ชีวิตผมนอกจากบ้านหรือที่จริงร้านขายของแล้วก็มี “บ้านใต้” อีกแห่งที่แวะเวียนไปมาอยู่เสมอ เพราะบ้านใต้คือบ้านยาย อยู่บนถนนวิชยานนท์ ตรงปากซอยไปรษณีย์ ด้วยทำเลอยู่ทางทิศใต้ของร้านเราจึงเรียกขานกันง่ายๆ ว่าบ้านใต้
ตอนเป็นเด็กนั้นผมเคยสงสัยว่ามีบ้านใต้แล้วทำไมไม่มีบ้านเหนือ ซึ่งต่อมาแม่ช่วยไขข้อข้องใจว่าเดิมทีก็มีบ้านเหนือ ซึ่งหมายถึงบ้านปู่ ที่อยู่ทางทิศเหนือของร้าน แต่ทว่าทั้งปู่และบ้านปู่มลายหายไปก่อนผมเกิด ผมเลยไม่มีโอกาสรู้จักบ้านเหนือ รู้จักแต่บ้านใต้เท่านั้น
บ้านใต้ของยาย ซึ่งที่จริงเป็นบ้านของยายทวด เป็นเรือนไม้สักสองชั้นสองหลังติดกัน หลังที่ด้านหน้าติดถนนวิชยานนท์ชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายของ ส่วนชั้นบนเป็นที่นอนของน้า
หลังที่สองอยู่ด้านหลัง ชั้นบนเป็นห้องนอนของน้าเช่นกัน ส่วนชั้นล่างเดิมเป็นที่นอนของยายทวดและเป็นที่นั่งเล่น หลังจากยายทวดเสียเลยเป็นที่นั่งเล่นอย่างเดียว มีชานไม้เชื่อมสองเรือนเข้าด้วยกัน บนชานเคยเปิดโล่ง ปลูกไม้กระถางบ้าง ตากผ้าบ้าง ต่อมาน้ามุงหลังคาเพิ่ม เพื่อไม่ให้ชานไม้เปียกน้ำเวลาฝนตก ส่วนพื้นที่ใต้ชานนั้นเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ ใช้ทั้งรับแขก นั่งเล่นนอนเล่น ทำงาน และทำครัว
จะว่าไปแล้วบ้านใต้ก็คล้ายกับเรือนไทยที่ผมเคยท่องตามตำรา หรือเหมือนเรือนไทยที่ปัจจุบันนิยมสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมทั่วประเทศ เพียงแต่ว่ารูปทรงของเรือนทั้งสองหลังของบ้านใต้นั้นต่างออกไป หลังคาเป็นแบบปั้นหยาไม่ใช่จั่ว เลยไม่มีปั้นลมเหมือนบ้านไทยที่เห็นทั่วไป รูปร่างก็ไม่ผอมยาว หากกว้างยาวตามขนาดที่ดิน รูปทรงดูคล้ายตึกแถวมากกว่า
เมื่อผมเข้าเรียนสถาปัตย์ที่จุฬาฯ แม้ไม่ได้อยู่ในชนบทที่พอจะมีเรือนไทยพื้นบ้านเหลืออยู่บ้าง เพราะอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อคุ้นเคยกับบ้านใต้มาก่อนเลยช่วยให้เข้าใจตำราเรือนไทยง่ายขึ้น
สิ่งที่ผมจำติดหูติดตามาจนทุกวันนี้คงจะเป็นพื้นไม้สักที่ไม้กระดานแต่ละแผ่นกว้างเท่าศอก และยาวเต็มห้อง เหมือนเป็นประจักษ์พยานให้รู้ว่าเชียงใหม่ในอดีตอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้สักจริงๆ ยิ่งเวลาที่ผ่านไปนานหลายปีมีบรรดาน้าเช็ดถูอยู่เสมอ พื้นไม้จึงเรียบลื่นเงางาม เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการนอนกลิ้งไปมาและนอนหลับฝันดี
ยังมีกระจกเงาแบบโบราณทั้งตัวกระจกที่เก่าหมองและกรอบไม้แกะสลักสีทองเหมือนที่เห็นตามปราสาทชาโตว์ในฝรั่งเศส ที่สำคัญมีขนาดใหญ่มาก แบบว่ามองเห็นผมตอนยังตัวเล็กเต็มทั้งตัว เสียดายที่ผมมารับรู้ภายหลังว่ามณีจันทร์ก็ใช้กระจกเงาแบบเดียวกันเป็นทางเข้าออกอดีตภพ มิเช่นนั้นผมคงได้อาศัยกระจกเงาโบราณบ้านใต้ท่องเที่ยวไปในอดีต มีข้อมูลมาเขียนหนังสือได้อีกหลายเรื่อง (ฮา)
บ้านใต้จะมีอายุครบร้อยปีเร็วๆ นี้ เพราะแม่บอกว่ายายทวดเป็นคนสร้างบ้านหลังนี้เมื่อปี พ.ศ.2460 โดยมีสล่าก้อนเป็นผู้รับจ้าง ในราคาสองพันแปดร้อยบาท ซึ่งแม่ย้ำนักย้ำหนาว่าจำนวนเงินที่ว่าแม้จะดูน้อยนิดในปีปัจจุบัน แต่ดูจะมากสำหรับยายทวดทั้งๆ ที่พอสร้างได้แค่ตัวบ้านเท่านั้น ยายยังจำใจขายกำไลทองที่ใส่ประจำเป็นค่าติดตั้งดวงโคมไฟฟ้าอีกห้าดวง ในราคาสามสิบบาท
หลังจากแม่ออกเรือนมาอยู่ที่ร้านกับพ่อ ยายทวด ยาย และน้าสาวอีกสามคนยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านใต้เรื่อยมา เป็นเหตุให้พวกเราแวะเวียนไปหาเป็นประจำเกือบจะทุกวัน
แม้จะก่อสร้างด้วยไม้ แต่เมื่อเป็นไม้สักชั้นดี อีกทั้งน้าคอยซ่อมแซมดูแลอยู่เสมอ บ้านใต้เลยคงสภาพมั่นคงแข็งแรงตลอดมา ต่อมาเทศบาลออกข้อบัญญัติให้อาคารที่จะสร้างใหม่ริมถนนวิชยานนท์ต้องถอยร่น เลยเป็นเหตุให้รื้อบ้านใต้ไม่ได้ เพราะจะเหลือที่ดินปลูกสร้างน้อยมาก บังเอิญผมเป็นอาจารย์สอนทางด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพอดี จึงแนะให้น้าเก็บรักษาเรือนไม้หลังหน้าไว้ รื้อทิ้งเฉพาะเรือนใน สร้างอาคารก่ออิฐถือปูนสูงสองชั้นแทน (เพราะไม่ต้องถอยร่น) บ้านใต้ใหม่จึงประกอบด้วยหลังหน้าริมถนนเป็นอาคารไม้โบราณ ส่วนหลังในเป็นตึกสมัยใหม่ นอกจากน้าจะได้อยู่แบบสบายทันสมัยแล้ว ยังได้ชื่อเสียงด้านคุณงามความดีที่ช่วยรักษามรดกของบ้านเมือง ซึ่งน่าจะได้รางวัลนักอนุรักษ์ หรือรางวัลสังข์เงินในฐานะผู้ทำความดีให้กับสังคม (ฮา)
ทุกวันนี้จึงมีเรือนไม้หลังเล็กๆ ปรากฏอยู่ใกล้ตลาดวโรรสและต้นลำไย ผมเคยเสนอให้น้าเปิดกิจการร้านกาแฟตามกระแส โชคดีน้าไม่คล้อยตามด้วยเหตุผลไม่อยากวุ่นวาย
เมื่อคิดเลิกขายตะกร้าหวายและเครื่องใช้ไม้ไผ่ที่เป็นกิจการดั้งเดิม ก็มีคนขอซื้อบ้านใต้ในราคาปัจจุบัน น้าก็เลยสบายเพราะราคาที่ขายไปนั้นมากกว่าที่ยายทวดซื้อและสร้างบ้านไม่มากเท่าไหร่ เกือบพันเท่าเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้บ้านใต้ยังคงอยู่ รวมทั้งเรื่องราวของบ้านใต้ที่อยู่ในความทรงจำของผมเสมอมา เพราะบ้านใต้ ทำให้ผมรู้และเข้าใจในเรื่องสถาปัตยกรรม เทคนิคและวัสดุก่อสร้าง การตกแต่งภายใน ไปจนถึงผังเมือง รวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการลงทุน!
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20