Baania
Baania
จังหวัด
ประเภทประกาศ
ประเภทอสังหาริมทรัพย์
ราคา

ถนนที่เดินผ่าน อาคารที่มองเห็น "ทุ่งโฮเต็ล"

x
คลิกที่นี่ เพื่อฟังบทความ

สมัยที่ยังเป็นเด็กเล็กนั้นทุ่งโฮเต็ลยังเป็นพื้นที่อันไกลโพ้น ได้ยินแค่ชื่อแต่ไม่เคยไปเยี่ยมเยือน รู้แค่ว่าบ้านเพื่อนบางคนอยู่ไกลถึงทุ่งโฮเต็ล มาเรียนเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า “ทุ่งโฮเต็ล” เป็นชื่อถนนสายหนึ่ง อยู่ทางทิศเหนือของสถานีรถไฟเชียงใหม่

ชื่อถนนนี้ดูจะต่างไปจากถนนสายอื่นๆ ในเชียงใหม่ เพราะไม่ได้เรียกขานตามประวัติบ้านเมือง เช่น เวียงแก้ว กำแพงดิน ท่าแพ ช้างม่อย ช้างเผือก วัวลาย ช้างคลาน ฯลฯ เพราะไม่ได้เรียกขานตามนามเจ้าผู้ครองนคร เช่น วิชยานนท์ แก้วนวรัฐ ฯลฯ เพราะไม่ได้เรียกขานตามชื่อถนนในกรุงเทพฯ เช่น เจริญประเทศ เจริญราษฎร์ ราชดำเนิน ราชวิถี ราชมรรคา สุริยวงศ์ ฯลฯ

หากชื่อ “ทุ่งโฮเต็ล” มาจากคำไทย คือ “ทุ่ง” ผสมกับคำฝรั่ง “โฮเต็ล” ชื่อถนนนี้เลยแสดงความขัดแย้ง เพราะคำว่าทุ่งทำให้เข้าใจว่าเป็นท้องไร่ท้องนาในชนบท ส่วนคำว่าโฮเต็ลทำให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งก่อสร้างทันสมัยในเมือง แต่ที่จริงคำเรียกขานทุ่งโฮเต็ลกลับสื่อความเป็นมาชัดเจน เพราะเป็นถนนที่เริ่มจากโฮเต็ลรถไฟที่อยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟเชียงใหม่ ผ่านพื้นที่ตอนเหนือของสถานีรถไฟเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานั้นคงเป็นทุ่งนา ไม่ค่อยมีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านเรือน ไปจนถึงถนนแก้วนวรัฐทางทิศเหนือ

โฮเต็ลรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของกิจการรถไฟในสมัยแรกๆ ของสยามประเทศ นอกจากการก่อสร้างทางและเดินรถไฟจากพระนครไปยังหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคแล้ว กรมรถไฟหลวงยังนิยมสร้างโรงแรมติดกับสถานีเพื่อให้บริการผู้โดยสารรถไฟที่เดินทางไปต่างถิ่น ที่เป็นไปตามแบบอย่างของกิจการรถไฟในต่างประเทศ อย่างเช่นโรงแรมราชธานีที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หัวลำโพง และโรงแรมรถไฟหัวหินที่สถานีรถไฟหัวหิน เป็นต้น

ผู้เขียนยังไม่รู้ประวัติความเป็นมาของโฮเต็ลรถไฟเชียงใหม่ แต่เท่าที่จำความได้นั้นโรงแรมรถไฟเชียงใหม่เป็นอาคารหลังใหญ่สูง 4-5 ชั้น เป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียง เพราะนอกจากผู้โดยสารรถไฟจากต่างถิ่นจะเลือกเป็นที่พักแรมระหว่างที่ทำงานหรือท่องเที่ยวในเชียงใหม่แล้ว คนเชียงใหม่ก็ยังนิยมไปใช้บริการห้องอาหารและห้องประชุมเพราะความหรูหราทันสมัยด้วย

อย่างไรก็ตามกิจการโรงแรมค่อยๆ เสื่อมถอยลง พร้อมกับความนิยมในการเดินทางโดยรถไฟ ประกอบกับมีการก่อสร้างโรงแรมใหม่ขึ้นมาอีกมากมาย ได้แก่ โรงแรมพรพิงค์ (เก่า), โรงแรมเชียงอินทร์ (DusitD2), โรงแรมรินคำ (อมารีรินคำ), โรงแรมศรีโตเกียว, ปรินซ์ โฮเต็ล, โรงแรมสุริวงศ์ เป็นต้น การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงเลิกกิจการโรงแรมไปในที่สุด

อาคารถูกปล่อยร้างการใช้สอยจนทรุดโทรม และต่อมาถูกรื้อทิ้งเพื่อสร้างศูนย์การค้าที่ดูเหมือนว่าไม่ประสบความสำเร็จ การก่อสร้างค้างคาอยู่นานก่อนที่จะมาเป็นสวนสาธารณะในปัจจุบัน ขณะเดียวกันบริเวณที่เคยเป็นทุ่งนาทางทิศเหนือโรงแรมมีการก่อตั้งที่ทำการชลประทานเชียงใหม่และอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนพื้นที่เหนือขึ้นไปนั้นมีผู้คนสร้างบ้านเรือนต่อเนื่องไปจนถึงถนนแก้วนวรัฐ และสถานีรถโดยสารเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าเชียงใหม่อาเขต

ทุกวันนี้ทั้งทุ่งและโฮเต็ลเลือนหายไปจากภาพลักษณ์ของเชียงใหม่ ทิ้งไว้แต่ชื่อทุ่งโฮเต็ลให้ผู้คนสงสัยเท่านั้น

 

ผู้เขียน  :  ปริญญา  ตรีน้อยใส

นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต  จุลาสัย

เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996

เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20

ประกาศยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร

โครงการยอดนิยม ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร