ใครที่ผ่านไปมาบนถนนห้วยแก้ว จะคุ้นตากับบ้านพักอาศัยหลังหนึ่ง เป็นบ้านชั้นเดียวหลังไม่ใหญ่นัก แต่ทว่าพื้นที่โดยรอบนั้นใหญ่โต มีสนามหญ้ากว้างหน้าบ้าน มีรั้วไม้สีขาว แบบเดียวกับรั้วคอกม้าฝรั่งที่เห็นกันในภาพยนตร์ยาวเป็นร้อยเมตร และที่สำคัญมีต้นไม้ใหญ่แผ่พุ่มใบแน่นเป็นฉากหลังของบ้าน
ใครที่ผ่านไปมาหน้า "บ้านมัณฑนา" จะถือโอกาสชื่นชมความงาม หลายคนแวะถ่ายรูปหลายคนใช้เป็นจุดหมายตาหรือจุดอ้างอิงที่สำคัญ ด้วยบ้านหลังเล็ก บนสนามหญ้ากว้างโอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ ไม่เคยเปลี่ยนสภาพตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
ผมพอจะรู้จักเจ้าของบ้านที่ใช้ชื่อตนเองมาเป็นชื่อบ้าน เธอเคยเป็นนักธุรกิจหญิงเจ้าของกิจการร้านวัสดุก่อสร้างที่ใหญ่โตในอดีต เธอมีรูปร่างสูงใหญ่ สวยงามราวกับดาราในภาพยนตร์ฝรั่ง ที่สำคัญเธอเป็นคนทันสมัยมีความรู้ทางด้านธุรกิจ ที่ผมทึ่งในความสามารถเสมอมา
เมื่อผมเข้าเรียนสถาปัตย์ จึงได้รู้ว่าบ้านหลังเล็กหลังนี้ รูปทรงเป็นไปตามยุคสมัยในอดีตที่แปลกต่างไปจากบ้านในปัจจุบัน เป็นบ้านแบบนวยุคหรือโมเดิร์น ที่เน้นความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา โดยไม่มีลวดบัวหรือสิ่งตกแต่งใด แม้แต่สีก็แค่สีขาวเทาเท่านั้น
สำหรับสวนหรือสนามหน้าบ้านนั้น ไม่รู้จะเรียกขานว่าแบบอะไร เพราะไม่เหมือนสวนอื่นที่ออกแบบโดยภูมิสถาปนิก ที่ส่วนใหญ่จะปลูกต้นไม้ไม่กี่ชนิด จะตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้พุ่ม อย่างละนิดอย่างละหน่อยระเกะระกะไปทั่ว จะมีโขดหิน ศาลาไม้ รูปปั้นปูน มีสระน้ำ สระบัว หรือน้ำพุ จะมีต้นลั่นทม ปาล์มน้ำมัน หูกระจง ที่ไม่แผ่พุ่มใบหรือให้ความรู้สึกชุ่มฉ่ำ จะมีไม้ล้อมขนาดใหญ่ ที่สภาพไม่สมบูรณ์ มักจะล้มเวลาลมพัดแรง สำหรับบ้านหลังนี้ สนามหญ้าก็คือสนามหญ้าไม่มีอะไรอื่น จึงมักจะเห็นวัวแทะเล็มหญ้าอยู่เป็นประจำ บางฤดูกาลจะมีแปลงดอกไม้ชนิดเดียวปลูกเป็นแถวเป็นกลุ่มใหญ่สวยงาม โดยเฉพาะดอกดาวเรืองในวันพ่อแห่งชาติ
เมื่อรั้วไม่ได้เป็นกำแพงหินอ่อนหนา ไม่ได้เป็นเหล็กดัดหรือเหล็กหล่ออลังการ ไม่ได้เป็นกำแพงก่ออิฐสูงราวป้อมปราการ หากเป็นรั้วไม้โปร่งเตี้ยๆ จึงเท่ากับเชื้อเชิญให้ผู้ที่ผ่านไปมาสัมผัสความงาม ด้วยเจ้าของบ้านไม่ได้มีอะไรต้องปิด และไม่เกรงว่าใครจะบุกรุก(เพราะถ้าบุกรุกก็จะเห็นชัดเจน) ที่สวยงามสุดๆ คือ ต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกเป็นฉากหลังล้วนเป็นไม้พื้นถิ่นอย่างต้นทองกราวที่จะออกดอกสีแสดในฤดูหนาว ต้นขี้เหล็กที่จะออกดอกสีเหลืองสะพรั่งตามฤดูกาล ต้นสักที่สูงตระหง่านพุ่มใบใหญ่เขียวขจี ต้นจามจุรีที่แผ่พุ่มใบกว้างใหญ่ และต้นไม้ป่าอื่นๆที่อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ เมื่อเจ้าของบ้านปลูกมานาน ทุกต้นจึงสูงใหญ่ สวยงามน่าเกรงขาม ต่างไปจากหมู่บ้านต่างๆที่นิยมต้นไม้ที่ย้ายมาปลูก มักจะไม่โต ไม่ตาย ไม่น่าดู ไม่สวยงาม
สำหรับผม บ้านมัณฑนาจึงเป็นแนวทางในการออกแบบ เป็นแรงจูงใจทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และมีส่วนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสถาปัตยกรรมภูมิสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อมเสียดายว่าชาวเชียงใหม่ ทั้งเทศบาล สถาปนิกล้านนา และผู้คนทั่วไปที่ผ่านบ้านมัณฑนาอยู่เสมอ เพียงแค่คุ้นตากับสภาพที่เป็นอยู่ แต่ไม่ทันได้คิดได้เข้าใจ อีกทั้งเผลอหลงตามกระแสที่เห็นจากบ้านอื่นเมืองอื่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ หรือนิตยสารประเภทบ้านหรือสวน ชื่นชมบ้านแบบฝรั่งที่ตกแต่งเลอะเทอะ หรือบ้านตามกระแสโย้เย้บิดเบี้ยว อีกทั้งพอใจกับไม้ดัด ไม้ดอก ไม้ล้อม ที่ซ้ำซาก ไม่สวยงาม
อยากให้คิดดูว่า ถ้าทั่วทั้งเมืองเชียงใหม่ มีสภาพเช่นบ้านมัณฑนา เชียงใหม่จะสวยงามแปลกตาเพียงใด คงจะดึงดูดให้ผู้คนมาชื่นชม มาถ่ายรูป เหมือนที่ชื่นชมบ้านมัณฑนาในทุกวันนี้
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20