ต้องย้อนกลับไปตอนพ่อซื้อที่ดินและวางแผนสร้างตึกสามชั้น เพื่อเปิดกิจการค้าต่อไปใน พ.ศ.2499 นั้น เมื่อราคาที่ดินสูงถึงเจ็ดหมื่นบาท ที่ดินอยู่ทำเลดี พ่อจึงว่าจ้างสถาปนิกเทศบาลเป็นผู้ออกแบบ
ผมคงนับคุณทองหยด สุวรรณประทีปเป็นรุ่นพี่ได้ เพราะท่านเรียนจบจุฬาฯ เหมือนกัน เป็นรุ่นเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ น่าจะเป็นสถาปนิกคนแรกหรือยุคแรกของเชียงใหม่ที่อาสามาทำงานในภูมิภาค
รูปแบบอาคารจึงทันสมัย เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด หลังคาเป็นดาดฟ้าคอนกรีตตามสมัยนิยม ยังมีการเจาะช่องระบายอากาศกลางบ้าน ทำให้บ้านนั้นเย็นสบาย โดยผมมารู้เมื่อมาเรียนสถาปัตย์ว่าเป็นการออกแบบ Tropical Architecture หรือสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น ที่เหมาะสมกับอากาศบ้านเรา (ไม่เหมือนอาคารที่ปรากฏอยู่ทั่วไป...ฮา)
บังเอิญพ่อเสียชีวิตกะทันหัน แต่แม่ก็ยังดำเนินการตามแผน ใช้เงินทองที่มีอยู่สร้างอาคารจนแล้วเสร็จตามความฝันของพ่อ แต่ไม่สามารถเปิดกิจการค้าได้ เพราะลำพังกิจการร้านเดิมก็ขาดกำลังคนช่วยเหลืออยู่แล้ว อีกทั้งเงินทองก็หมดไปเป็นค่าก่อสร้าง อาคารหลังใหญ่จึงเป็นเพียงบ้านให้เราอยู่อาศัยกันอย่างเหลือเฟือ
เรื่องนี้คงเป็นเพราะตาส่งแม่เรียนจนจบชั้นประถม ซึ่งในเวลานั้นถ้าเด็กผู้หญิงคิดจะเรียนต่อชั้นมัธยมก็ต้องลงมาเรียนที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยาก
ใน พ.ศ.นั้น แต่เพียงแค่ความรู้ระดับประถมศึกษา แม่ก็มีความสามารถในการฟัง พูดและเขียนได้ทั้งไทยและจีน เพื่อนบ้านหลายคนต้องมาขอให้ช่วยเขียนหรืออ่านจดหมายเมืองจีน เพื่อนบ้านหลายคนมาขอยืมหนังสือพิมพ์และนิตยสารภาษาไทยที่แม่บอกรับเป็นประจำ รวมทั้งทำให้พวกเรากลายเป็นนักอ่านไปทั้งครอบครัว และคงทำให้ผมนั่งเขียนหนังสือในทุกวันนี้
ที่สำคัญแม่ไม่ได้บีบบังคับให้ลูกเลิกเรียนมาช่วยค้าขายเหมือนครอบครัวคนจีนทั่วไป เลยเป็นสาเหตุให้ไม่มีใครในครอบครัวเราได้เป็นเศรษฐี (เหมือนคุณเจริญที่ถูกบังคับให้เลิกเรียน แล้วมาช่วยพ่อแม่ขายหอยทอด...ฮา)
จนกระทั่งเมื่อพี่สาวคนโตเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา แล้วสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ไม่ได้ แม่จึงวางแผนขยายสาขา โดยหวังให้เป็นกิจการของพี่สาวต่อไป
เพื่อให้ทันยุคทันสมัยแม่ตั้งชื่อร้านว่า “ร้านจุฬาภัณฑ์” ที่แผลงมาจากนามสกุลของพวกเรา แต่แม่เกรงว่าถ้าตั้งชื่อตามนามสกุลว่า “จุลาภัณฑ์” เหมือนจะแช่งให้กิจการค้าเล็กน้อยไม่ขยายตัว หรือเหมือนจะประกาศตัวว่าจำหน่ายสินค้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยเท่านั้น แม่เลยแผลง ล เป็น ฬ บังเอิญไปคล้องจองกับชื่อมหาวิทยาลัยชื่อดัง เป็นเหตุให้ลูกๆ ต้องขวนขวายหาทางเข้าเรียนกันเกือบทุกคน
ถ้าร้านแต่ฮกเซ้งเป็นภาคแรกของกิจการค้าของครอบครัวเรา ร้านจุฬาภัณฑ์ก็คือภาคสองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในเวลาต่อมา
หลังจากเปิดกิจการร้านจุฬาภัณฑ์ได้เพียงปีเดียวก็เกิดมหาอัคคีภัยเผาตลาดวโรรสและต้นลำไย ร้านแต่ฮกเซ้งที่วอดวายกลายเป็นเถ้าถ่านนั้นดูจะเป็นวิกฤติสำหรับครอบครัวเรา
แต่ก็เป็นโอกาสทางการค้า เมื่อร้านจุฬาภัณฑ์ที่แม้อยู่ติดกับตลาด แต่ก็รอดพ้นจากไฟไหม้อย่างหวุดหวิด ทุกคนเชื่อว่าเป็นเพราะมีศาลเจ้าคอยคุ้มภัย หลังเหตุการณ์ร้ายร้านค้าในตลาดต่างปิดดำเนินการหรือแม้จะเปิดดำเนินการก็ไม่มีสินค้าจำหน่าย ในขณะที่กิจการร้านจุฬาภัณฑ์สามารถดำเนินการต่อได้ทันที ด้วยเพราะมีสินค้าที่สำรองไว้แล้ว
นอกจากนี้ผลพวงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่รัฐบาลกำหนดให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางความเจริญทางภาคเหนือ ทั้งด้านการค้า การบริหาร และการศึกษา ส่งผลให้จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น บ้านเมืองเจริญพัฒนามากขึ้น และผู้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้กิจการค้าร้านจุฬาภัณฑ์ของแม่คึกคัก ประเภทสินค้าจึงเปลี่ยนไปตามกระแส จากร้านขายสินค้าสารพัด เหลือเพียงเครื่องใช้ไม้สอยประจำบ้านและเครื่องสำอาง คล้ายกับร้านสะดวกซื้อ ร้านวัตสันหรือบูทส์ในปัจจุบัน ซึ่งดูจะสอดคล้องกับสภาพบ้านเมืองและสถานภาพทางเพศของแม่และพี่สาว
เช่นเดียวกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2507 ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน แม้ในระยะแรก จำนวนนักศึกษายังเป็นแค่หลักพัน แต่ก็มากพอสำหรับกิจการค้าของแม่ ด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ ต้องพักอยู่ในหอพัก จึงมีความจำเป็นต้องซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย เกื้อหนุนให้กิจการร้านจุฬาภัณฑ์ของเราคึกคักตามไปด้วย
ดังนั้นแม้ผมจะไม่ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีส่วนสนับสนุนให้ทุนศึกษาเล่าเรียนตลอดมา (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20