประมูลภายในไตรมาสแรกปี′60"

สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายใน 16 สถานีของสายสีม่วง มีพื้นที่รวมประมาณ 1,000 ตร.ม. แบ่งศักยภาพของสถานีเป็น 3 เกรด คือ เอ บี และซี โดยกลุ่มเอ ได้แก่ สถานีเตาปูน สถานีนนทบุรี 1 และสถานีตลาดบางใหญ่ ส่วนที่เหลือจะเป็นสถานีเกรดบีและซี ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 หมื่นเที่ยวคน/วัน

 

ที่มา : prachachat

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร