Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ต่อเติมหลังบ้าน ไม่ใช่เรื่องยากถ้าอ่านบทความนี้

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

ทำไมต้องต่อเติมหลังบ้าน ก็เพราะว่าสำหรับบางท่านเมื่อได้ก่อสร้างบ้านเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งเริ่มมีการนำเข้าของเครื่องใช้เข้ามามากขึ้น ทำให้รู้สึกว่า พื้นที่บ้านน้อยลง มีความต้องการที่จะต่อเติม การต่อเติมหลังบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้บ้านของท่านมีพื้นที่ใช้สอยมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้เรามีเคล็ดลับและ 8 ขั้นตอนดีๆ ที่จะช่วยในการต่อเติมหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ

1. ทำไมต้องต่อเติมหลังบ้าน?

เริ่มต้นกันที่การตั้งคำถามทำไมท่านต้องต่อเติมบ้าน เพื่อประโยชน์ใด ซึ่งเราได้ยกตัวอย่างประโยชน์การต่อเติมหลังบ้านมา ดังนี้ 

  • มีมุมใช้สอยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น สระว่ายน้ำ พื้นที่ออกกำลังกาย ห้องทานข้าว ชานบ้านและมินิบาร์ เป็นต้น 
  • เพิ่มพื้นที่ในการวางหรือเก็บของให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะทำการบิวท์อินหรือสร้างชั้นลอย โดยทำการเลือกวัสดุตกแต่ง หรือออกแบบให้มีพื้นที่มากขึ้นในการจัดเก็บสิ่งของต่างๆ 
  • เพิ่มความสวยงามให้กับบ้าน เพราะสำหรับบ้านบางหลังอาจจะมีการปล่อยพื้นที่ด้านหลังบ้านให้รกร้าง ดูไม่น่ามอง เมื่อมีการต่อเติมจะช่วยเพิ่มความสวยงาม และดูสดใหม่ ตามสไตล์การออกแบบหรือการตกแต่ง 

ประโยชน์

2. ปรึกษาวิศวกรก่อนต่อเติมหลังบ้าน

การปรึกษาวิศวกรจะช่วยในการตรวจสอบโครงสร้างและรากฐานเดิมว่าสามารถรับน้ำหนักได้หรือไม่และเพื่อก่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้พักอาศัยมากยิ่งขึ้น โดยหน้าที่ส่วนใหญ่ของวิศวกร คือ คำนวณและตรวจสอบ ตลอดจนการวางแผนต่างๆ ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ ขนาดของเสาเข็ม สภาพพื้นที่ และภาระการรับน้ำหนัก เป็นต้น  เราพบว่าหลายบ้านที่ไม่ได้มีการปรึกษาวิศวกร เมื่อเวลาผ่านไป จะพบว่าบ้านมีรอยแตก รอยร้าว มีการทรุดตัวลง หรือฝนตกแล้วน้ำรั่วซึมลงมา ดังนั้น ก่อนจะต่อเติมบ้านควรปรึกษาวิศวกร เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายของตัวบ้านตามมาในภายหลัง 

ปรึกษาวิศวกร

3. ขออนุญาตให้ถูกต้อง

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเมื่อมีการก่อสร้างจะต้องขออนุญาตกับหน่วยงานราชการก่อนทุกครั้ง ซึ่งวิธีการขออนุญาตก็ไม่ได้ยุ่งยาก ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

  • ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างที่สำนักงานเขตท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ 
  • สำนักงานเขตท้องถิ่นจะทำการตรวจสอบแปลน ซึ่งก็มักจะดูกฎหมายว่าด้วยเรื่องการก่อสร้างหรือกฎหมายผังเมืองบ้านหรืออาคาร 
  • หลังจากนั้นถ้าตรวจสอบผ่านแล้ว จะได้รับหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้าง
  • เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ควรทำสำเนาเก็บไว้ เพื่อป้องกันการสูญหาย 

เพียงแค่นี้ก็เป็นอันแล้วเสร็จขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอย่างถูกต้อง 

ขออนุญาตให้ถูกต้อง

4. แยกโครงสร้าง

เรามักจะพบปัญหาเมื่อมีการต่อเติมบ้านนั้นก็คือตัวโครงสร้างเก่ากับโครงสร้างอันใหม่ที่จะต่อเติม ซึ่งก่อนจะต่อเติม ควรทำการตรวจสอบโครงสร้างเดิมก่อน เพราะมักจะใช้เสาเข็มขนาดที่เล็กกว่าหรือสั้นกว่าตัวเก่า จึงก่อให้เกิดการทรุดตัวที่แตกต่างกัน เกิดรอยต่อระหว่างอาคารแยกออกจากกันได้ นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้น้ำฝนรั่วซึม ผนังร้าวหรือเกิดรอยแตกตามมาได้ ดังนั้น หากท่านต้องการที่จะต่อเติมบ้าน ท่านควรจะจะแยกโครงสร้างใหม่ออกจากโครงสร้างอันเดิมอย่างเด็ดขาด   

แยกโครงสร้าง

5. เลือกวัสดุในการต่อเติมหลังบ้าน

  • ฐานราก แนะนำให้เลือกใช้ เสาเข็มไมโครไพล์ ซึ่งวัสดุที่เหมาะสำหรับการต่อเติมในพื้นที่แคบหรือพื้นที่ที่มีขนาดเล็กได้ดี ใช้งานกับปั้นจั่นที่มีขนาดประมาณ 3 เมตรได้  ซึ่งทำงานได้ค่อนข้างสบาย เพราะสามารถตัดท่อนได้ แม้กระทั่งในกรณีที่รื้อถอนเมื่อบ้านทรุดตัว 
  • โครงสร้าง แนะนำให้ใช้เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา เพื่อช่วยลดภาระการรับน้ำหนัก เช่น โครงสร้างเหล็ก ระบบเคาน์เตอร์อิฐมวล หรือการใช้ผนังเบา เป็นต้น 
  • หลังคา ให้เน้นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาเช่นเดียวกัน เพื่อช่วยลดภาระให้กับโครงสร้าง   เช่น หลังคาชนิด PVC, uPVC, Fiberglass หรือ Polycarbonate เป็นต้น 

วัสดุ

6. อุปกรณ์และเครื่องใช้

เมื่อท่านต้องการต่อเติมพื้นที่ด้านหลังบ้านเป็นห้องครัว ซึ่งภายในห้องครัวนั้น จะประกอบด้วย โต๊ะ ตู้เย็น ชั้นวาง เตาแก๊ส เครื่องดูดควัน และเคาน์เตอร์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นรายการอุปกรณ์อุปกรณ์และเครื่องใช้ที่ต้องการที่นำมาเพื่อใช้งาน แต่ทราบหรือไม่ว่า รายการอุปกรณ์เหล่านี้เป็นตัวช่วยที่ดีของวิศวกร ที่จะนำมาคำนวณน้ำหนักของตัวบ้าน เพื่อกำหนดเสาเข็มและรากฐานในการรับน้ำหนักของตัวบ้าน ดังนั้น ท่านควรทำรายการอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่าง ๆ ไว้เพื่อช่วยให้การทำงานของวิศวกรนั้นง่ายขึ้น และสามารถรับน้ำหนักได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย 

อุปกรณ์และเครื่องใช้

7. งบประมาณในการต่อเติมหลังบ้าน

เมื่อทราบถึงรายละเอียดต่างๆ กัน ไปแล้ว สิ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึง ก็คงเป็นเรื่อง ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ เลยทีเดียว ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นก่อสร้างควรตั้งงบประมาณไว้คร่าวๆ และเลือกผู้รับเหมา โดยทำการเรียกผู้รับเหมาที่ท่านสนใจมาประมาณ 3-5 ราย เพื่อให้ผู้รับเหมาแต่ละเจ้าได้ทำเสนอราคาและแนวคิดในการออกแบบเบื้องต้น เพื่อช่วยประกอบการพิจารณาและให้ท่านได้เลือกตามราคาและความเหมาะสมนั่นเอง 

งบประมาณ

8. ตรวจงาน

เมื่อบ้านส่วนที่ต่อเติมได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลายท่านอาจจะคิดว่าไปใช้งานได้เลยทันที แต่แท้จริงแล้ว ท่านควรจะตรวจรับงานเพื่อดูความเรียบร้อยของบ้านอีกครั้ง ซึ่งควรจะดูอะไรบ้าง เราก็มีรายละเอียดมาฝากท่าน ดังนี้

  1. ตรวจดูว่าผนังเรียบร้อยหรือไม่ ซึ่งอาจจะใช้วิธีง่าย ๆ นั้นก็คือใช้มือไล่ไปตามผนัง ซึ่งจะต้องเรียบ ไม่ขรุขระ โป่งนูน หรือเป็นหลุม 
  2. สำหรับประตู ให้ทำการเปิด-ปิดดูว่า ลงล็อกหรือไม่ และอาจจะปิดไฟหรือม่านเพื่อตรวจสอบดูว่าประตูนั้นมีแสงลอดผ่านหรือไม่ ถ้าใช่ แสดงว่าประตูมีการทรุดตัว 
  3. ต่อมาเป็นการตรวจสอบพื้น สำหรับพื้นที่ปูกระเบื้องให้ทำการถอดรองเท้า แล้วนำเท้าลากผ่านกระเบื้องเพื่อสัมผัสว่าปูพื้นได้เรียบหรือไม่  หรืออาจจะใช้เหรียญเคาะเพื่อฟังเสียงว่าปูได้แน่นหรือไม่ นอกจากนี้ก็นำใช้ลูกแก้ววางไว้จุดต่าง ๆ เพื่อสังเกตดูว่ามีลูกแก้วไหลหรือไม่ ถ้าไหลแสดงว่าพื้นลาดเอียง 
  4. ตรวจสอบไฟฟ้า เปิดไฟทุกดวงเพื่อตรวจดูว่ามีไฟดวงใดไม่ติด จากนั้นใช้ไขควงจิ้มที่นอตปลั๊กไฟเพื่อตรวจสอบว่ามีไฟรั่วหรือไม่
  5. ตรวจสอบน้ำประปา ให้ทำการเปิด-ปิดก็อก เพื่อดูการไหลของน้ำ ว่าไหลแรงสม่ำเสมอกันหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบดูมิเตอร์น้ำ
  6. ท่อระบายน้ำ ทำการตรวจสอบได้ง่ายโดยการเทน้ำและดูการไหล หากมีการไหลลงช้าหรือมีน้ำเจิ่งนองให้ทำการแก้ไขทันที 

ตรวจงาน

ขั้นตอนในการต่อเติมหลังบ้าน ทั้งหมดก็ได้จบลงไปแล้ว ซึ่งท่านก็ได้ทราบถึงข้อมูล ตั้งแต่การเลือกใช้ประโยชน์ การปรึกษาวิศวกร การขออนุญาต การแยกโครงสร้าง การจัดทำรายการอุปกรณ์ การตั้งงบประมาณ และการตรวจรับงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านในการนำไปปรับและประยุกต์ใช้งานจริง  

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร