ทุกวันนี้คนไทยมี “สตรอเบอร์รี่” โครงการหลวงให้เห็นให้ทานจนเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งต่างไปจากอดีตที่แค่รับรู้ผ่านสื่อให้เห็นเป็นภาพสวยงาม และลิ้มรสหวานที่เป็นเพียงแยมทาขนมปัง
สำหรับผู้เขียนแม้เป็นเด็กหัวเมืองแต่ก็เป็นเมืองเชียงใหม่ แม้จะเป็นเด็กดอยแต่ก็เป็นดอยสุเทพ กลับมีโอกาสรับรู้เรื่องราวของสตรอเบอร์รี่มาช้านาน โดยเฉพาะมีโอกาสสัมผัสสตรอเบอร์รี่สดๆ ที่เด็ดจากต้นเลยทีเดียว เพียงแต่สตรอเบอร์รี่ขนาดไม่ใหญ่ สีสตรอเบอร์รี่ไม่แดงสดเหมือนในภาพ รสสตรอเบอร์รี่ก็ไม่หวานเหมือนที่เคยทาน
เป็นเพราะว่าเชียงใหม่ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิจะลดต่ำลง จนผู้เขียนในวัยเยาว์เกิดอาการไม่อยากอาบน้ำตอนกลางคืน ด้วยสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ก็แอบดีใจเพราะจะได้ใส่เสื้อแจ็คเกต หรือสเวตเตอร์ลวดลายแปลกทับชุดนักเรียนสีขาวน้ำเงินที่น่าเบื่อ
แต่สำหรับเกษตรกรหัวก้าวหน้าจะรู้ว่าอากาศหนาวเย็นนั้นเหมาะกับการออกดอกออกผลของพืชผักผลไม้หลายชนิด จึงมีคนนำพันธุ์สตรอเบอร์รี่มาปลูกและจำหน่ายในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์เป็นประจำทุกปี ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มเป็นคนแรก แต่รู้ว่ามีคนปลูกหลายรายเลยทีเดียว
ตอนที่แม่ซื้อที่ดินย่านห้วยแก้วเตรียมไว้สำหรับปลูกบ้านนั้นยังขาดทุนทรัพย์ในการก่อสร้างบ้าน เลยกลายเป็นสวนผลไม้สำหรับพวกเรา ชีวิตที่เคยอยู่แต่ในห้องแถวแคบๆ ริมตลาดไม่มีบริเวณให้วิ่งเล่น พื้นที่ดินแค่สองไร่ก็กลายเป็นสวนกว้างใหญ่สำหรับพวกเรา นอกจากมะม่วงและลำไยที่เจ้าของเดิมปลูกไว้โตพอออกดอกผลแล้ว ยังมีต้นชมพู่ ขนุน ส้มโออย่างละต้นสองต้น เมื่อรวมกับต้นละมุด มะเฟือง น้อยหน่าที่ปลูกเพิ่ม ก็กลายเป็นสวนผลไม้ในฝันเลยทีเดียว
จำได้ว่าก่อนจะเข้าหน้าหนาวคนสวนจะขอสตางค์แม่ไปซื้อกล้าสตรอเบอร์รี่มาปลูกบนแปลงที่ดินที่เตรียมไว้ พอถึงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็นได้ที่ สตรอเบอร์รี่ก็ออกดอกผลให้เป็นเรื่องตื่นเต้น ให้ลิ้มรสเปรี้ยวฝาด (เพราะรีบเด็ดทั้งที่ยังไม่โตเต็มที่)
แต่ถ้าอยากลิ้มรสสตรอเบอร์รี่สีแดงรสไม่เปรี้ยวก็ต้องไปหาซื้อตามไร่ที่มีอยู่ทั่วไปบนถนนห้วยแก้ว ซอยวัดเจ็ดยอดและซอยวัดช่างเคี่ยน
กิจกรรมปลูกสตรอเบอร์รี่น่าจะหมดสิ้นไปในเวลาต่อมา ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะคนสวนคนเก่าของเราลาจากไป หรือเป็นเพราะแม่ปลูกบ้านเลยเหลือที่ดินไม่มากพอ หรือเป็นเพราะสภาพภูมิอากาศแปรเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับไร่สตรอเบอร์รี่ย่านห้วยแก้วก็หายไป เพราะมีอาคารบ้านเรือนรวมทั้งคอนโดฯ มาแทนที่ ทุกวันนี้สตรอเบอร์รี่ที่วางขายล้วนมาจากไร่ที่อยู่ไกลออกไป ยิ่งถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงยิ่งไกลไปถึงยอดดอย
เมื่อหลายปีก่อนยังพอเห็นว่ามีแม่ค้าอาศัยพื้นที่ริมถนนคันคลองชลประทานปรับดิน ขึ้นแปลงปลูกสตรอเบอร์รี่ให้นักท่องเที่ยวได้เห็นได้สัมผัสต้นสตรอเบอร์รี่ ทั้งๆ ที่สตรอเบอร์รี่ที่วางขายนั้นมาจากไร่ที่อยู่ไกลออกไป (ฮา)
ผู้เขียน : ปริญญา ตรีน้อยใส
นามปากกาของ ศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย
เจ้าของหนังสือด้านสถาปัตยกรรม ถูกยกย่องจาก Dictionnaire de L'Architecture du XXe Siecle, Editions Hazan, Paris 1996
เป็น 1 ใน 3 สถาปนิกไทยประจำคริสต์ศตวรรษที่ 20