ชีวิตผมผูกพันกับต้นจามจุรีอย่างมาก ด้วยจามจุรีเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยที่ผมเล่าเรียนและทำงานสอนหนังสือ ชีวิตนิสิตของผมเคยมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับต้นจามจุรีมากมาย เริ่มตั้งแต่ได้รับพวงมาลัยจามจุรีคล้องคอในวันรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัย ใช้ใบจามจุรีโปรยต้อนรับน้องใหม่’ถาปัด
ผมเคยสังเกตดูจามจุรีตอนผลิช่อ ออกดอกและทิ้งใบ ที่บังเอิญไปสอดคล้องกับตารางการศึกษา จนถึงฟังเพลงเกี่ยวกับจามจุรีที่วงดนตรีสุนทราภรณ์ขับร้องไว้อย่างไพเราะและซึ้งใจ โดยเฉพาะตอนลีลาศครั้งแรกกับเพื่อนผู้หญิง
ชีวิตอาจารย์ของผมมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับจามจุรีอีกมากมายเช่นกัน มีทั้งใช้ต้นจามจุรีเป็นแบบฝึกหัดให้นิสิตวาดภาพลายเส้นลงสีน้ำ ไปจนถึงจัดกิจกรรมจุฬาฯ 80 ปี ปลูกจามจุรี 80 ต้นในงานฉลองการสถาปนามหาวิทยาลัย ชีวิตผมจึงผูกพันกับต้นจามจุรีตลอดมา
ที่จริงผมรู้จักต้นจามจุรีมาตั้งแต่ก่อนที่จะไปเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เพราะสมัยที่เรียนอยู่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่นั้น แม้ไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับต้นหรือใบจามจุรี อีกทั้งจามจุรีก็ไม่ได้เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียน ทว่าภายในบริเวณโรงเรียนมีต้นจามจุรีมากมาย แต่มีจามจุรียักษ์ต้นหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าต้นจามจุรีทุกต้นในโรงเรียน รวมทั้งในจุฬาฯ พุ่มใบนั้นแผ่กว้างใหญ่เกือบเท่ากับสนามฟุตบอล
ชีวิตผมจึงนับได้ว่าอยู่ใต้ร่มจามจุรีตลอดมา เพียงแต่คนเชียงใหม่ไม่ได้เรียกขานว่าจามจุรี หากใช้คำว่า “ฉำฉา” ที่น่าจะแปรเปลี่ยนมาจากชื่อพื้นถิ่นภาคเหนือสองคำ คือ “สำสา” และ “ฉำเฉา”
อย่างไรก็ตามทั้งจามจุรีของคนภาคกลาง และฉำฉาของคนภาคเหนือก็ไม่ใช่ไม้พื้นถิ่นของบ้านเรา เพราะพันธุ์ไม้ต่างถิ่นที่มาไกลจากอเมริกากลาง แต่ด้วยเมืองไทยมีสภาพแวดล้อมร้อนชื้นคล้ายกัน จามจุรีจึงปลูกง่าย โตเร็วและแข็งแรง มีผู้คนนำไปปลูกทั่วประเทศ จนเหมือนเป็นไม้พื้นถิ่นไป
มีเรื่องที่เล่าขานว่าเมื่อปี พ.ศ.2443 Mr. H. Slade ชาวอังกฤษ ผู้เป็นเจ้ากรมป่าไม้คนแรกของสยามประเทศ เป็นผู้นำเมล็ดพันธุ์จากพม่ามาปลูกไว้หน้าที่ทำการป่าไม้เชียงใหม่ บริเวณถนนเจริญประเทศ จากนั้น ต้นฉำฉาคงแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยเป็นพืชพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงครั่ง สินค้าราคาแพงในยุคนั้น
ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันนั้น พ่อครูแฮรีส (Dr. William Harris) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ได้ปลูกต้นจามจุรีไว้ที่หน้าบ้านพัก ซึ่งต่อมาเติบใหญ่กลายเป็นฉำฉายักษ์ในปัจจุบันให้ร่มเงากับนักเรียน และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่นักเรียนเก่าจดจำ
ส่วนจามจุรีที่พบเห็นในจุฬาฯ และในกรุงเทพฯ นั้น มีหลักฐานระบุว่าเมื่อปี พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้พระราชทานเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะ เพื่อนำไปปลูกริมถนนหลายสายในกรุงเทพฯ ซึ่งรวมทั้งถนนพญาไท ในเวลานั้นยังเรียกขานกันว่าต้นกุ้งก้ามกรามตามลักษณะใบ ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนเป็น ต้นก้ามปู และต้นจามจุรีในปัจจุบัน
ลำดับของการเข้ามาเมืองไทยของต้นฉำฉาหรือจามจุรี จึงสอดคล้องกับลำดับที่ผมรู้จักต้นฉำฉาที่โรงเรียนปรินส์รอแยลส์ฯ ก่อนต้นจามจุรีที่จุฬาฯ อย่างบังเอิญ
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20