เพราะจับทิศทางการเปลี่ยนของโลกธุรกิจที่‘ดิจิทัล’เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ บวกกับความเชื่อ‘ทำก่อนได้เปรียบ แม้เสี่ยงก็ต้องยอม’ทำให้ บมจ.แสนสิริเดินหน้าก้าวสู่ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ตั้งแต่ปี 2552 ในยุคที่เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องแปลกและใหม่สำหรับประเทศไทย
“มันเป็นดีเอ็นเอของคนแสนสิริ เราเชื่อในเรื่องอินโนเวชั่น อะไรแปลก อะไรที่ใหม่ ดูแนวโน้มเติบโต เราจะติดตามทันที และของพวกนี้ทำรีเสิร์ชได้ ดูเมืองนอกเกิดอะไรขึ้น อย่างเฟซบุ๊คต่างประเทศฮิตมากในการใช้ทำการตลาด แนวโน้มมา มีข้อมูลให้เห็น ไทยเองก็ไม่หนีไม่จากนี้แน่นอน” อุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) กล่าว
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้แสนสิริ นำโซเชียล มีเดีย อย่างเฟซบุ๊ค มาเป็นเครื่องมือทำการตลาดในปี 2552 ช่วงที่คนไทยเพิ่งเริ่มรู้จักกับเฟซบุ๊ค ด้วยการใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า คอยอัพเดทข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ผู้ติดตามได้รับรู้ถึงเรื่องราว ความเป็นไปของแบรนด์ได้ตลอดเวลา
ก่อนจะพัฒนามาใช้ในการขาย กับโครงการเดอะไลน์ อโศก – รัชดา ด้วยการให้ Influencer ด้านอสังหาริมทรัพย์มาเฟซบุ๊ค ไลฟ์ นำเสนอจุดขายของโครงการติดต่อกัน 4 วันก่อนเปิดจอง ซึ่ง อุทัยบอกว่า เป็นแคมเปญที่ประสบความสำเร็จทั้งกระแสการพูดถึงและด้านยอดขาย
เมื่อก้าวแรกเห็นผลว่า เวิร์ค แสนสิริ จึงขยายการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง สู่รูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น ผ่านโซเชียล มีเดีย อย่างTwitter ,Instagram ,Youtube,และ Pinterestตลอดจนได้เปิดให้บริการจองห้องทางช่องทางออนไลน์ หรือ อี-บุ๊คกิ้ง ประเดิมใช้กับโครงการแรก คือ เดอะเบส เพชรเกษม และจะนำไปใช้ในอีกหลายโครงการ
ส่วนทิศทางการพัฒนาต่อจากนี้ ทาง อุทัยกล่าวว่า จะมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้แกนหลัก คือ การสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันการเติบโตให้กับบริษัท ทั้งเรื่องแบรนด์และยอดขาย
“การทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งของเรา คอนเซปต์ ก็คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าพึงพอใจเรา ชอบแบรนด์เรา อยู่กับเรานาน ๆ สุดท้ายก็กลับมาเรื่องยอดขาย และเรามองเรื่องนี้เป็นภาพใหญ่ ส่วนโซเชียล มีเดีย เป็นส่วนเสริมและเป็นส่วนหนึ่งในนั้น หน้าที่หลัก คือ เป็นช่องทางสื่อสารและเข้าถึงลูกค้า”
สำหรับพระเอกในปีนี้ ยังคงเป็น เฟซบุ๊ค โดยหลังจาก เฟซบุ๊ค แฟนเพจ ของแสนสิริ มียอดกดไลค์ในไทย1 ล้านไลค์แล้ว เพื่อให้ตอบโจทย์แผนธุรกิจที่วางไว้ ในการขยายกลุ่มลูกค้าต่างประเทศให้มากขึ้น ในปีนี้จึงได้มีการเปิดเฟซบุ๊ค แฟนเพจ 4 เวอร์ชั่น สำหรับฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และ International ส่วนในจีน อีกหนึ่งประเทศเป้าหมายสำคัญ จะใช้โซเชียล ที่ได้รับความนิยมในจีน อย่าง วีแชท เว๋ยป๋อ มาเป็นช่องทางในการเข้าถึง
พร้อมกับเปิดตัวเว็บไซต์ International อย่างเต็มรูปแบบใน 5 ภาษา คือ อังกฤษ จีนกลาง จีนกวางตุ้ง ญี่ปุ่น และรัสเซีย
เป้าหมาย ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลก 1,000 ล้านคน ภายใน 5 ปี
ไม่เพียงช่องทางออนไลน์เท่านั้น แสนสิริ ยังได้มีการพัฒนาเครื่องมืออีกหลายตัวเข้ามาเพิ่มความแข็งแกร่งในเรื่องนี้ให้กับองค์กร อาทิ การพัฒนาHome Service Application ไปสู่ Home Automation เช่น การสั่งให้เปิดไฟ-เปิดแอร์ ก่อนที่ลูกค้าจะถึงบ้าน ผ่านแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้น เป็นต้น
“มีหลายเรื่องอยู่ในเรดาร์เรา ที่กำลังศึกษาอยู่ การที่เราทำก่อน อาจทำให้มีต้นทุนสูงกว่า แต่เมื่อเวลามาถึง เราเดินหน้าลุยได้เลย ขณะที่คนอื่นเพิ่งเริ่มต้น แต่เราก็ดูว่า อะไรที่ช้า เราก็ผ่อน อะไรที่เร็ว เราก็เร่ง เช่น 3-4 ปีก่อน เราทำเรื่อง Geotaggingเมื่อคนใกล้โครงการ จะมีการพอยด์ทิศทางบอก เหมือนเล่นโปเกมอน แต่คนไทยไม่นิยมใช้ เราก็ถอย ส่วนเฟซบุ๊คแรง เราก็ลุยเต็มที่”
อย่างไรก็ตาม แม้ดิจิทัล มีเดีย จะเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงประสิทธิภาพ ในการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและในจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถลงลึกในรายละเอียดได้แบบรายบุคคล
ขณะเดียวกันการใช้สื่อดังกล่าวก็ต้องระมัดระวังในหลายเรื่องเช่นกัน
อุทัย บอกว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนทำหน้าที่เป็นสื่อ และมี ‘นักเลงคีย์บอร์ด’ อยู่เป็นจำนวนมากในโลกออนไลน์ ดังนั้น ยิ่งองค์กรใดใช้สื่อดังกล่าวมาก ยิ่งตกเป็นเป้าใหญ่ การรับมือ จึงจำเป็นต้องมีทีมงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะแบบ 24 ชั่วโมง
โดยหลักการคือ เมื่อมีการโพสต์เกิดขึ้น ต้องมีการ feed back ภายใน 1 ชั่วโมงทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ประเด็นขยายออกไปไกลจนเกินควบคุม
ส่วนการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ เป็นอีกประเด็นที่ต้องคำนึงถึง เพราะการลงทุนในเรื่องดิจิทัล ไม่ใช่ถูกๆ ซึ่งแสนสิริกำหนดตัวชี้วัดไว้ 2 เรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องแรก จำนวนยอดการกด ‘ติดตาม’และ‘ไลค์’ เรื่องที่สอง การเปลี่ยนจากผู้ติดตามและกดไลค์ มาเป็นลูกค้า โดยปัจจุบันเป็นดัชนีในการวัดความสำเร็จที่ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“ตอนนี้ออนไลน์ เป็นช่องทางแรกที่เข้ามาแล้วสามารถปิดการขายได้ 20-30% อนาคตผมเชื่อว่า จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นไปถึง 70-80% ส่วนช่องทางเดิมจะลดบทบาทลง และอย่างที่บอกการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี เรื่องดิจิทัล ไม่ใช่ถูกๆ เราจึงจำเป็นต้องวัดผลในเรื่องนี้เข้มงวดมากกว่าเดิม”
สุดท้าย คือ ต้องตื่นตัว จับตามองและศึกษาแนวโน้มของโลกอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพื่อสร้างความพร้อมให้สามารถรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุค Digital Transformation
ทั้งนี้ เทคโนโลยีในโลกดิจิทัลที่แสนสิริให้ความสนใจและกำลังศึกษาอยู่ อาทิ เทคโนโลยี “AI” (Artificial Intelligence) หรือรู้จักในภาษาไทยว่า “ปัญญาประดิษฐ์” โดยChatbot การตอบแบบอัตโนมัติ เป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจในการนำมาใช้เพื่อให้บริการได้ดียิ่งขึ้น
รวมไปถึง “VR” (Virtual Reality) เทคโนโลยีโลกจำลองเสมือนจริง และ “Blockchain” เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยนำมาซึ่งความปลอดภัย น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องอาศัยคนกลางเวลาทำธุรกรรม ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวปัจจุบันได้เริ่มนำมาใช้ในฟินเทค (FinTech)แล้ว
“มันเหมือนสึนามิ ถ้าเราต่อเรือรอไว้ก่อน เมื่อสึนามีมา แทนที่จะรอคอยชะตากรรม เราสามารถขับเรือสู้ได้ และเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องการลงทุน เป็นการต้องเสี่ยง ถามว่า กลัวความผิดพลาดหรือไม่ ผมก็กลัว วิธีที่ดีที่สุด คือ การเดินแต่ละก้าว ต้องมีการวิเคราะห์ศึกษาให้มั่นใจ แต่บางเรื่องต้องมีผิดพลาด ไม่มีอะไรที่ลงทุนไป 100 แล้ว กลับมา 100 หรอก แต่เราเห็นอยู่แล้วว่า ต้องมา ไม่ทำวันนี้ แล้วจะทำวันไหน”
ที่มา: bangkokbiznews